วันจันทร์, สิงหาคม 25, 2557

ว่าด้วยผู้ถูกข้อหา การล่าแม่มด ๑๑๒ สวะในแอล.เอ. และพีร์ 'แพทย์ดีเด่น'

ผังภาพจากคู่มือการเยี่ยมผู้ถูกคุมขัง โดย ILaw
อันเนื่องมาแต่การณ์ ปรากฏว่า

ตลอดสามเดือนของการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะทหารในนาม คสช. (หรือชื่อเต็มให้ดูดีว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) จนกระทั่งบัดนี้ผู้เป็นหัวหน้ากำลังเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ (ให้ดูดี) ด้วยวิธีการให้ สนช. (หรือชื่อเต็มให้ดูดีด้วยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่คณะรัฐประหารเลือกสรรมาเอง ๑๙๗ คน ประทับตรายางท่วมท้น ๑๙๑ เสียง มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ ผบ.ทบ. (หรือชื่อเต็มให้ดูดีอีกว่า ผู้บัญชาการทหารบก –ไม่ต้องมีแห่งชาติ) ซึ่งมีนาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูดีนั้น

ยังมีผู้ที่ถูกข้อหาต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเรียกไปรายงานตัวโดยคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นข้อหาขัดคำสั่ง คสช. หรือข้อหาตามความผิดในประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ร่วมกันเป็นชุดกล่าวหาร้ายแรงเพื่อกักกันคุมขังผู้ถูกกล่าวหาไว้นานๆ จน (เป็นผลตรงข้าม) ทำให้น้อยรายนักอยากจะหลาบจำ
 
แต่พวกเขาก็อาจรับสารภาพ และประกาศตนเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างเซื่องเซา แม้นว่าก่อนหน้านี้จะไม่ได้มีความเห็น และ/หรือ ปณิธานในทางใดต่อสถาบันฯ มาบ้างเลย เนื่องจากคิดว่าถึงอย่างไรก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับทัศนคติส่วนตน ที่ คสช. ได้ควบคุมตัวหลายต่อหลายคนเอาไปปรับ

หากดูจากข้อมูลของ 'ไอลอว์' เรื่อง รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ จะพบว่ามีผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกทางการเมืองอยู่ ๕๐ กว่าราย ข้อหาอื่น เช่น ฝ่าฝืนคำสั่งคณะทหาร มีอาวุธปืน และส้องสุมอาวุธร้ายแรงอีกเกือบ ๕๐ ราย

กับพลาดไม่ได้ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ อันเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุด ทำให้เกือบร้อยทั้งร้อยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือให้ประกันตัว ที่เป็นคดีอยู่ขณะนี้ ๑๕ ราย (ดูได้จากรายงานล่าสุดของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไทเรื่อง การเพิ่มจำนวนอย่างเงียบเชียบของคดี ๑๑๒ หลังรัฐประหาร) ซึ่งหลายคนเป็นนักศึกษา และคนรักประชาธิปไตยปากกล้า ที่กระทำกิจกรรมอย่างแข็งขัน ไม่ได้ถึงขั้น ล้มเจ้า ตามนัยยะแห่งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

ข้อหาร้ายแรงดังกล่าวทำให้เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ ไปจนถึงอาการ ตาสว่าง และ สุดทนอย่างหนักหน่วงมาแล้วในหมู่ประชาชนชาวไทยบางภาคส่วน บางเหล่า และกำลังจะลามต่อไปถึงอาการถอดใจ กูไม่กลัวมึงจนได้ 

หากว่ายังมีนักกิจกรรมและนักศึกษาถูกข่มเหงก้าวร้าวดังกรณี น.ส.กริชสุดา คุณะแสน หรือราย นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ นักศึกษามหาวิทยาลัยสารคามที่ถูกเรียกรายงานตัวเป็นครั้งที่สาม อยู่ไม่ขาดสาย

ไม่เพียงเท่านั้นช่วงที่ผ่านมาหลายเดือนนับแต่เกิดการชุมนุมนกหวีด และ กปปส. (ซึ่งมีชื่อเต็มให้ดูดีอีกแหละว่า...กรรมการอะไรเกี่ยวกับประชาธิปไตย ยืดยาวจำไม่ได้) ปิดถนน ปิดสะพาน ปิดหน้า ปิดตา ปิดจิตสำนึก ก่อความเดือดร้อน สร้างวุ่นวายต่อการสัญจรปกติและชีวิตประจำวันของชาวเมืองหลวง ซ้ำยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการคุมเข้มของกลุ่มชายเหี้ยมติดอาวุธปกป้องม็อบ ผู้อ้างฐานันดร การ์ดอันยิ่งใหญ่ สามารถตะคอกใส่หรือใช้กำลังบวกอาวุธกับใครก็ตามซึ่งพวกเขาห้ามไม่ฟังได้

พฤติกรรมครอบงำ ข่มขู่ และทำร้ายต่อฝ่ายที่มีความคิดอ่านก้าวหน้าทางประชาธิปไตยโดยพวกทำตัวเป็นผู้รักสถาบันฯ ถึงขั้นคลั่งไคล้นี้มีการส่งออกไปต่างประเทศด้วย

คนจำนวนหนึ่งพยายามต้านกระแสตาสว่างและสุดทนในหมู่คนไทยที่อยู่อาศัยตามประเทศที่ก้าวหน้าทางประชาธิปไตยในยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา ทำตัวเป็นมือไม้ของทหารพระราชา เที่ยวล่าแม่มดจนเกิดเหตุคุกคามน.ส. ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ โรส ขึ้นในกรุงลอนดอน รวมทั้งหนุ่มไทยที่โพสต์เฟชบุ๊คก้าวร้าวถึงขนาดจะเข่นฆ่า เลยถูกตำรวจอังกฤษเรียกตัวไปดำเนินคดี

พฤติกรรมก่อกวนและก้าวร้าวต่อใครก็ตามที่ไม่แสดงกิริยาหมอบราบคาบแก้ว หรือบังอาจวิจารณ์สถาบันฯ เกิดขึ้นในชุมชนไทยต่างแดนอื่นๆ ด้วยไม่เว้น ในออสเตรเลียการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งมี ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นผู้ประสาน ถูกกลั่นแกล้งและขัดขวางอย่างหนักจนเกือบจะต้องยกเลิก

ในอเมริกา มีหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในท้องที่แคลิฟอร์เนียภาคใต้หลายฉบับที่ทำตัวเป็น ปฏิกิริยา ต่อแนวคิดทางการเมืองอย่าง เสื้อแดงชนิดกัดติดมาตลอด

ช่วงหลังจากการรัฐประหาร ๒๒ พฤษภา ๕๗ เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ท้องที่ฉบับหนึ่งแสดงตนโดดเด่นในทางล่าแม่มด และปลุกผีผังล้มเจ้าอย่างหักโหมมากขึ้น ทั้งที่กล่าวกันว่าผู้เป็นนายทุนเบื้องหลังหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเป็นเส้นสายของคนใหญ่คนโตนักเลือกตั้งในพรรคไทยรักไทยเดิมที่ต่อเนื่องมาถึงพรรคเพื่อไทย แต่นั่นเป็นประเด็นที่ข้อเขียนนี้จะไม่ครอบคลุมถึง

ขอบข่ายที่ตั้งใจเข้าไปแตะ ณ ที่นี้อยู่ที่การกระทำแบบโฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda ที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสารมวลชนของชุมชนไทยในลอส แองเจลีส ที่มุ่งแต่จะมอมเมาคนไทยต่างแดนส่วนหนึ่งให้อยู่ในครอบของกะลาอันมีสัญญลักษณ์ ไทยๆเป็นเครื่องหมายการค้า แทนที่จะยึดวิชาชีพอันควรเป็นปากเสียงของเสรีภาพแห่งการแสดงออก และต่อสู้เพื่อสิทธิความเสมอภาคของบุคคล

จนมีอดีตนักหนังสือพิมพ์คุณภาพของชุมชนไทยในท้องที่คนหนึ่งอดรนทนไม่ไหว ระบายออกมาทางเฟชบุ๊ค ดังนี้


“พาดหัวหนังสือพิมพ์สยามทาวน์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล่มเล็กๆ ในแอลเอวันนี้ มันฟ้องวุฒิภาวะคนทำอย่างมาก มันสะท้อนจิตใต้สำนึกคนเขียนพาดหัว ในทุกมิติความคิด ทั้งด้านตื้น หนา สามารถอ่านทะลุยาวไกลไปถึงที่มาทางปัญญาและอุดมการณ์คนที่เรียกว่าเป็นบก.

แย่ยิ่งกว่านั้นคือกงสุลใหญ่แอล.เอ. คนที่ใช้คำเรียกคนที่คิดต่างว่า "สวะ" นั้นอาการหนักยิ่งกว่าอีก
คำพูด ภาษาบ้านๆต่ำๆที่เรียกประชาชนว่า "สวะ" นี่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้ยินจากปากของคนในวงการ diplomatic core

แย่และเสื่อมเสียมากๆ ครับคุณกงสุล
..............
กงสุลคนนี้ไม่ควรมาประจำโพสต์ในสหรัฐฯ แต่ควรเป็นเกาหลีเหนือจะเหมาะกว่า !

ข้อคิดสำหรับคนไทย : หนังสือพิมพ์เล่มนี้ คุณไม่สมควรจะเสียเวลาอ่าน เพราะ นสพ.นี้ไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณสื่อที่ดี เพื่อสร้างเสริมสังคมและมวลชนให้พัฒนาดีขึ้น แต่เป็นสื่อที่มีขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำรอกอีโก้ส่วนบุคคลบนพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรค่าแม้แต่จะใช้เช็ดกระจกรถให้มัวหมอง

ต้องถังขยะอย่างเดียว!

อีกกรณีที่ปรากฏในแวดวงสื่อสารไร้พรมแดน หรืออินเตอร์เน็ต แต่ต้นตอมาจากคนไทยในท้องที่ซึ่งออกอาการในลักษณะมุ่งร้าย ใช้ถ้อยความคุกคามต่อชีวิตผู้เขียนบทความในวารสารคริมสันของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เมื่อปรากฏเนื้อหาบทความชิ้นนั้นคัดค้านโครงการจัดตั้งแผนกไทยคดีศึกษาขึ้นที่นั่น

ข้อเขียนจากอดีตนักหนังสือพิมพ์เก่าแก่อีกคนหนึ่งในชุมชนไทย แพร่หลายเกร่ออยู่ตามเว็บบอร์ดเสื้อแดง ระบุถึง “การสร้างเครือข่ายของอำมาตย์และเผด็จการ มิได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศก็ไม่เว้น”


“เรื่องอื้อฉาวกระฉ่อนโลกเริ่มต้นจาก 2 ศิษย์เก่าคนดัง (ไทย) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ สุรเกียรติ์ เสถียรไทยร่วมกันรณรงค์หาทุนจำนวน 6 ล้านดอลล่าร์บริจาคให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้การสนับสนุนให้ "Thai Studies" เป็นหลักสูตรการศึกษาถาวรในมหาวิทยาลัย Harvard เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
 
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยเออออไปกลับการอวยสถาบันกษัตริย์ไทยมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ไม่ใช่ปีนี้

ไม่ใช่หลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เนื่องจาก...ศิษย์เก่าคนดังทั้งสองไม่เคยอีนังขังขอบกับการทำรัฐประหาร ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับประชาชนที่ถูกย่ำยี่ ไม่แยแสกับการไล่ล่า จับกุมคุมขังและละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน นักการเมืองและนักวิชาการโดยคณะรัฐประหารและเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ทั้งสุรินทร์ พิศสุวรรณและสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ต่างให้ความร่วมมือกับ กปปส.ที่ป่วนเมืองนานกว่า 6 เดือน เปิดทางสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร และยังสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับประยุทธิ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐประหารตลอดมาอย่างต่อเนื่อง

Professor Michael Herzfeld หนึ่งในบรรดาคณาจารย์ที่ประสาทวิชา ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกหน้าตั้งข้อสังเกตุและชี้ประเด็นการจะให้มหาวิทยาลัยคง "Thai Studies" เป็นหลักสูตรถาวรว่า หลักสูตรการเรียนการสอนของฮาร์วาดไม่ควรผูกพันกับผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้บริจาค

ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้อีเมลรายละเอียดจุดยืนของตนให้กับ Ilya Garger ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของชมรมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดในประเทศไทย ในขณะที่ได้รับอีเมล์และเขียนบทความ Troubles with Thai Studies ไปลงที่เว็บของ Harvard Crimson อิเลีย การ์เกอร์ ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย”

อดีตนักหนังสือพิมพ์คุณภาพชาวไทยอีกท่านนี้กล่าวว่าตัวละครอันสำคัญของเรื่อง Harvard Crimson คนหนึ่งก็คือ

3. พีร์ เหมะรัชตะ แพทย์บัณฑิตดีเด่นแห่งชาติปี 2549 นักเรียนทุนในมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมชนก ปัจจุบันเป็นนักวิจัยจุลินทรีย์ชีวภาพควบคู่กับการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ UCLA มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของโลก ตั้งอยู่ที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา

พีร์ เหมะรัชตะจบบัณฑิตแพทย์จากวิทยาลัยเบเลอร์เมื่อปี 2548 ได้รับการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำหน่วยแบคทีเรีย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีเดียวกันด้วยวัยเพียง 24 ปี ได้รับคัดเลือกเป็น "แพทย์ดีเด่นแห่งชาติ" เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบธ อดุลยเดชวิกรม "บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน"

อนิจจา....สาระของบทความนี้พวกคลั่งเจ้ารับไม่ได้ Troubles with Thai Studies จึงถูกถอดออกจากเว็บ Harvard Crimson เป็นการชั่วคราวหลังจากที่ พีร์ เหมะรัชตะ ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ทำนอง "ขู่ฆ่า"ผู้เขียนบทความนี้ว่า

“I swear that if I saw this MF on the street, I’d elbow his middle meningeal artery and leave him dead from epidural hematoma,”

MF เป็นอักษรย่อคำสบถภาษาอังกฤษ มีความหมายไม่สุภาพเกี่ยวกับ แม่ๆ คำขู่ฆ่าของพีร์จึงมีความหมายคร่าวๆ ดังนี้

"กูขอสาบาน ถ้ากูเจอไอ้แม่ง...นี่บนถนน กูจะเอาศอกสับกลางกระบาลมัน ให้แม่งมันตายข้างถนนจากเลือดตกในสมอง"

เขาอาจใช้ภาษาแพทย์ในการโพสต์ข้อความให้ดูโก้เก๋ Meningeal Artery แปลว่า "หลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงเยื่อหุ้มสมอง" Epidural Hematoma หมายถึงอาการ "เลือดคั่งในสมอง เลือดออกของเนื้อเยื่อในสมอง" แต่ในภาษากฏหมายการแสดงเจตนาทำให้ตายเช่นนั้น นับเป็นการก้าวร้าว ละเมิดต่อบุคคลอย่างรุนแรง

จากการเปิดเผยของ อิเลีย การ์เกอร์ การถอดบทความออกจากเวปมิได้เกิดจากข้อความในทวิตเตอร์ แต่เป็นเพราะตนยังอยู่ในประเทศไทย เกรงว่านอกจากจะมีอันตรายถึงชีวิตจากพวกคลั่งเจ้าแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการถูกข้อหา "หมิ่นเจ้า" อีกด้วย จึงจำเป็นต้องถอดบทความออกจากเว็บชั่วคราว หลังจากเดินทางออกจากประเทศไทยไปอยู่ฮ่องกงอย่างปลอดภัยแล้ว จึงอัพโหลดบทความขึ้นเว็บอีกครั้ง

Andrew MacGregor Marshall อดีตนักข่าว นักสู้จากสำนักข่าว Reuters ได้นำเอาบทความนี้ไปขยายต่อใน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น LA Weekly ทำให้เรื่อง Troubles with Thai Studies ฉาวกระฉ่อนโลกกว้างขวางขึ้นไปอีก

จาก LA Weekly ที่มีผู้อ่านนับแสนสู่สื่อทีวี เมื่อสำนักข่าว CBS รับไม้ต่อ เอาเรื่องฉาวของการวิ่งเต้นตั้งแผนกไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไปแพร่ทั้งเรื่องและภาพ ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 2 และช่อง 9 สู่ผู้ชมนับล้านคน เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2014 ที่ผ่านมา

ผู้ประกาศข่าวของ CBS บอกผู้ชมรายการว่าพยายามขอคอมเม้นต์จากพีร์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากบุคคลผู้นี้ได้ตัดขาดการสื่อสารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค หรือการติดต่อสื่อสารอย่างอื่น

อดีตนักหนังสือพิมพ์ท่านนี้ลงท้ายว่า “หลังปล่อยให้จิตใต้สำนึกฆาตกรปรากฎออกมา พีร์ เหมะรัชตะ จะอยู่ในสังคมอารยะเฉกเช่นสังคมของผู้รู้ในสถาบันการศึกษาได้อย่างไร UCLA ซึ่งมีประชากรใน campus หลายหมื่นคนคงไม่ต้องการมีพีร์อยู่ร่วมสถาบันเป็นแน่”

และคงเป็นการบังเอิญอย่างไม่ธรรมดาที่ปรากฏว่ามีจดหมายอีเล็คโทรนิคฉบับหนึ่งส่งถึงไทยอีนิวส์จากยุโรป โดยผู้ใช้นาม Lily Jenzen ก็ให้ข้อคิดเห็นในประเด็นเดียวกันว่า

“ดิฉันเห็นว่า ถึงเวลาที่เราต้องตั้งคำถามกันแล้วค่ะว่า คนที่จบการศึกษาระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศไทย เป็นอาจารย์ เป็นแพทย์ มีความรู้ดี ต้องทำงานทางด้านบริการสาธารณสุขรวมถึงการให้ความรู้ทางการแพทย์กับประชาชน และยังเคยได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นจากมูลนิธิอันทรงเกียรติ ทำไมจึงมีวุฒิภาวะ ความคิด และกระบวนการใช้เหตุผลที่ตื้นเขินมากขนาดนี้”

“หากนายพีร์หารู้ไม่ซึ่งผิดชอบชั่วดีและไม่สามารถตระหนักได้ถึงความรุนแรงจากการคุกคามข่มขู่ อันจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้อื่นได้แบบนี้ เราจะไว้วางใจนายพีร์หรือคนอย่างนายพีร์ ให้มาทำหน้าที่เป็นแพทย์ เป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทน การมีเมตตาและความรับผู้ชอบต่อชีวิตผู้อื่นอย่างมาก ให้กับประชาชน ให้กับสังคม ได้อย่างไร

ดิฉันขอเชิญชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายร่วมประนามการกระทำของนายพีร์อันส่อถึงความรุนแรงต่อสวัสดิภาพและชีวิตผู้อื่นด้วยค่ะ เพื่อนๆ สามารถร่วมประนามการกระทำของนายพีร์ได้ โดยการส่งจดหมายเปิดผนึกถึง มูลนิธิให้เพิกถอนรางวัลแพทย์ดีเด่น รวมถึงการเขียนจดหมายถึงผู้บริหารระดับภาควิชาและระดับคณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ผู้บริหารเหล่านี้ได้ทราบถึงพฤติกรรมดังกล่าวของนายพีร์ และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบจรรยาบรรณและจริยธรรมทางการแพทย์ของนายพีร์ด้วยค่ะ

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับท่านที่สันทัดและถนัดทางด้านภาษาอังกฤษ ดิฉันของเชิญชวนให้ท่านได้ส่งจดหมายเปิดผนึกอีกเช่นกัน ไปยังผู้บริหารหลักสูตรที่นายพีร์กำลังทำงานวิจัยในฐานะ clinical fellow ด้วยค่ะ แจ้งและเตือนให้ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงพฤติกรรมและความโน้มเอียงที่ส่อถึงการใช้ความรุนแรงในการคุกคามชีวิตผู้อื่นที่เห็นต่างของนายพีร์ ให้ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน และผู้เกี่ยวข้องกับนายพีร์ในประเทศสหรัฐฯ ได้ทราบ”