ที่มา ข่าวสดออนไลน์
อดีต รมว.คมนาคม "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ชี้แผนพัฒนารถไฟฟ้ารางคู่มาตรฐานกว่า 7 แสนล้าน อาจใช้ไม่คุ้มค่า เพราะความเร็วแค่ 160 ก.ม. อาจเน้นใช้ขนสินค้าจากจีนผ่านไทยเท่านั้น ไม่มีผลกับการกระตุ้นศก. ต่างจากไฮสปีดเทรนที่เน้นขนคนน่าจะมีผลต่อศก.มากกว่า
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม กล่าวในงานเสวนาเรื่องแผนที่โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของไทยปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ที่มติชนอคาเดมี ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนที่จะพัฒนาระบบรางและเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ต่อ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อปรับระบบขนส่งจากทางถนนมาสู่ระบบรางเพื่อ ลดต้นทุนขนส่งคนและสินค้า
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน 1.43 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 ก.ม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 ก.ม. วงเงิน 348,890 ล้านบาทนั้น ต้องวางเป้าหมายให้ชัดว่าจะสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
"ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าจะเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่าการสร้างรถไฟฟ้า ความเร็วสูงหรือ ไฮสปีดเทรน ที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 250 ก.ม./ชั่วโมงอย่างไร จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหากผู้นำยุคนี้จะคิดต่าง และจะเน้นสร้างรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วมาก ขณะที่รัฐบาลก่อนสร้างไฮสปีดเทรนเน้นขนส่งคนภายในประเทศ เพราะผมมองว่าไฮสปีดเทรนจะช่วยสร้างเมืองใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเกิดประโยชน์ต่อภาพรวม"
นายชัชชาติระบุว่า หากดูแนวเส้นทางที่กำลังจะสร้างขณะนี้จะเห็นว่าเน้นขนสินค้าจากจีนมายังไทย ผ่านออกไปต่างประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านมีรายได้แค่ค่าผ่านทางเท่านั้น จึงต้องคิดให้รอบคอบว่ารถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วแค่ 160 ก.ม./ชั่วโมง ช้าเกินไปหรือไม่ถ้าจะขนส่งคนแข่งขันกับเครื่องบินโลว์คอสต์
อดีต รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลระบุว่าในอนาคตสามารถจะอัพเกรดเป็นไฮสปีดเทรนได้นั้น มองว่าหากจะมีการอัพเกรดรางหรือระบบเทคนิคใหม่อีกครั้ง จะถือว่าเป็นการลงทุน 2 ครั้ง ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น รฟท. ควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการเดินรถ ส่วนงานบริหารรายได้จากสินทรัพย์ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามาทำแทน