วันพุธ, ธันวาคม 20, 2566

มองปรากฏการณ์ "สภาล่ม" ในการเมืองไทย เกิดบ่อยแค่ไหน กระทบประชาชนอย่างไร และฝ่ายไหนที่ทำให้สภาล่มได้


เกิดเหตุสภาล่มไปแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ในเดือน ก.ค. 66

มองปรากฏการณ์ "สภาล่ม" ในการเมืองไทย เกิดบ่อยแค่ไหน กระทบประชาชนอย่างไร

19 ธันวาคม 2023
บีบีซีไทย

คาดว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) วิปรัฐบาลจะมีการประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันปัญหาสภาล่ม หลังเกิดเหตุสภาล่มไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 5 เดือนกว่า นับตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 (ชุดปัจจุบัน) ในเดือน ก.ค.

ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน เกิดวิวาทะระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ว่าใครเป็นต้นเหตุทำสภาล่มครั้งล่าสุดในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย สส. เพื่อไทยใช้คำพูดของก้าวไกลในอดีตมาย้อนถามว่า หากสภาล่ม 1 ครั้ง ต้องสูญเงิน 8 ล้านบาท แล้วทำไมก้าวไกลปล่อยให้สภาล่ม ขณะที่พรรคก้าวไกลโต้กลับว่าพรรคร่วมรัฐบาลต่างหากที่มีเสียงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาและมีหน้าที่รักษาองค์ประชุมไม่ให้สภาล่ม

ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า บอกกับบีบีซีไทยว่า สภาล่มเป็นอุบายทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ แต่มันไม่ควรถูกใช้เป็นอุบายเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นที่ตั้ง เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุสภาล่ม

สภาล่มคืออะไร

สภาล่ม หมายถึง สถานการณ์ที่องค์ประชุมสภาไม่ครบกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มีตำแหน่งอยู่ ดังนั้น จากจำนวน สส. 500 คน จึงจำเป็นต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 250 คน และหากมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาระหว่าง สส. กับ สว. องค์ประชุมก็ต้องครบกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกันด้วยเช่นกัน

สภาล่มจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประธานสภาสั่งนับองค์ประชุม และเมื่อสมาชิกแสดงตนไม่ครบตามจำนวนข้างต้น ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาจะต้องสั่งปิดการประชุม เพราะไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ประธานสภาสามารถสั่งปิดการประชุมได้ หากเห็นว่าจำนวนสมาชิกสภาที่อยู่ในห้องประชุมนั้นบางตา หรือประเมินว่ามีจำนวนสมาชิกไม่ถึงจำนวนที่กำหนด



สภาล่ม 2 ครั้ง ใน 5 เดือน

การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา พบว่าสภาล่มไปแล้ว 2 ครั้ง

  • เหตุสภาล่มครั้งแรก

เหตุการณ์สภาล่มครั้งแรก เกิดขึ้นหลังก้าวไกลแพ้โหวตในที่ประชุมสภาในการประชุมสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 เพียง 1 วัน

ในวันที่ 30 ส.ค. 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอที่ประชุมสภาให้เปลี่ยนวาระการประชุม โดยเลื่อนวาระคำถามประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ถูก นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ คัดค้าน เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกลไกที่พรรคก้าวไกลเสนอ และขอให้รอมติคณะรัฐมนตรีซึ่งตัวเขามองว่าเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า ส่งผลให้ สส. จากฝั่งรัฐบาลลงเสียงไม่เลื่อนการพิจารณาญัตติดังกล่าวให้เร็วขึ้น

จากนั้นในวันถัดมา (31 ส.ค.) นายอรรถกร เสนอญัตติเรื่องการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ แต่ถูกนายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นับองค์ประชุม หลังเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลมาประชุมน้อยมาก

สุดท้ายนับองค์ประชุมได้ 98 คน จำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ประธานสภาฯ ต้องสั่งปิดการประชุมในเวลาต่อมา โดยนายปิยรัฐกล่าวว่า นายอรรถกรควรขอร้องให้เพื่อน สส. เข้าประชุม เพื่อให้ความสำคัญกับญัตติของฝั่งรัฐบาลเอง


นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ยืนยันว่า 314 เสียงพรรครัฐบาลยังเหนียวแน่น แม้ว่าจะเพิ่งเกิดเหตุสภาล่มไปเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ก็ตาม

  • เหตุสภาล่มครั้งที่ 2

สภาล่มครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ระหว่างการลงมติวาระแรกว่าจะรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า” ที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือไม่

ก่อนการลงมติ พบว่ามี สส. แสดงตน 332 คน แต่เมื่อลงมติ กลับพบว่ามีผู้ลงมติเพียง 228 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สั่งปิดการประชุม

เหตุสภาล่มครั้งนี้ พบว่ามี สส. จากพรรคก้าวไกลลงมติเพียง 2 คน จากจำนวนผู้แสดงตนฝั่งก้าวไกลจำนวน 92 คน จนทำให้เกิดวิวาทะระหว่าง สส. พรรคแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคฝ่ายค้านตามมา

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ว่า ก้าวไกลต้องการแก้เผ็ด สส.รัฐบาล ที่ลงมติโหวตไม่เลื่อนวาระร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มาพิจารณาวันที่ 14 ธ.ค. ตามที่ก้าวไกลเสนอ

“ก้าวไกลมีเขี้ยวเล็บมากขึ้น ไม่ใช่เด็กน้อยอีกต่อไป” นายครูมานิตย์ กล่าว

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาตั้งคำถามกับ สส. พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ว่า “การอยู่ในห้องประชุมสภาแต่ไม่แสดงตน หรืออยู่แสดงตนแต่ไม่ลงมติ เจตนาชัดว่าต้องการทำให้สภาล่มหรือไม่” โดยนำคำพูดของพรรคก้าวไกลในอดีตที่เคยระบุว่า สภาล่ม 1 ครั้ง ทำสูญเงินกว่า 8 ล้านบาท มาย้อนถามว่า “ถ้าฝ่ายตัวเองเป็นคนทำสภาล่มเสียเองไม่เป็นไรแล้วหรือ ?”

ด้าน นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาตอบโต้นายอนุสรณ์ว่า กึ่งหนึ่งขององค์ประชุมสภา คือ 250 คน ทางพรรคก้าวไกลมี สส. ประมาณ 150 คน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลรวมกันมีจำนวน สส. เกิน 300 คน จึงต้องถามกลับว่าสภาล่มเพราะใคร

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นน่าเสียดายว่า ในวันนั้น สส. พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค กลับมุ่งสกัดสิ่งที่เราเสนอ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิ์ไม่แสดงตนในขั้นลงมติรับหลักการ ทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นวันพุธแรกที่เปิดสมัยประชุมสภา แต่จำนวน สส. รัฐบาล ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรักษาองค์ประชุมได้” รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว


"เข้าใจดีว่ามีการประลองกำลังกันบ้าง เช็คชื่อกันบ้าง" นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 กล่าวถึงเหตุสภาล่มครั้งล่าสุด

ด้าน นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มี 2 แนวทางที่นำมาใช้ในการนับองค์ประชุมในปัจจุบัน คือแนวทางการนับองค์ประชุมของ ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่ใช้วิธีนับองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งตามจำนวน สส. ที่มาประชุม และแนวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินเกี่ยวกับองค์ประชุมในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2551 ว่า "องค์ประชุมมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมครบเปิดการประชุมแล้ว หลังจากนั้นสมาชิกอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไป หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผลก็จะเป็นว่าหลังจากการเปิดประชุม แม้จะมีสมาชิกอยู่ประชุมเพียงไม่กี่คน ก็อาจลงมติและมีเสียงข้างมากได้ ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ" โดยเขาสรุปด้วยว่า องค์ประชุมจะต้องอยู่เพียงพอ นั่นคือในการลงชื่อเพื่อลงมติและการลงมติจริง ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สส. ที่มีทั้งหมด

“เข้าใจดีว่ามีการประลองกำลังกันบ้าง เช็คชื่อกันบ้าง แต่อย่างไรก็ตามความแม่นยำทางกฎหมาย ตนเองวินิจฉัยเรื่องต่าง ๆ จากหลักการอะไร จะต้องเป็นเรื่องที่ถูกสื่อสารมาอย่างชัดเจน เผื่อทางพี่น้องประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่จะได้ทราบแนวตัดสินของประธานสภาทั้ง 3 ท่าน” นายปดิพัทธ์ กล่าว

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับสื่อเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า 314 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลยังเหนียวแน่นดี ไม่จำเป็นต้องเสริมทัพ

“เข้าใจว่า ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองดี และคงไม่ไปก้าวก่าย เพราะอยู่ฝ่ายบริหาร” นายเศรษฐา กล่าว

สภาล่มถูกใช้เป็นอุบายในสภาได้อย่างไร และโดยใคร

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า บอกกับบีบีซีไทยว่า สภาล่มไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดด้วยความตั้งใจ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่ประธานสภาจะสั่งนับองค์ประชุม และคนที่ทำให้สภาล่มได้ก็มีแค่ฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง
  • รัฐบาล
มีอยู่ไม่กี่เหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้สภาล่ม หนึ่งในนั้นคือ “การซื้อเวลา” ที่มักใช้เพื่อเลื่อนการลงมติออกไปก่อน เพราะไม่ต้องการให้เรื่องที่ฝ่ายตนเองเสนอขึ้นมาถูกปัดตกไป เนื่องจากจำนวน สส. ฝั่งรัฐบาลอาจแสดงตนในจำนวนที่น้อยกว่า สส. ของฝ่ายค้าน “หากปล่อยให้โหวตแล้วมันโหวตไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบมากที่สุด”

จากนั้นวิปรัฐบาลจึงกลับไปตั้งหลัก ประสานผ่านหัวหน้าพรรคต่าง ๆ กำชับให้ สส. ในสังกัดเข้าแสดงตนให้มากที่สุด “เพื่อไม่ให้รัฐบาลเสียหน้า” ดร.สติธร กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ฯ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ หากนโยบายเรือธงของพรรคแกนนำรัฐบาลถูกปัดตกในการประชุมสภาเพราะสภาล่ม อาจส่งผลกระเทือนต่อนายกรัฐมนตรี จนต้องลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาบอกว่า “หลักการสากลนี้คงไม่นับรวมประเทศไทย”
  • นายกรัฐมนตรี
ดร.สติธร อธิบายต่อว่า ในกรณีที่การผลักดันร่างกฎหมายที่สำคัญของรัฐบาลไม่ผ่าน เนื่องจากสภาล่ม ยังสื่อถึง “สภาวะที่นายกรัฐมนตรีควบคุม สส. ของพรรคไม่ได้ และตัว สส. กำลังต่อรองกับนายกฯ” โดย สส. อาจมองว่าตนเองมีอำนาจต่อรองมากกว่า “เพราะนายกฯ จะทำอะไรได้ นอกจากลาออกไป และพรรคก็เชิญคนนอกคนอื่นเข้ามาเป็นนายกฯ แทน” แต่อุบายนี้สุ่มเสี่ยงถูกเอาคืนด้วยอาวุธที่เรียกว่า “ประกาศยุบสภา” ซึ่งเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และส่งผลให้ความเป็นสมาชิกภาพของ สส. ทั้งหมดสิ้นสุดลง จนนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้าผู้นี้ มองว่า เหตุสภาล่มครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเศรษฐานี้ ไม่ใช่เกมวัดพลังระหว่างนายกรัฐมนตรีกับ สส. แต่เป็นเกมระหว่างพรรคก้าวไกล แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องการ “ย้อนศร” พรรครัฐบาลซึ่งนำโดยเพื่อไทย



  • ฝ่ายค้าน
ปกติแล้วฝ่ายค้านผู้มีเสียงข้างน้อยในสภา ไม่อาจทำให้สภาล่มได้ แต่ “เพราะสภาชุดนี้มีความพิเศษ” กล่าวคือพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งอย่างก้าวไกลไม่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาล แต่พรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากได้โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง กลับได้เป็นรัฐบาล ส่งผลให้ตำแหน่งรองประธานสภามี สส. ที่มาจากพรรคก้าวไกล นั่นก็คือ นายปดิพัทธ์ จากเงื่อนไขที่เกิดขึ้นหลังก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และเคยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย วิเคราะห์ต่อว่า เหตุสภาล่มครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. เกิดจากฝ่ายค้านที่เล็งเห็นแล้วว่า สส. พรรคร่วมรัฐบาลมาน้อย ไม่น่าระดมพลทัน ฝ่ายค้านจึงถือโอกาส “เกียร์ว่าง” และปล่อยให้สภาล่ม หลังจากประธานที่ประชุมเห็นว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะมีผู้ลงมติ 228 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ส่งผลให้ “ร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า” ที่พรรคก้าวไกลเสนอไม่ถูกปัดตก และถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป

แต่ ดร.สติธร มองว่า เกมนี้จะปิดจบไม่ได้ “หากประธานสภาไม่เล่นด้วย” เพราะต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งรองประธานสภาตกเป็นของ นายปดิพัทธ์ อดีต สส. จากพรรคก้าวไกล ซึ่งถึงแม้ย้ายไปอยู่พรรคเป็นธรรม แต่ก็ถือว่ายังสังกัดพรรคฝ่ายค้านอยู่ดี

“หากประธานไม่เล่นด้วย หรือเห็นทางหนีทีไล่ ก็อาจไม่เรียกนับองค์ประชุม หรือยอมนับ แต่กดออดรอ เพื่อระดม สส. ฝ่ายรัฐบาลให้ครบ ซึ่งเราเห็นปรากฎการณ์นี้อยู่บ่อย ๆ หลายครั้งกดแล้วไม่มา ก็มี จนประธานต้องปิดประชุมสภา” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า อธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติม

ย้อนสถิติสภาล่มเป็นประวัติการณ์ 36 ครั้ง

เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 PUB) รวบรวมข้อมูลได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ซึ่งมี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา ทำสถิติสภาล่มมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 36 ครั้ง ในช่วงเวลา 4 ปี (ปี 2562-2566)

ข้อมูลจาก 101 PUB ยังระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาอัตราการล่มในแต่ละปี ก็พบว่าสมัยประชุมสภาช่วงสุดท้ายล่มถึง 60% จนสื่อมวลชนประจำรัฐสภาตั้งฉายาประจำปี 2565 ว่า “สภา 3 วันดี 4 วันล่ม”

เมื่อกลับไปดูสาเหตุสภาล่มในช่วงโค้งสุดท้ายของสภาชุดก่อน มีทั้ง สส. พรรคฝ่ายค้านร่วมกันไม่แสดงตนเพื่อเล่มเกมสภาล่ม หวังกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา

ไม่ว่าจะเป็น เหตุสภาล่มก่อนการลงมติแก้ไขกฎหมายลูก ประกอบสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบ “หาร 500" ทั้งที่ผลการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนหน้านั้น พบว่ามีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในที่ประชุมมากกว่า 400 คน ส่งผลให้การเลือกตั้งปี 2566 กลับมาใช้สูตรหาร 100 ที่เอื้อพรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก หรืออีกครั้งคือเหตุสภาล่มระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกคัดค้านโดยพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เช่น เพื่อไทย มาโดยตลอด



ยิ่งสภาล่ม ยิ่งผ่านกฎหมายล่าช้า

เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติที่ 101 PUB รวบรวม พบว่า ในสมัยสภาผู้แทนราษฏรชุดก่อน (ชุดที่ 25) มีร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนอเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติทั้งหมด 427 ฉบับ แต่ผ่านร่างกฎหมายได้เพียง 78 ฉบับ เฉลี่ยแล้วกฎหมายแต่ละตัวใช้เวลาพิจารณานานถึง 310 วัน หรือเกือบ 1 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น พบว่ามีร่างกฎหมาย “ค้างท่อ” อยู่ในขั้นตอนรอดำเนินการมากถึง 180 ฉบับ

เมื่อมองกลับมาที่ผลงานของฝ่ายนิติบัญญัติชุดปัจจุบัน รายงานสรุปผลงานของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ปีที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ระบุว่ายังไม่มีร่าง พ.ร.บ. ฉบับใดผ่านการพิจารณาบังคับใช้ นับตั้งแต่เปิดสมัยประชุม

แต่มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 2 ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว ได้แก่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และ พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

ดร.สติธร บอกกับบีบีซีไทยว่า เนื่องจากไม่มีบทลงโทษ สส. ที่ไม่เข้ามาแสดงตน ทำให้ สส. หลายคนเพิกเฉยต่อการเข้าประชุมสภา สนใจงานของฝ่ายบริหารตามกระทรวงต่าง ๆ มากกว่า เพราะได้ทั้งผลงาน และได้ลงพื้นที่เข้าหาประชาชน ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัญหาสภาล่มจะส่งผลให้การพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ของฝ่ายนิติบัญญัติล่าช้าตามไปด้วย

“Tactic (อุบาย) สภาล่มควรใช้โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพรรค มันไม่ควรเป็นเกมที่อยู่บนความเดือดร้อนของประชาชน” ดร.สติธร กล่าวทิ้งท้าย