วันอาทิตย์, สิงหาคม 31, 2557

คลิปฉบับเต็ม เสวนาเปิดตัวหนังสือชุด “สมุดเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา”




ที่มา ASEAN Watch

การเสวนาวิชาการเปิดตัวหนังสือเรื่อง

“สมุดเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา”

จัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ วิชา อศ.210 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์

วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับ วิชา อศ.210 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการเปิดตัวหนังสือชุด “สมุดเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในกาารจัดพิมพ์ตามที่ ศ.(พิเศษ) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เลขานุการมูลนิธิฯ บอกก็คือเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาซึ่งตอนนี้ผันตัวเป็นอาเซียน และยกระดับความรับรู้ของคนไทยให้ข้ามพรมแดนให้ได้ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไป

หนังสือชุดนี้มี 15 เล่ม ประกอบด้วย หนังสืออาเซียนศึกษา,ประวัติศาสตร์ประเทศอินโดนีเซีย, กัมพูชา, บรูไน,มาเลเซีย, สิงคโปร์, ลาว, พม่า, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, ติมอร์ตะวันออก, ประวัติศาสตร์ไทย ที่เขียนโดย เดวิด เค. วัยอาจ และประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม- ดี.จี.อี.ฮอลล์

ในส่วนของการเสวนาเริ่มที่วิทยากรท่านแรกคือ ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยว่า เป็นวิชาที่น่าเบื่อที่สุด แต่วิชานี้มักจะถูกผู้นำทางการเมืองเอาไปอ้างเพื่อแสดงความห่วงใยประเทศ “คนที่อยากเป็นใหญ่เป็นโตต้องแสดงความห่วงใยประวัติศาสตร์ของชาติ” ทั้งได้ตั้งคำถามถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยว่ามีปัญหาอยู่ที่ “ตำรา” หรือ “คนสอน” หรือแม้แต่ “ผู้เรียน” โดยที่ผ่านมามักพยายามแก้หลักสูตรแต่ยังไม่ได้แก้คนที่คนสอนและคนเรียน ทั้งยังระบุว่าองค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ต้องทั้งชำแหละและชำระเพื่อจะไปอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านซึ่งทุกวันนี้ประวัติศาสตร์มักถูกนำไปใช้อ้างและไม่มีใครจริงใจกับมันนักหรืออาจถูกมองว่าเป็นวิชาท้ายแถวไม่เหมือนวิชาสายอื่นๆ

ทางด้านของ รศ.ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์มีความหมายและถูกให้ความสำคัญ แต่เมื่อมันถูกนำมาจัดระบบในประเทศำทย มันกลับถูกทำให้น่าเบื่อหน่ายอย่างน่าตระหนกตกใจ นอกจากนี้ ไทยกำลังยืนอยู่บนทางแพร่งที่สำคัญระหว่างประวัติศาสตร์ไทย กับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บนทางที่เป็นทางแพร่งนี้ เราต้องเปลี่ยนประวัติศาสตร์ภายใต้เงื่อนไข สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากที่เราคุ้นเคยกันอยู่ตลอดเวลาคือประวัติศาสตร์แนวชาตินิยม และการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในประเทศถูกเน้นให้เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าห่วง การปรับตำราประวัติศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติอาจจะล้ำเส้นไปถึงการที่ต้องมองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูหรือไม่

ขณะที่ ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” กล่าวว่า เรื่องชาตินิยมเป็นปัญหาคลาสสิคมากในอาเซียน ชาตินิยมนั้นต้องการศัตรู ตนเกรงว่าบรรยากาศเรื่องชาตินิยมจะแรงขึ้นจากนี้ไป และผู้มีอำนาจที่เติบโตมากับชาตินิยมนั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งชาตินิยมที่กำลังผลักดันกันอยู่ตอนนี้เป็นแบบเดิม ๆ และแยกตัว ซึ่งไม่สอดคล้องกับการรวมตัวของอาเซียน ในขณะที่ปัจจุบันอาเซียนกำลังเป็นกระแสที่สร้างความตื่นตัวอย่างมากในประเทศไทย ทำให้มีการเพิ่มงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่ทำเรื่องอาเซียนจาก 500 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 8,000 ล้านในปี 2555-2556 รวมถึงมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการเปิดอาเซียน โดยคิดว่าปัจจุบันอาเซียนไม่ติดต่อสัมพันธ์กัน ทั้งๆ ที่เรามีข้อตกลงมากมายเช่น เขตการค้าเสรีอาฟต้าเป็นต้น

ด้านอาจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม กล่าวถึงชาตินิยมในอาเซียนว่า ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะรัฐบาลพยายามรักษาความเป็นชาตินิยม ในขณะที่พยายามสร้างความเป็นภูมิภาค สองกระแสนี้ขัดแย้งกันอยู่ และปิดท้ายที่ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านมาก่อนเลย ในสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีการเปิดวิชาประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส อเมริกา และญี่ปุ่น เป็นวิชาเอก แต่ไม่เคยมีการเปิดวิชาเอกประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านในภูมิภาค

อ้างอิงเนื้อหาจาก BBC Thai และ มติชนออนไลน์
...

สมุดเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา : ฉบับเต็ม https://www.youtube.com/watch?v=65hdMjNAca8&list=PLTg78zFFSI7WkD3-iQ09H7_DtpwrwyHYe&index=8