‘คดีตากใบ’ ไม่ใช่เอกสารสำนวนหายแล้วจบ แม้จะเหลืออีกเพียง ๑๐ เดือนจะหมดอายุความ อดีตกรรมการสิทธิฯ และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ บอกกรณีชาวบ้าน ๗๘ คน ตายเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างควบคุมตัว ยังฟ้องอาญาได้
อังคณา นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา “ย้ำความสำคัญของเรื่องนี้ว่า เอกสารเกี่ยวกับคดี กรรมการสิทธิฯ ผู้สังเกตการณ์คดี และทนายความที่ทำคดีได้เก็บรักษาไว้ เพราะคดีตากใบเป็นที่สนใจของสหประชาชาติ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี”
อังคณาชี้ว่า แม้ทายาทของประชาชน ๗๘ คนที่เสียชีวิตในน้ำมือของพนักงานทหาร-ตำรวจ จะได้รับเงินเยียวยา ๗ ล้าน ๕ แสนบาทไปแล้ว แต่ผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ “ไม่มีการทำข้อตกลงว่าจะไม่ติดใจฟ้องทั้งแพ่งและอาญาต่อไป”
ในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนการตาย (เมื่อปี ๒๕๕๒) เช่นนี้ “ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนส่งอัยการเพื่อฟ้องผู้ทำให้เสียชีวิต หรือญาติอาจฟ้องเองก็ได้” เฉกเช่นคดีต่างๆ ที่เป็นการเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน
คดีตากใบต้องเดินตามแนวคดีอื่นซึ่งเทียบเคียงกันได้ เช่นคดีอหม่ามยะผา ประจำมัสยิดบ้านกอตอ นราธิวาส ถูกซ้อมทรมานเสียชีวิตเมื่อมีนาคม ๕๑ “เมื่อไต่สวนการตายเสร็จ ตำรวจได้ทำสำนวนส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”
คดีอิหม่ามฯ ปปช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่มีผิดทั้งทางวินัยและอาญา แต่คดีตากใบกลับแตกต่างไป “ถือว่าดำเนินการไม่ตรงไปตรงมา” ใช่ไหมล่ะ การกระทำบางอย่างส่อเจตนา เช่นกรรมาธิการความมั่นคงสภาผู้แทนฯ ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานต่างๆ หารือ
“พบว่าไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้เกียรติสภาผู้แทนฯ และไม่ให้ค่าต่อการทำหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะ กอ.รมน. หนีสภาหลายครั้งแล้ว แบบเดียวกับนายกรัฐมนตรีคนนี้ที่งานยุ่งท่องต่างประเทศ ไม่เคยมีเวลาเข้าสภา
(https://www.isranews.org/article/south-news/special-talk/124714-angkanatakbai.html)