ที่มา มติชนออนไลน์
สุรพศ ทวีศักดิ์ |
อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายที่เราจะได้เห็นพระรูปนี้ (หรือพระรูปอื่นๆ) ออกมาโปรโมทหรือแสดงความเห็นสนับสนุนความคิด หรือวาระทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ปรากฏการณ์เช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้เพียงมองว่าเป็นบุคลิกภาพหรือนิสัยส่วนตัว แต่นี่เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนผลผลิตของโครงสร้างอำนาจ การศึกษา วัฒนธรรมของสงฆ์ไทยที่ผูกติดกับรัฐ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐอย่างมีนัยสำคัญ
เคยมีปัญญาชนชาวพุทธนอกกระแสท่านหนึ่งพูดบ่อยๆว่า"พระเณรซึ่งเป็นลูกหลานของชนชั้นล่าง ต้องไม่ลืมกำพืดของตัวเอง ต้องเข้าใจทุกขสัจจะของสังคมว่าโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงทางสังคมการเมืองที่เป็นอยู่นี้กดขี่ มอมเมา เอาเปรียบคนชั้นล่างอย่างไร ต้องอยู่ข้างคนชั้นล่าง ช่วยเหลือพวกเขาปลดแอกโครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงนั้น"
แต่โครงสร้างอำนาจของสถาบันสงฆ์ที่ผูกติดอยู่กับอำนาจรัฐและมีบทบาทหลักค้ำจุนระบบอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ไม่อาจสร้างการศึกษา วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่นำไปสู่การตื่นรู้ทุกขสัจจะของสังคมในความหมายดังกล่าวได้ การศึกษาสงฆ์ดูเหมือนจะเป็นเพียงทางผ่านแปรสถานะลูกหลานชนชั้นล่างให้เป็นคนชั้นกลาง ที่ซึมซับและเป็นผู้พิทักษ์อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเท่านั้น
จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นเสมอๆว่า พระชื่อดังหรือพระเซเลบของชนชั้นกลางทั้งหลาย มักเป็นพระที่พูดกับคนชั้นล่างไม่รู้เรื่อง และไม่รู้เรื่องความทุกข์ของชาวบ้านอย่างถ่องแท้ ทั้งๆ ที่ "กำพืด" ของตัวเองเป็นคนชั้นล่าง แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นพระที่มีฐานันดรศักดิ์ หรือมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของชนชั้นกลาง คำสอนทั้งหลายที่พรั่งพรูออกมาผ่านการเทศนา ตัวหนังสือ ล้วนเป็นคำสอนที่ตอบสนองค่านิยม อุดมการณ์การณ์อนุรักษ์นิยมของชนชั้นปกครอง และวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลางในเมือง
แม้แต่มุมมองต่อความทุกข์ของชาวบ้าน ก็เป็นมุมมองจากสายตาของผู้ที่อยู่สูงกว่าทางสติปัญญาและคุณธรรม เป็นมุมมองพิพากษาชาวบ้านแบบมุมมองของชนชั้นกลาง ดังที่ ว.วิชิรเมธีพูดอยู่เสมอๆ ว่า ประชาธิปไตยอำนาจเป็นของประชาชน แต่ประชาชนมีศักยภาพจะใช้อำนาจนั้นหรือยัง ชาวบ้านไม่รู้ประชาธิปไตย รับเงินซื้อเสียง เป็นเครื่องมือนักการเมืองโกง ปัญหามาจากการโกงของนักการเมือง ฯลฯ
มุมมองเช่นนี้อาจมีส่วนถูก แต่ ว.วชิรเมธีไม่เคยตั้งคำถามตรงๆ ว่า ที่ชาวบ้านเลือกพรรคการเมืองนั้น พวกเขาเลือกเพราะเงิน หรือเพราะเห็นว่านโยบายพรรคการเมืองที่เขาเลือกเป็นประโยชน์ต่อชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องการโกงก็ไม่เคยถามว่า เราต้องกำจัดการโกงภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หากการโกงของนักการเมืองคือการ "ทำผิดกฎหมาย" การแก้ปัญหาการโกงของนักการเมืองด้วยการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" ถือเป็นการ "โกงหลักการ" ยิ่งกว่า ผิดกฎหมายยิ่งกว่า (มีอัตราโทษร้ายแรงยิ่งกว่า) ใช่หรือไม่
การเอาแต่สอนให้ชาวบ้านรู้จักใช้สติ ใช้ปัญญามองปัญหาตามเป็นจริง แต่ผู้สอนกลับไม่ใช้สติ ใช้ปัญญามองให้เห็นความเป็นจริงของปัญหาว่า ที่ประชาธิปไตยไม่ก้าวหน้า มีปัญหาคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง ความรุนแรงมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานนั้นเกิดจากอะไร มันคือความผิดของนักการเมืองแต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญขจัดนักการเมืองออกไปคือผู้มีความชอบธรรม เป็นคนดีมีคุณธรรม ทำถูกต้อง ไม่ผิดเสมอเช่นนั้นหรือ ในฐานะนักเทศน์ชื่อดัง ว.วชิรเมธีกล้ารับรองหรือไม่ว่านี่ "ไม่ผิดจริยธรรม"
แต่ ว.วชิรเมธีคงไม่คิดว่า การแก้ปัญหานักการเมืองทำผิดกฎหมายด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเป็นการกระทำที่ "ผิดจริยธรรม" ไม่เช่นนั้นคงไม่ออกมาสนับสนุนค่านิยมหลัก 12 ประการ ของผู้มีอำนาจอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของ ว.วชิรเมธีก็คือ "อำนาจคือความถูกต้อง"
ดังเห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ ว.วชิรเมธีเรียกว่า "เป็นจริยธรรมที่ทุกคนควรยึดถือประพฤติปฏิบัติ" ในค่านิยมหลัก 12 ประการนั้น ก็คือชุดความดีแบบอิงอยู่กับ หรือสนับสนุนอุดมการณ์อำนาจนิยม น่าเศร้าที่ ว.วชิรเมธีบอกว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ "ธรรมะ" แล้วค่านิยมหลัก 12 ประการก็ "คล้ายคลึงกัน"
แต่ที่จริง ธรรมะที่พุทธะสอนนั้น ไม่ได้อิงอยู่กับอุดมการณ์อำนาจนิยม สาระสำคัญของพุทธธรรมคือการสลายระบบชนชั้น (การใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นเกิดขึ้นภายหลัง) ในสังคมพุทธนั้นยืนยันเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบอย่างชัดเจน แม้แต่พุทธะก็ไม่ได้อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ เพราะหลักกาลามสูตรนั้นให้ความสำคัญสูงสุดกับเสรีภาพในการแสวงหาความจริง จนที่สุดแล้วปัจเจกบุคคลไม่จำเป็นต้องฝากความเชื่อไว้กับใครหรือระบบความเชื่อใดๆ แต่ต้องเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ เชื่อสติปัญญาของตนเองในการพิสูจน์ตัดสินความจริงและความถูกต้อง ดังนั้นโดยฐานคิดนี้เสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบทุกเรื่องจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้
ดังนั้น ค่านิยมหลัก 12 ประการ ที่อิงอยู่กับและ/หรือสนับสนุนอุดมการณ์อำนาจนิยม จึงไม่มีทางจะคล้ายคลึง "พุทธธรรม" ที่มุ่งสลายระบบชนชั้น ไม่อิงและสนับสนุนอำนาจนิยม แต่ยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการแสวงหาความจริง โดยหลักการพื้นฐานของอุดมการณ์อำนาจนิยมนั้นคือการไม่ให้เสรีภาพในการแสวงหาหรือพูดความจริงได้ตลอดสาย แต่โดยหลักการพื้นฐานของพุทธธรรมนั้น ต้องทำความจริงให้ปรากฏหรือให้กระจ่างชัดเจนตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นความจริงของทุกข์ส่วนตัวหรือทุกข์ทางสังคมการเมืองก็ตาม ไม่เช่นนั้นการ "ตื่นรู้" ของปัจเจกบุคคลหรือ การตื่นรู้ทางสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้
ในสมัยพุทธกาล บทบาทของพุทธะชัดเจนว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิด "แสงสว่าง" หรือการตื่นรู้ (enlightenment) ทั้งในเรื่องทุกข์ของปัจเจกบุคคล นั่นคือการช่วยเหลือให้ปัจเจกบุคคลเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและโลก และเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตนเองทางจิตวิญญาณ และการวิพากษ์ระบบความเชื่อ อำนาจทางศาสนา ประเพณีและอื่นๆ ที่ครอบงำให้ผู้คนสยบต่อระบบชนชั้นชั้นและความงมงายต่างๆ พุทธะจึงไม่ได้แสดงความเห็นสนับสนุนผู้มีอำนาจ แต่สอนคุณธรรมสำหรับกำกับตรวจสอบความชอบธรรมของผู้มีอำนาจ (ไม่ใช่สอนเพื่อสรรเสริญหรือเชียร์ผู้มีอำนาจอย่างเกินจริง)
แต่น่าเศร้าที่บทบาทของพระเซเลบปัจจุบัน กลับสวนทางกับพุทธะโดยสิ้นเชิง ทว่าพระเซเลบเหล่านั้นกลับอ้างพุทธะสนับสนุนความเห็นของตัวเองตลอดเวลา ราวกับว่าพุทธะเห็นด้วยกับตัวเอง คงลืมคำว่า "หิริโอปตัปปะ" กันแล้วกระมัง คนที่มีหิริโอตตัปปะต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการสำคัญของพุทธธรรมที่มุ่งให้เกิดแสงสว่างทางปัญญา ปลดปล่อยมนุษย์จากการครอบงำทั้งจากอิทธิพลครอบงำภายในและภายนอก จึงไม่มีทางที่ผู้มีหิริโอตตัปปจะจะสนับสนุนอำนาจครอบงำภายในหรือภายนอก มีแต่เขาจะส่งเสริมอิสรภาพด้านในและเสรีภาพในวิถีชีวิตทางสังคมการเมืองให้ปรากฏเป็นจริง
พูดอย่างถึงที่สุดการที่พระทำตัวเป็น "กระบอกเสียง" ของค่านิยมหรืออุดมการณ์อำนาจนิยมใดๆ ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยปริยาย ย่อมเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการพื้นฐานของพุทธธรรมเสียเอง และที่น่าเศร้าอย่างยิ่งคือเป็นการไม่เคารพกำพืดของตัวเองที่เป็นลูกหลานคนชั้นล่างผู้ถูกกดขี่ดังกล่าวแล้ว
ooo
มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน
กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม
รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
มีศีลธรรม รักษาความสัตย์
เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย
มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ
รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ
คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง