วันพุธ, สิงหาคม 20, 2557

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษบุคคล ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผู้เขียนบทละครเจ้าสาวหมาป่า

นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ผู้แสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า
ที่มา บีบีซีไทย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษบุคคลหลายคนในประเทศไทยภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวยิ่งขยายขีดจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ใหม่อีกอย่างน้อย 13 คดี และรื้อฟื้นคดีเก่า ๆ ที่ไม่เคยมีการตั้งข้อหาขึ้นมาดำเนินดำเนินคดีใหม่

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 14 และ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการจับกุมคุมขังนักศึกษาสองคนที่แสดงละครที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และก่อนหน้านั้นก็มีการตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 คนอื่น ๆ รวมทั้งกรณีของนายพฤทธ์นรินทร์ ธนบริบูรณ์สุข ที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการโพสข้อความบนเฟสบุ้ก

นายพฤทธ์นรินทร์ ถูกตัดสินเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ให้จำคุก 15 ปี ซึ่งเป็นโทษที่ลดลงกึ่งหนึ่งเพราะเขารับสารภาพ คดีของนายพฤทธ์นรินทร์นี้ตัดสินภายในเวลาไม่ถึงสองเดือนหลังมีการตั้งข้อหามื่อวันที่ 16 มิถุนายน แม้ว่าการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้จะค้างคามาเป็นเวลานานกว่าสองปี

นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายยุทธศักดิ์ กังวานวงศ์สกุล คนขับแท็กซี่ที่ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามความผิดในมาตรา 112 จากการที่เขาสนทนากับผู้โดยสาร

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติบอกว่าเป็นห่วงว่าจะมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมอีกหลายคดีและบทลงโทษจะยิ่งหนักขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว นางราวินา ซามดาซานี ข้าหลวงใหญ่ฯ ได้แสดงการสนับสนุนให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากเป็นห่วงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และก่อนหน้านั้นในปี 2554 ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก ได้เคยเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีความคลุมเครือและมีบทลงโทษสูงสุดให้จำคุกเป็นเวลายาวนาน ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดด้านเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือที่ไทยได้ให้สัตยาบันไว้

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ย้ำข้อเรียกร้องให้ คสช. ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองฯ การข่มขู่ว่าจะใช้มาตรา 112 ยิ่งส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นและยังเสี่ยงที่จะเป็นการควบคุมการวิเคราะห์ถกเถียงในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

บีบีซีไทยพยายามติดต่อขอความเห็นจากทีมโฆษก คสช. แต่ได้รับแจ้งว่าติดภารกิจจึงยังไม่ได้รับความเห็น

อนึ่ง นักศึกษาสองคนที่ถูกจับกุมคือนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม วัย 23 ปี และนางสาวภรณ์ทิพย์ มั่นคง อายุ 23 ด้วยข้อหากระทำความผิดตาม มาตรา 112 จากการจัดแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานายปติวัฒน์ว่าแสดงละครซึ่งมีลักษณะเป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนางสาวภรณ์ทิพย์ ถูกแจ้งข้อหากำกับและเขียนบทละครเจ้าสาวหมาป่า นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับผู้ร่วมแสดงอีก 2 คน
ooo

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...



บีบีซีไทย

วันนี้ (18 สค.) คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชนในไทยประกอบด้วย ฮิวเมินไรต์วอทช์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงข้อมูลจากทีมงานโฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย ในกรณีการควบคุมตัว น.ส.กริชสุดา คุณะแสน ที่ขณะนี้อาศัยและกำลังทำเรื่องขอลี้ภัยในต่างประเทศ

ผู้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าทางกองทัพยืนยันย้ำว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการควบคุมตัว น.ส.กริชสุดา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเจ็ดวันแรกของการควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก และช่วงหลังจากนั้นซึ่งกองทัพอ้างว่า น.ส.กริชสุดา เขียนเอกสารแสดงความสมัครใจว่าต้องการอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ ด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัย นอกจากกรณีของ น.ส.กริชสุดาแล้ว กองทัพยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ที่ถูกกองทัพเรียกตัวมาทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสามหน่วยที่รับฟังคำชี้แจงในวันนี้ ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและกองทัพทราบว่า ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การออกมารับรองว่าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่กองทัพต้องทำให้กระจ่างมีอยู่สองประเด็น คือหนึ่ง ข้อกล่าวหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กองทัพดำเนินการด้วยการควบคุมตัวบุคคลไปโดยพละการไม่แจ้งให้ญาติหรือผู้อื่นทราบหรือที่เรียกว่าควบคุมตัวแบบปิดลับและรอจนมีการร้องเรียนเพื่อขอทราบความเป็นมาเป็นไปของผู้ถูกควบคุมตัว กองทัพจึงเปิดเผยให้ทราบ

ประเด็นที่สองคือเรื่องของกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากกองทัพยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ก็ควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น และนำหลักฐานต่าง ๆ มายืนยัน

“ในกรณีของคุณกริชสุดานั้น หากกองทัพมีหลักฐานเช่นภาพถ่าย วิดีโอ หรือเอกสารที่ น.ส.กริชสุดาเขียนว่าต้องการอยู่ต่อ ก็ควรเอามาเปิดเผยให้เป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ หากทำแบบนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กองทัพมากกว่ามาตอบโต้ไปมาว่าไม่ละเมิด” องค์กรสิทธิ์เห็นว่ายังมีผู้ถูกคุมตัวในลักษณะของ น.ส.กริชสุดา และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาอีกหลายร้อยคน หากคนเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวจากกองทัพแล้ว เหตุใดไม่มีการนำรายชื่อออกมาเปิดเผย และให้รายละเอียดว่าคนเหล่านี้ถูกควบคุมตัวไว้กี่วัน

“เค้าอ้างว่าต้องคุมตัวโดยปิดลับเพราะเป็นเหตุจำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน หากเปิดเผยสถานที่อาจมีการชุมนุมกดดันเจ้าหน้าที่ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ลำบาก แต่องค์กรสิทธิ์ทุกหน่วยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การไม่แจ้งให้ญาติรู้จะทำให้ยิ่งร้อนใจและเป็นเหตุผลให้ก่อการชุมนุมมากกว่า การพูดแบบนี้แสดงให้เห็นชุดความคิดของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมองแค่ความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่และอ้างว่าเข้าใจเรื่องสิทธิ์ แต่จริง ๆ ไม่ใช่”

ทั้งนี้ ผู้แทนทางกองทัพรับปากจะนำเรื่องนี้หารือกับผู้บังคับบัญชาและประสานกลับมายังคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ ต่อไป

อนึ่ง บีบีซีไทย ได้โทรศัพท์ไปขอความเห็นจาก พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แต่ได้รับแจ้งว่าติดภารกิจไม่สามารถพูดคุยได้
ooo
ใครในเรือนจำ: การเพิ่มจำนวนอย่างเงียบเชียบของคดี 112 หลังรัฐประหาร


ทีมข่าวการเมือง ประชาไท

คดีความผิดในมาตรา 112 หรือที่เรียกกันติดปากว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นและเป็นที่รับรู้ในสังคมอยู่พอสมควร นับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเหลือง-แดง และการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา โทษจำคุกที่หนักหน่วงและการไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง

ในยุคหลังที่บทบาทของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียขยายตัวก็มักมีการใช้มาตรานี้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องสงสัยจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก

ช่วงปี 2555-56 ก่อนหน้าจะมีการรัฐประหาร อัตราการผู้ต้องขังรายใหม่ในคดีนี้ในกรุงเทพฯ เริ่มมีแนวโน้มลดลง ขณะที่จำนวนมากได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังถูกคุมขังมานาน 1-3 ปี ส่งผลให้ ณ วันก่อนการรัฐประการ ปรากฏผู้ต้องขังในเรือนจำเหลืออยู่ 6 ราย คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เอกชัย, เคนจิ, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ หรือ เจ๊แดง โคราช, และ คธา (รายหลังถูกแจ้งข้อหาเพียง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารรอบล่าสุด ผู้ต้องขังในคดี 112 ในจำเพิ่มขึ้นรวมแล้วเป็น 20 ราย (เท่าที่ทราบ) ในจำนวนนี้เป็นหญิง 3 ราย เป็นนักศึกษา 3 ราย

ในที่นี้จะนำเสนอเฉพาะกรณีที่เกิดหลังรัฐประหารเท่านั้น ทั้งรายที่ถูกฝากขังหรือถูกพิพากษาให้คุมขังในเรือนจำ และขออนุญาตปกปิดนามสกุลเพื่อลดผลกระทบด้านสังคมที่อาจเกิดกับครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา

รายละเอียดมีดังต่อไปนี้

1.ภรณ์ทิพย์ หรือ กอล์ฟ

วันที่ถูกจับ : 15 ส.ค.2557 (ปัจจบุันฝากขัง)
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

กอล์ฟ หรือที่หลายคนเรียกว่า กอล์ฟ เด็กปีศาจ อายุ 25 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดพิษณุโลก แม่ของเธอทำไร่มันสำปะหลัง

เธอถูกส่งตัวเข้าเรือนจำก่อนหน้าวันเกิดของเธอ 1 วัน เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวที่สนามบินหาดใหญ่ระหว่างกำลังจะเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่าหมายจับออกมาตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2557 โดยไม่มีหมายเรียก ตำรวจตั้งข้อหาว่าเธอมีส่วนเกี่ยวพันกับละครเวทีเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า ละครที่หลายคนมองว่าเป็นละครตลกเสียดสีสังคม การเมือง จัดแสดงเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2556 (เวอร์ชั่นสั้น) และ 13 ต.ค.2556 ในงานรำลึก 14 ตุลาฯ ที่หอประชุม มธ.

ก่อนหน้าที่หมายจับจะออก เพื่อนๆ ในกลุ่มประกายไฟถูกเรียกรายงานตัวโดยคำสั่ง คสช. หลายคน รายงานข่าวแจ้งว่าทุกคนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับละครเรื่องนี้เนื่องจากนักแสดงบางส่วนนั้นมาจากกลุ่มประกายไฟการละคร

ทั้งนี้กลุ่มประกายไฟการละครเป็นกลุ่มละครที่แยกออกมาต่างหากจากกลุ่มประกายไฟซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาการเมือง ประกายไฟการละครก่อตั้งในราวปี 2553 และปิดตัวในอีก 2 ปีถัดมาเนื่องจากปัญหาภายในของสมาชิกที่ต้องการศึกษาทฤษฎีการเมืองเพิ่มเติม จุดมุ่งหมายของกลุ่มประกายไฟการละครคือทำละครให้เข้าถึงชนชั้นรากหญ้าและใช้ละครเป็นสื่อทางวัฒนธรรมในการสื่อสารเรื่องสังคมการเมือง

อย่างไรก็ตาม กอล์ฟถือได้ว่าเป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 เธอทำกิจกรรมเรื่อยมากจนแม้กระทั่งหลังจบการศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลังการจับกุมที่สนามบินหาดใหญ่ กลางดึกคืนนั้นตำรวจได้ส่งตัวเธอมาควบคุมยังห้องขัง สน.ชนะสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ(แสดงละคร) ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่มาคอยให้กำลังใจหลายสิบคน เธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา วันรุ่งขึ้นตำรวจได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผลัดแรกต่อศาลอาญา ขณะที่เพื่อนฝูงของเธอนำเงิน 500,000 บาทขอประกันตัว ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน เธอถูกนำไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางจนปัจจุบัน

2.ปติวัฒน์ หรือ แบงก์

วันถูกจับกุม : 14 ต.ค.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปติวัฒน์ หรือ แบงก์ อายุ 23 ปี กำลังเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาเลือกเอกดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ทั้งที่คะแนนของเขาในการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้นสามารถเรียนคณะสาธารณสุขได้ สิ่งที่เขาสันทัดมากคือการแสดงหมอลำ จนกระทั่งเขาได้ฉายาว่า ‘บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณลือชา’ เขามีฝีไม้ลายมือระดับรับจ้างเจ้าภาพในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเองได้ ผลงานของเขามีมากมายดังที่ปรากฏในยูทูปและได้รับรางวัลระดับชาติก็ไม่น้อย นอกจากนี้เขายังสนใจประเด็นสังคมการเมืองทำกิจกรรมชมนุมซุ้มเกี่ยวดาวซึ่งสนใจประเด็นเชิงสังคม ต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคอีสาน (สนนอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวในประเด็นการศึกษา สิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนประเด็นสังคมการเมือง

ก่อนหน้าวันที่ถูกจับกุม 1 วัน เจ้าหน้าที่ทหารติดต่อพบเขาที่คณะเพื่อถ่ายรูปเป็นหลักฐาน วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อนัดทานอาหารเพื่อเซ็นข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อปติวัฒน์เดินทางไปพร้อมรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงตัวเข้าจับกุม ก่อนพาไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น แบงก์ให้การรับว่าเป็นผู้ร่วมแสดงจริง ต่อมาเจ้าหน้าที่นำตัวเขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขังต่อศาลอาญา ทนายได้ยื่นประกันตัวด้วยเงินสด 300,000 บาทแต่ศาลไม่อนุญาต ปัจจุบันเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนมหานคร โดยยังมีความกังวลว่าอาจจะพ้นสภาพนักศึกษาเนื่องจากยังไม่ได้ลงทะเบียนในเทอมใหม่

เหตุแห่งการจับกุมสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 ผู้ต้องหาได้ร่วมแสดงละครเวทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่าเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ‘เจ้าสาวหมาป่า’ กลายเป็นประเด็นใหญ่จากรณีที่วันที่ 30 ต.ค.2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน เพื่อแจกจ่ายคลิปดังกล่าวและนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่สมาชิกอยู่อาศัย

3.อัครเดช หรือ เค

วันถูกจับกุม : 18 มิ.ย.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : มาตรา 112 และ มาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ข้อมูลเพิ่มเติม

อัครเดช อายุ 24 ปี เขาเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคใต้ แต่ ‘ซิ่ว’ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับพ่อของเขา

เขาถูกจับกุมตัวที่หอพักย่านหนองจอก สืบเนื่องจากต้นเดือนมีนาคม 2557 มีผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเขาที่ สน.สุทธิสาร จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 1 ข้อความ ซึ่งเขาระบุว่าเป็นการโพสต์ข้อความโต้ตอบเรื่องการเมืองกับคนในเฟซบุ๊ค ต่อมาหลังรัฐประหาร ในวันที่ 18 มิ.ย.2557 ตำรวจได้เข้าจับกุมเขาที่ห้องพักและยึดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร พร้อมนำตัวเขามาควบคุมตัวที่สน.2 วัน เขารับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อดังกล่าวจริง จากนั้นเขาถูกฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพฯ พ่อของเขานำเงิน 200,000 บาทยื่นขอประกันตัว แต่ศาลปฏิเสธ

ทนายจำเลยยื่นประกันอีกรวมเป็น 4 ครั้งแต่ศาลสั่งยกคำร้อง จากนั้นทนายอุทธรณ์คำสั่งโดยให้เหตุผลการเปิดเทอมและโอกาสการเรียนในปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา แต่ศาลยังคงปฏิเสธการให้ประกันตัว ปัจจุบันเขายังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

4. อภิชาติ

วันถูกจับกุม : 23 พ.ค.2557 (ปัจจุบันฝากขัง แต่ได้ประกัน)
ข้อหา : ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก จากนั้นถูกแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

อภิชาติอายุ 25 ปี พื้นเพเป็นคนภาคใต้ กำลังจะสำเร็จหลักสูตรบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และกำลังจะเข้าเรียนปริญญาโทอีกใบในคณะนิติศาสตร์ มธ.ขณะถูกจับกุมเขาเพิ่งทำงานที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ไม่กี่เดือน

หลังรัฐประหาร 1 วัน อภิชาติเป็นคนหนึ่งที่ออกมาร่วมประท้วงที่หน้าหอศิลปวัฒนาธรรมกรุงเทพฯ และถูกทหารจับกุมตัวไปเนื่องจากชูป้ายแสดงข้อความว่า “ไม่เอาอำนาจเถื่อน” เขาถูกทหารควบคุมตัวพร้อมคนอื่นอีก รวม 4 คน หนึ่งในนั้นคือ ธนาพล อิ๋วสกุล บก.วารสารฟ้าเดียวกัน เจ้าหน้าที่นำตัวทั้งหมดไปที่กองพลทหารม้าที่ 2 รอ. (สนามเป้า) 1 คืน ก่อนจะนำตัวไปขังที่กองบังคับการปราบปราบ หลังครบกำหนด 7 วัน อภิชาติถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยอภิชาติให้การภาคเสธในชั้นตำรวจตามคำแนะนำของอาจารย์ท่านหนึ่ง เขาระบุด้วยว่าในทัศนะของเขาข้อความดังกล่าวไม่มีอะไรละเมิด เป็นแต่เพียงการตั้งคำถามและการแสดงความคิดเห็น และตำรวจน่าจะนำข้อความดังกล่าวมาจากคู่ขัดแย้งของเขาซึ่งเป็นคนดังในฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเคยนำข้อความเดียวกันนั้นเองมาข่มขู่กลั่นแกล้งเขาในโลกออนไลน์

อภิชาติอยู่ในเรือนจำนาน 26 วัน โดยทนายได้ยื่นขอประกันตัวรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกศาลไม่อนุญาตประกันระบุว่าตำแหน่งของรองอธิการบดีที่ใช้ค้ำประกันนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ครั้งที่สองศาลไม่อนุญาตเพราะเป็นคดีร้ายแรง เกรงจะหลบหนี จนครั้งสุดท้ายทนายจำเลยใช้วิธีคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน และนำพยานต่างๆ รวมถึงอาจารย์จากหลักสูตรบัณฑิตอาสาขึ้นสืบ ทำให้ศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ และสั่งปล่อยตัวเขาในวันที่ 24 มิ.ย.57

5. สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หรือ หนูหริ่ง

วันถูกจับกุม : 5 มิ.ย.2557 (ปัจจบุันฝากขัง แต่ได้ประกัน)
ข้อหา : ฝ่าฝืนไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2557 ต่อมาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

สมบัติเป็น ‘แกนนอน’ ของคนเสื้อแดงมายานาน เป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรมแถวหน้าที่มักสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด เขาไม่ยอมรายงานตัวตามคำสั่งคสช. ทั้งยังออกเคมเปญ ‘catch me if you can’ ท้าทายผู้มีอำนาจ กระทั่งเจ้าหน้าที่ตามจับกุมตัวเขาได้ที่จังหวัดชลบุรีในเวลาต่อมา สมบัติพร้อมคนสนิทอีก 4 คนถูกควบคุมตัวโดยทหารโดยไม่ทราบชะตากรรมรวม 7 วัน ต่อมาคนใกล้ชิดของเขาถูกปล่อยตัวทั้งหมด ส่วนเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. และปลุกปั่นยั่วยุให้เกิดความแตกแยก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ไม่กี่วัน ตำรวจจากสภ.ร้อยเอ็ด ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กับเขาเพิ่มอีกหนึ่งข้อหา ต้นเรื่องผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคือ iPadหรือ วิพุธ สุขประเสริฐ มือหนึ่งในการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายราย ซึ่งในกรณีนี้เขาได้แจ้งความสมบัติไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557

สมบัติระบุว่าภาพที่ถูกนำไปฟ้องนั้นเป็นภาพตัดต่อล้อเลียนกลุ่ม กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ที่แชร์มาจากที่อื่นอีกทีหนึ่ง โดยตัดหน้าของคนประชาธิปัตย์แทนหน้าของคณะรัฐประหาร คมช. โดยสุเทพและภรรยาอยู่ด้านหลัง

ต่อมาวันที่ 1 ก.ค. เขาถูกส่งตัวไปสอบปากคำที่ สภ.ขอนก่น ภรรยาได้ใช้เงินสด 300,000 บาทยื่นขอประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนและได้รับอนุญาตให้ประกันตัว แต่มีเงื่อนไข ห้ามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ละเมิดต่อกฎหมาย และห้ามออกนอกประเทศ

6. สิรภพ หรือรุ่งศิลา

วันถูกจับกุม : 25 พ.ค.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : ฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 ต่อมาถูกแจ้งข้อหา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)

ข้อมูลเพิ่มเติม

รุ่งศิลา อายุ 51 มีชื่ออยู่ตามคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. แต่เขาไม่ต้องการเข้ารายงานตัวและเตรียมหาทางเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ระหว่างทางเขาถูกจับกุมตัวที่จ.กาฬสินธุ์โดยกลุ่มทหารอาวุธครบมือ เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่ค่ายทหารในจ.กาฬสินธุ์และอุดรธานีอย่างละ 1 วัน จากนั้นจึงนำตัวมายังค่ายทหารในกรุงเทพฯ คุมขังต่อจนครบ 7 วัน จากนั้นจึงถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.

วันที่ 2 ก.ค.รุ่งศิลาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร และศาลอนุญาตให้ประกันตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากเขาถูกนำตัวมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อทำการปล่อยตัว ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มารออายัติตัวต่อเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อ และทำให้เขาต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำต่อจนปัจจุบัน

รุ่งศิลา มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เขาเป็นคนที่รักการอ่านและสนใจการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร จากปากคำของลูกสาวที่บอกว่าพ่ออ่านหนังสือเยอะมากและที่บ้านเต็มไปด้วยหนังสือหลากประเภท รุ่งศิลาเป็นที่รู้จักในโลกไซเบอร์เนื่องจากเป็นผู้แอคทีฟทางการเมืองตามเว็บบอร์ดต่างๆ ตั้งแต่สมัยหลังรัฐประหารปี 2549 จากนั้นเขาสร้างบล็อกของตนเองเพื่อเผยแพร่บทกวีการเมือง บทความทางการเมืองรวมถึงบทความทางทหาร โดยรุ่งศิลาระบุว่าทั้งบทกวีและความรู้ทางการทหารนั้นเป็นสิ่งที่เขาสนใจศึกษาด้วยตนเอง นอกจากนี้เขายังยืนยันว่าเขาไม่เคยไปร่วมการชุมนุมใดๆ เลยและเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่มีเครือข่าย อาศัยเพียงเผยแพร่สิ่งที่ตนเองคิดทางอินเทอร์เน็ต

รุ่งศิลามีลูกชายหญิง 3 คน เรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย และเพิ่งจบการศึกษา ลูกทั้งสามคนอยู่บ้านที่จังหวัดสงขลาก่อนที่เขาจะโดนจับกุมและทหารได้เข้าตรวจค้นบ้าน จากนั้นคุมตัวทั้ง 3 คน พร้อมหลานวัยไม่ถึง 1 ขวบในช่วงบ่ายวันหนึ่งเพื่อนำตัวไปสอบข้อเท็จจริงที่ค่ายทหารในจังหวัดสงขลาจนกระทั่งราวเที่ยงคืน จึงปล่อยตัวทั้งสี่คนออกมา

7. ทะเนช

วันถูกจับกุม : 2 ก.ค.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : มาตรา 112 และ มาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทะเนชอายุ 45 ปี พื้นเพเป็นชาวเพชรบูรณ์ มีอาชีพขายอาหารเสริมพืชผลทางเกษตรทางอินเตอร์เน็ต พี่สาวของเขาเล่าว่าชีวิตในวัยเด็กของครอบครัวลำบากมาก พี่สาวเป็นผู้ดูแลเขาเป็นหลัก เหตุที่ชื่อของเขาเขียนแปลกแทนที่จะเป็น ‘ธเนศ’ เช่นคนอื่นก็เพราะพี่สาวซึ่งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นผู้สอนการสะกดชื่อให้เขา แต่สะกดผิด เขาเคยมาทำงานที่กรุงเทพฯ หลายปี และต่อมาต้องกลับไปอยู่ใกล้กับพี่สาวที่เพชรบูรณ์เนื่องจากความป่วยไข้ด้วยโรคประจำตัวและอาการหลอน

เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าควบคุมตัวที่บ้านพักในวันที่ 2 ก.ค.57 และถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหารจังหวัดเพชรบูรณ์จนครบ 7 วัน จากนั้นถูกนำตัวส่งให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) ในวันที่ 8 ก.ค. ขณะที่หมายจับลงวันที่ 7 ก.ค. จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนโดยกล่าวหาว่าเขาได้ส่งอีเมล์ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นให้กับผู้ต้องหาที่อาศัยอยู่ประเทศสเปนชื่อ Emillio Estaban ผู้ใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste เผยแพร่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขาได้เข้าถึงอีเมล์ของ Estaban และพบการส่งอีเมล์ของทะเนชในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2553

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ขอฝากขังต่อศาล ญาติยังไม่มีเงินประกันตัว ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

8 เฉลียว

วันถูกจับกุม : รายงานตัวตามคำสั่ง คสช.วันที่ 3 มิ.ย.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : เข้ารายงานตัวกับคสช. จากนั้นโดนแจ้งข้อหามาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

เฉลียว อายุ 50 กว่าปี มีอาชีพเป็นช่างตัดกางเกง เขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านธรรมดาที่มีรายชื่อปรากฏในคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 44/2557 ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย. เขาถูกคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร 7 วัน ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกสอบสวนหลายครั้ง ครั้งละหลายชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่ถูกเรียกรายงานตัวในคำสั่งฉบับเดียวกันนั้นถูกสอบ 1-2 ครั้ง และเขายังถูกนำ เข้าเครื่องจับเท็จหลายครั้งด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นบ้านซึ่งเป็นห้องแถวที่ทำเป็นร้านตัดเย็บผ้าย่านสะพานซังฮี้ ยึดคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร

ทหารกล่าวหาว่าเขาอาจจะเป็น “ดีเจบรรพต” แต่เขายืนกรานปฏิเสธ

ต่อมาวันที่ 9 มิ.ย.2557 หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารครบ 7 วัน นายเฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อตั้งข้อหามาตรา 112 จากการอัพโหลดคลิปของดีเจบรรพตไว้ใน 4Share ซึ่งเฉลียวให้การรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้านได้ในคืนนั้น โดยนัดหมายให้ไปพบกันที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขอฝากขังและยื่นขอประกันตัว

วันรุ่งขึ้นเฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญา ญาติยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นการเผยแพร่ต่อข้อมูล เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เฉลียวพื้นเพเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด เขาบวชเรียนอยู่นานปี และเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงวัยรุ่นโดยอาศัยอยู่กับพี่เขยๆ พร้อมๆ กับฝึกวิชาชีพเย็บผ้าจากพี่เขย จากนั้นมาเขาก็ยึดอาชีพนี้หาเลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด เขาเล่าว่า ร้านของเขาเป็นร้านเล็กๆ มีแรงงานไม่กี่คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติๆ กัน จะรับออเดอร์มาจากร้านใหญ่ ตัดเฉพาะกางเกงของทหารและตำรวจ โดยครั้งหนึ่งในใบออเดอร์ซึ่งจะมีชื่อลูกค้าปรากฏอยู่ด้วยนั้น มีชื่อของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ด้วย

ส่วนความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์นั้น ภรรยาของเขาเล่าว่า เฉลียวสนใจศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยการซื้อหนังสือมาอ่าน หัดประกอบคอม หัดใช้งานอินเตอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยที่ไม่ได้ไปชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นคนเก็บตัวและมีภาระงานประจำ

9. คฑาวุธ

วันถูกจับกุม : รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. วันที่ 3 มิ.ย.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่า ในอดีตคฑาวุธเคยเป็นนายทหารพระธรรมนูญ และเคยเป็นทนายความ ในช่วงการเมืองเข้มข้นเขาเป็นดีเจจัดรายการทางอินเทอร์เน็ต ชื่อรายการว่า “คฑาวุธ นายแน่มาก” เป็นแนววิเคราะห์การเมือง ความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ที่จัดทำโดยทีมงานของเขาเอง แต่รายการนี้ก็มีผู้ดาวน์โหลดและนำมาเผยแพร่ต่อในยูทูปจำนวนมาก

เขามีรายชื่ออยู่ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44/2547 จากนั้นเขาเข้ารายงานตัวตามประกาศในวันที่ 3 มิ.ย.2557

วันที่ 9 มิ.ย.2557 หลังถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน คฑาวุธถูกนำมาควบคุมตัวต่อที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา

วันที่ 10 มิ.ย.2557 คฑาวุธถูกนำตัวไปที่ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อพบพนักงานสอบสวน ในบ่ายวันเดียวกันคฑาวุธถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยมีเพื่อนและทีมงานช่วยกันระดมเงินจำนวน 200,000 บาทเพื่อยื่นขอประกันตัว และพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัว แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากข้อหาที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทำกระทบต่อจิตใจประชาชนจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งเป็นการดำเนินการผ่านเว็บไซต์โดยมีกลุ่มดำเนินการอยู่ที่สปป.ลาว ซึ่งผู้ต้องหามีธุรกิจก่อสร้างอยู่ ดังนั้นหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจหลบหนีออกนอกประเทศ ยากแก่การติดตามตัว เขาจึงถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่จนปัจจุบัน แม้ญาติจะยื่นประกันอีก 2 ครั้งแต่ศาลก็ยังคงปฏิเสธการให้ประกันตัว

10. ยุทธศักดิ์

วันถูกจับกุม : 2 มิ.ย.2557 (ปัจจุบันพิพากษาแล้ว)
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่า ยุทธศักดิ์มีอาชีพขับแท็กซี่ เมื่อราวเดือนมกราคม 2557 ระหว่างขับรถแท็กซี่เขาได้พูดเรื่องการเมืองกับผู้โดยสารคนหนึ่ง ปรากฎว่าความเห็นทางการเมืองของทั้งสองไม่ตรงกัน และผู้โดยสารเห็นว่าคำพูดของผู้ต้องหาเข้าข่ายหมิ่นฯ ผู้โดยสารจึงใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงการสนทนาและนำไฟล์บันทึกเสียงไปแจ้งความกับตำรวจ

2 มิ.ย.2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังไปบริเวณอู่เช่ารถแท็กซี่ย่านห้วยขวางและทำการจับกุมตามหมายจับจากนั้นนำตัวไปฝากขังที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไทเพื่อทำการสอบสวน วันรุ่งขึ้นผู้ต้องหาประสานให้ญาติมาเยี่ยมเพื่อนนำยาฉีดอินซูลินมาให้เพราะเขาป่วยเป็นโรคเบาหวาน วันถัดมาเจ้าหน้าที่นำตัวเขาไปฝากขังยังศาลอาญารัชดา ญาติใช้เงินสดยื่นขอประกันตัว 200,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาต

เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนกระทั่งวันที่ 8 ส.ค.57 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การ ผู้ต้องหาเดินทางไปที่ศาลโดยไม่มีใครทราบ ไม่มีทนายอยู่ร่วมกระบวนการ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน

11.ทอม ดันดี

วันถูกจับกุม : 9 ก.ค.2557 (ปัจจุบันฝากขัง)
ข้อหา : ไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช.และมาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

ก่อนจะถูกจับกุมในคดี 112 ทอม ดันดี เคยถูกจับกุมตัวมาแล้วครั้งหนึ่งด้วยข้อหาไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2557 ทั้งที่ภรรยาของเขาได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าทอมจะเข้ารายงานตัวในช่วงเย็น แต่ระหว่างที่เขากลับจากการส่งหน่อไม้ทหารก็ได้จับกุมตัวเขาและนำไปไว้ที่ค่าทหาร 4 วัน จากนั้นเขาถูกนำตัวมาที่กองปราบฯ ก่อนนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่กี่วันก่อนได้รับการประกันตัว เขากลับไปทำสวนไผ่และสวนมะนาวที่บ้านจังหวัดเพชรบุรีเช่นเดิม

ต่อมาวันที่ 9 ก.ค.ที่บ้านจังหวัดเพชรบุรี กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (บก.ปอท.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวมประมาณ 20 นายทั้งในและนอกเครื่องแบบ บุกจับกุมตัวทอมที่บ้านพัก โดยแจ้งข้อกล่าวหาตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

วันรุ่งขึ้นเขาถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลทหาร ทนายแจ้งว่าทอมถูกแจ้งข้อหาจากกรณีการปราศรัยของเขาในเวทีเล็กๆ ที่เกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ย. 56 ก่อนที่จะประกาศกฎอัยการศึก ต่อมาได้มีผู้นำคลิปการปราศรัยไปเผยแพร่ลงเว็บไซต์ยูทูปในเดือน มิ.ย. 57 (หลังรัฐประหาร) ทีมทนายเห็นว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ เพราะการโพสต์คลิปปราศรัยลงเว็บไซต์ยูทูปไม่ได้เป็นการกระทำของนายทอม เนื่องจากนายทอมไม่มีทักษะในการเล่นคอมพิวเตอร์ จึงมองว่าอาจเป็นการกลั่นแกล้งของบุคคลเพื่อนำตัวขึ้นศาลทหาร อย่างไรก็ตาม ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวและทอมถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนปัจจุบัน

12.หนุ่มอุบล

วันถูกจับกุม : 16 มี.ค.55 (ปัจจุบันพิพากษาแล้ว)
ข้อหา : มาตรา 112 มาตรา 14(3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ข้อมูลเพิ่มเติม

คดีนี้จำเลยไม่เปิดเผยชื่อ อายุ 27 ปี เป็นนักดนตรี เขาถูกพิพากษาให้จำคุก 13 ปี 24 เดือน (ทนายแจ้งว่าได้ยินศาลอ่านคำพิพากษาว่า 22 เดือนแต่ที่ถูกต้องคือ 24 เดือน) นี่คือโทษที่ลดแล้วกึ่งหนึ่ง จากโทษทั้งหมด 30 ปี

คดีของเขาเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบในจังหวัดอุบลราชธานี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นฯ 9 ข้อความในเฟซบุ๊คในระหว่างปี 2554-2555 หลังจากตำรวจบุกจับกุมตัวเขาที่บ้านในวันที่ 16 มี.ค.2555 เขาก็ได้รับการประกันตัวมาโดยตลอดในชั้นสอบสวน โดยญาติใช้หลักทรัพย์มูล่า 500,000 บาท จนกระทั่งถึงวันครบกำหนดฝากขังก็ไม่มีการส่งฟ้องศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัว

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลและคดีเสรีภาพฯ ระบุว่า จากคำบอกเล่าของมารดา ระบุว่า ในระหว่างที่เขาได้รับการประกันตัวจากการฝากขัง ตำรวจมีจดหมายและโทรศัพท์มาเรียกให้จำเลยไปพบและถูกส่งตัวไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการทางจิต และก่อนพิพากษาก็มีการไต่สวนแพทย์ผู้รักษาซึ่งแพทย์ระบุว่าจำเลยมีอาการทางจิต อาการไม่รุนแรงแต่หากไม่รักษาต่อเนื่องอาการอาจรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามแพทย์มีความเห็นว่าจำเลยยังสามารถต่อสู้คดีได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในระหว่างกระทำความผิดเมื่อสองปีก่อนจำเลยมีอาการทางจิตหรือไม่

หลังการรัฐประหาร ปรากฏชื่อของเขาในคำสั่งเรียกรายงานตัวด้วย เขาเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. 2557 และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลาสามคืน หลังการควบคุมตัว วันที่ 16 มิ.ย.อัยการสั่งฟ้องคดีนี้ทันที เขาถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีเรื่อยมาจนกระทั่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2557 นับเป็นคดีที่มีโทษหนักที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา

13. จ่าประสิทธิ์

วันถูกจับกุม : 29 พ.ค.57 (ปัจจุบันชั้นพิจารณาคดี)
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม

จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ เป็นอดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ นปช. จังหวัดสมุทรสาคร

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพฯ ระบุว่า วันที่ 7 พ.ค.57 จ่าประสิทธิ์ขึ้นปราศรัยที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว และ กอ.รมน. ได้แจ้งความข้อหา 112 ไว้ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.57

ภายหลังการรัฐประหารได้มีคำสั่งเรียกให้จ่าประสิทธิ์เข้ารายงานตัว และจ่าประสิทธิ์ได้เข้ารายงานตัวต่อทหารในวันที่ 24 พ.ค.จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ค. ทหารได้คุมตัวจ่าประสิทธิ์มาที่สน.โชคชัย เพื่อส่งตัวผู้ต้องหาตามหมายจับที่ 912/2557 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ในข้อหาตามมาตรา 112

บ่ายวันที่ 29 พ.ค.2557 จ่าประสิทธิ์ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญา ภายหลังนางนิภาพร เมืองมูล ภรรยาของจ่าประสิทธิ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์เงินสดหกแสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาต จ่าประสิทธิ์จึงถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ปัจจุบันคดีครบฝากขัง ศาลนัดพร้อม สอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานไปเมื่อเร็วๆ นี้

14. ชายไม่ทราบชื่อ

วันถูกจับกุม : 25 พ.ค.2557 ถูกทหารบุกจับกุมที่บ้านพัก
ข้อหา : มาตรา 112

ข้อมูลเพิ่มเติม : -