มีเสียงแซะอยู่ไม่น้อยเมื่อ รังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนฯ ไปเยี่ยมกองทัพแล้วกลับออกมาชมว่ามีการบริหารจัดการที่ดี เฉกเช่นเสียงยี้เมื่อรัฐมนตรีกลาโหม สุทิน คลังแสง ทำได้ดีในการโปรโมทกิจการนอกกรอบของทหาร
มติชนออนไลน์พยายามลดแรงเสียดทานด้วยการเสนอว่า ทั้งรังสิมันต์และสุทินได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีด้วยดีจากเหล่าข้าราชการถืออาวุธทั้งหลาย ไม่ว่าจะ บก.สูงสุด บก และตำรวจ “สามารถเดินทางไปพบ...ได้อย่างเท่าเทียม”
สำหรับทางก้าวไกลนั้น ได้ด้อมอย่าง Atukkit Sawangsuk แก้ต่างให้อย่างสมเหตุสมผล เขาว่ารังสิมันต์ไปคุยชื่นมื่นกับ ผบ.ทบ. “นั่นเป็นทิศทางที่ถูกแล้ว ก้าวไกลเป็นปรปักษ์กับรัฐราชการ...” แต่ไม่ใช่กับข้าราชการ ซึ่งเกินครึ่ง ‘กาก้าวไกล’
“เพราะข้าราชการก็เบื่อระบบราชการ เจ้าขุนมูลนาย อยากเห็นการเมืองโปร่งใส ปัดกวาดคอรัปชั่นเส้นสาย ก้าวไกลจึงต้องไม่มองข้าราชการแง่ลบ ต้องคิดว่าทำอย่างไร จะผูกมิตรกับข้าราชการ แม้ระดับ ผบ.ทบ.คงไม่ใช่พวก แต่การมีท่าทีที่ดีก็จูงใจทหาร”
เขาว่าข้าราชการที่กาก้าวไกลนี่หละ จะเป็นจุดเชื่อมสำคัญให้แก่กรรมาธิการคณะต่างๆ ของสภาได้ ไม่ว่าระดับกรรมาธิการธรรมดา หรือถ้าเป็นประธานยิ่งดี เชื่อมได้สนิทและเร็ว แต่กระนั้นก็ต้องตระหนักว่ากองทัพไปไกลกว่าปกป้อง-อุ้มชูประชาชน
Puangthong Pawakapan นักวิชาการผู้ทำวิจัยเรื่องการแผ่อำนาจอิทธิพลของทหารเข้าสู่สังคมทุกหย่อมหญ้าไว้ลุ่มลึกและหลากหลาย ชี้ว่า “นายกฯ เศรษฐาประกาศไม่ยุบ กอ.รมน. และจะปรับให้กองทัพไปทำงานพัฒนามากขึ้น”
เตือนความจำกัน โดยเฉพาะ “คนเดือนตุลาในพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่าทหารไทยเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานพัฒนาในชนบทตั้งแต่ยุคที่สู้กับคอมมิวนิสต์” จนเมื่อคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ไปแล้ว ก็ยังขยายต่อเข้ามาในพื้นที่สังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
ที่จริงแนวทางอย่างนี้เริ่มมาแต่ยุค ‘อีสานเขียว’ โน่นแล้ว ยุคนั้นจะเห็นทหารยศนายพันจนกระทั่งนายพลต้นๆ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบคลุมทั่วภาคส่วนสังคม การเกษตร เท็คโนโลยี่ การแพทย์ ฯลฯ พ้องกับที่ อจ.พวงทองนำเอาข้อมูลมาตีแผ่
งบประมาณปี ๖๔ กลาโหมฟาดไปรับประทาน ตั้งแต่เบาะๆ พัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะเกือบ ๗ ล้านครึ่ง ไปถึงงบฯ ปราบและบำบัดผู้ติดยาเสพติด เกือบ ๓๑๗ ล้าน ยังมีเข้าไปจัดการ (เขาเรียกบูรณาการ) สร้างรายได้ท่องเที่ยว ๑๑ ล้านกว่า
ยังมีงบต่างหากให้กับ ฝ่ายกิจการพลเรือน หรือ กอ.รมน. ทั้งที่ซ้ำๆ กัน และที่แตกหน่ออีก เช่น งบฯ ยาเสพติด ๑๘๑ ล้าน ๗ แสน งบฯ พิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๕๒ ล้านกว่า บรรเทาสาธารณภัยอีก ๑๗ ล้าน กับที่พิลึกอยู่หน่อยตรงการส่งเสริมท่องเที่ยว
กองทัพ “มีการสร้าง Army Land มากกว่า 150 แห่งในค่ายทหารทั่วประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร” เหล่านี้นักวิชาการ จุฬาฯ ท่านนี้บอกว่า เป็น “อันตรายของการที่ผู้นำพลเรือนขาดความรู้ความเข้าใจในกิจการทหาร”
เธอว่า “แทนที่จะนำทหารออกจากการเมือง กลับช่วยขยายโอกาสให้ทหารเข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมืองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ”
(https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/2DjDYsTpQDvC6xl, https://www.matichon.co.th/politics/news_4335636 และ https://www.facebook.com/baitongpost/posts/EngfnqVoJusyl)