ระดับล่างสุด คือ ผู้นำที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันคน มียุทธวิธีและกลยุทธ์ที่แหลมคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ลูกทีมมั่นใจว่าจะพาทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่เก่งฉลาด”
ระดับที่สอง คือ ผู้นำเก่งฉลาดบวกด้วยประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีบทเรียนที่เคยผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว และแน่นอนต้องผ่านการทำงานอย่างโชกโชนเพียงพอ เขาจะได้เข้าใจถึงกาลเทศะ เรื่องอะไรควรหนัก เรื่องอะไรควรเบา สิ่งใดควรรีบเร่ง สิ่งใดควรรั้งรอไว้ก่อน ประเด็นใดสำคัญมาก ประเด็นใดสำคัญน้อยกว่า ผู้นำระดับนี้ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่า จะไม่บุ่มบ่าม หุนหันพลันแล่น แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น นุ่มนวล ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เท่ากับนำพาให้ทีมงานลดความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับภาวะวิกฤตโดยไม่จำเป็น ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีปัญญา”
ระดับที่สาม คือ ผู้นำที่มีปัญญาแล้วยังสามารถเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ มีความเมตตากรุณาที่ใครเดือดร้อนก็จะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ ลูกทีมที่อยู่ร่วมกันก็จะมีความรู้สึกผูกพัน อบอุ่น มั่นคง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีน้ำใจ”
ระดับที่สี่ คือ ผู้นำที่เปิดทางสนับสนุนให้ลูกทีมได้ประสบความสำเร็จ บุคคลเหล่านั้นจะเคารพนับถือผู้นำชนิดนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะความสำเร็จในชีวิตของพวกเขาได้มาจากผู้นำคนนี้ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่สร้างคน”
ระดับสูงสุด คือผู้นำที่ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ แต่เป็นคนที่มีความสามารถนำพาองค์กรทั้งทีมฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยไม่มีกิเลสตัณหาคิดจะเป็นใหญ่ จึงทำทุกอย่างโดยไม่มีอะไรแอบแฝง โปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกด้าน ดังเช่นปูชนียบุคคลที่ผมเคยเขียนแนะนำประวัติไว้สองท่าน คือ จอร์จ วอชิงตัน(1) และ เติ้งเสียวผิง(2) ซึ่งล้วนถูกเคี่ยวเข็ญให้ขึ้นมาเป็นใหญ่เพื่อกอบกู้วิกฤต และ พยายามขอถอนตัวจากไปอย่างเงียบๆ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่”
กล่าวโดยสรุป ผู้นำระดับที่หนึ่งและสองใช้ “สมอง” เป็นหลัก แต่ผู้นำที่สูงขึ้นมาในระดับสาม สี่ ห้า ต้องใช้ “หัวใจ” เป็นกลไกขับเคลื่อน แนวทางการบริหารจัดการแบบตะวันออกเน้นเรื่องหัวใจมากกว่าสมอง โดยยึดปรัชญาที่ว่า “คนจะใหญ่ หัวใจต้องใหญ่พอ”
ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นมากที่สุดหรือเก่งที่สุด แต่มีภาวะจิตใจอยู่ในระดับสาม สี่ ห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมักจะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรใหญ่ๆ ที่บริหารตามแนวทางตะวันออก เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึดผลประโยชน์เป็นใหญ่ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องความสุขของทุกคนในทีมเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
เชิงอรรถ
1 จอร์จ วอชิงตัน เข้าร่วมขบวนการปลดแอกจากอังกฤษจนสำเร็จ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว ก็กลับบ้านไปทำไร่ตามเดิม จนถูกพรรคพวกที่เคารพนับถือไปรบเร้าเชื้อเชิญให้กลับมาเป็นประธานาธิบดี และเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย พรรคพวกก็จะแก้กฎหมายเป็นกรณีพิเศษให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แต่ จอร์จ วอชิงตัน กล่าวขอบคุณพร้อมตอบปฏิเสธไป
2 เติ้งเสี่ยวผิง เป็นผู้กอบกู้วิกฤตของสังคมจีนที่ถูกย่ำยีจนย่อยยับด้วยน้ำมือของ “แก๊งสี่คน” จนประเทศอ่อนแอและอับอายไปทั่วโลก เติ้งเสี่ยวผิงผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านด้วยนโยบาย “สี่ทันสมัย” จนประเทศจีนเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมาผงาดอยู่ในแถวหน้าของมหาอำนาจโลก แต่หลังจากปี ค.ศ.1978 จนถึง ค.ศ. 1997 ที่เขาเสียชีวิต เติ้งเสี่ยวผิงไม่ยอมรับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือประธานพรรค ยอมรับเพียงแค่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารเพียงตำแหน่งเดียว และหลังจากเขาเสียชีวิตมาจนถึงปัจจุบันปี ค.ศ. 2013 ยังไม่ปรากฎว่า เติ้งเสี่ยวผิงและลูกหลานร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินซุกซ่อนไว้
...
ชื่อบทความเดิม...
ตอบ นศ. ปริญญาเอก"ฮาร์วาร์ด" ผู้นำ 5 ระดับ แบบตะวันออก เป็นอย่างไร ?
โดย…นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
มติชน ออนไลน์
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556