วันศุกร์, ธันวาคม 22, 2566

อีกก้าวสู่ความเท่าเทียมทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่างสมรสเท่าเทียมทุกฉบับ ด้วยคะแนนเสียง 369:10 ส่งผลให้ร่างสมรสเท่าเทียมผ่านวาระ 1 บทความจากบีบีซี เปรียบเทียบ 3 ร่าง พรบ. #สมรสเท่าเทียม ร่างฉบับไหนให้สิทธิ LGBTQ+ เร็วสุด



สภาถกสมรสเท่าเทียม ร่างฉบับไหนให้สิทธิ LGBTQ+ เร็วสุด

ธันยพร บัวทอง
Role,ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
21 ธันวาคม 2023

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำลังจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในวันที่ 21 ธ.ค. หลังจากร่างของพรรคก้าวไกล ตกไปในสภาชุดที่แล้ว โดยในครั้งนี้ ร่างกฎหมายที่จะถูกนำเข้าพิจารณาในสภามี 3 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ร่างของพรรคก้าวไกล (กก.) และร่างของภาคประชาชน

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือในชื่อทางการว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ทั้ง 3 ร่าง ที่ถูกนำมาพิจารณาในรอบนี้ มีหลักการเดียวกันคือ การขยายสิทธิการสมรสหรือแต่งงานให้ครอบคลุมบุคคลทุกเพศ โดยแก้ไขกฎหมายแต่งงานเดิม ซึ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งฯ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคล

กฎหมายการสมรสที่ใช้ในปัจจุบัน ป.พ.พ. มาตรา 1448 ซึ่งระบุว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ร่าง มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอายุการสมรส ระยะเวลาการบังคับใช้หลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ระยะเวลาการบังคับให้หน่วยราชการแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง และเรื่องความเป็นบุพการีและขอบเขตความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับกฎหมายอื่น

กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผู้แทนราษฎรกำลังจะได้พิจารณามีเนื้อหาใจความสำคัญอะไรบ้าง แต่ละฉบับมีรายละเอียดต่างกันอย่างไร และแตกต่างจากร่างกฎหมายคู่ชีวิต ที่เคยได้ยินมาอย่างไร บีบีซีชวนสำรวจในบทความนี้


กฎหมายสมรสปัจจุบัน ใช้คำว่า การสมรสระหว่างชายและหญิง ซึ่งไม่ครอบคลุมผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สมรสเท่าเทียมของรัฐบาล-ก้าวไกล-ภาคประชาชน ต่างกันอย่างไร

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นักวิชาการกฎหมายสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อธิบายรายละเอียดของความเหมือนและความแตกต่างของร่างสมรสเท่าเทียมทั้ง 3 ฉบับ ดังนี้

สิ่งที่เหมือน :
  • คำที่ระบุในกฎหมาย ร่างทั้ง 3 ฉบับ มีหลักการเดียวกันคือ การสมรสระหว่างบุคคลสองคน ที่รวมถึงทุกเพศ แต่ต่างที่การใช้ถ้อยคำ โดยร่างของภาคประชาชนใช้ข้อความว่า "บุคคลสองคน (ทุกเพศ)" ส่วนร่างของรัฐบาลและพรรคก้าวไกล ใช้ข้อความเหมือนกันว่า "บุคคลทั้งสองฝ่าย บุคคลสองคน (ทุกเพศ)"
ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ ของภาคประชาชน ระบุว่า "มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ ของรัฐบาลระบุว่า "มาตรา 1448 การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ ของพรรคก้าวไกล ระบุว่า "มาตรา 1448 การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้"
  • สถานะหลังจดทะเบียน ทั้ง 3 ร่าง ใช้คำว่า "คู่สมรส" เหมือนกัน เปลี่ยนจากกฎหมายเดิมที่ใช้คำว่า สามีภริยา หรือคู่สมรส

สิ่งที่ต่าง :
  • การหมั้น : ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ใช้ข้อความว่า "บุคคลทั้งสองฝ่าย ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น" ส่วนของภาคประชาชน ไม่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม เนื่องจากสามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น
  • อายุผู้ที่ทำการสมรส : ร่างภาคประชาชนและร่างของพรรคก้าวไกล ระบุให้เป็น 18 ปี ส่วนร่างของรัฐบาลเหมือนกับกฎหมายฉบับเดิม คือ 17 ปี
  • บทเฉพาะกาล : ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ไม่มี แต่ร่างของภาคประชาชนมีบทเฉพาะกาล
  • ระยะเวลาบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ : ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล 120 วัน ร่างของภาคประชาชน 60 วัน
  • การแก้ไขกฎหมายแพ่งฯ เกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร : ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ไม่มีการแก้ไข แต่ร่างของภาคประชาชน เสนอให้เปลี่ยนคำในกฎหมายจาก "บิดา มารดา" เป็น "บุพการี"
  • บทบัญญัติให้หน่วยงานอื่นแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ระบุให้ดำเนินการใน 180 วัน ส่วนร่างของภาคประชาชน เสนอให้ใช้ทันที ไม่ต้องรอการแก้กฎหมายอื่น โดยเขียนไว้เป็นลักษณะของบทเฉพาะกาล ในมาตรา 64 และ 65 ดังนี้
มาตรา 64 ให้เพิ่มความในมาตรา 1598/42 ของ ป.พ.พ. เดิม

"ให้คู่สมรสที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายนี้ ถือเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง กฎหมาย และระเบียบอื่นใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่ "สามีภริยา" หรือ "คู่สมรส" หรือ "บิดามารดา" หรือ คำอื่นใดในลักษณะเดียวกัน"

มาตรา 65 ให้เพิ่มความในมาตรา 1598/43 ของ ป.พ.พ. เดิม

"ให้บุพการีตามประมวลกฎหมายนี้ ถือเป็นบุพการีที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง กฎหมาย และระเบียบอื่นใดที่บัญญัติให้สิทธิและหน้าที่แก่ "บุพการี" หรือ "บิดามารดา" หรือ คำอื่นใดในลักษณะเดียวกัน"



สิทธิและสวัสดิการบางเรื่อง แม้สมรสเท่าเทียมผ่าน อาจต้องรอแก้กฎหมายอื่นอีก 6 เดือน

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นักกฎหมายสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ความแตกต่างที่สำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่กำลังเข้าสู่สภา ได้แก่ การนำกฎหมายไปใช้หลังจากกฎหมายมีผล และระยะเวลาที่กำหนดให้หน่วยงานราชการอื่นแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแก้ไขถ้อยคำในกฎหมายแพ่งฯ ที่เกี่ยวกับมารดากับบุตร ในกฎหมายอื่น ๆ

สำหรับประเด็นระยะเวลาที่ให้หน่วยงานราชการอื่นแก้ไขกฎหมายอื่นให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชวินโรจน์ ชี้ว่า ร่างของภาคประชาชน ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลว่าให้กฎหมายใช้ได้ทันที แต่ร่างกฎหมายของรัฐบาล และร่างของพรรคก้าวไกล เขียนบทบัญญัติไว้ที่ 180 วัน เพื่อให้หน่วยงานราชการมานำเสนอว่าจะแก้ไขกฎหมายใดบ้างให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ดังนั้น จึงหมายความว่า กว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะใช้กฎหมายได้จริงต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 6 เดือน ทั้งที่สามารถทำให้กฎหมายมีผลทันทีได้

"พอกฎหมายประกาศในราชกิจจาฯ เรารอ 4 เดือนแล้ว นี่ต้องรออีก 6 เดือน ถึงจะเริ่มมาศึกษาร่างกฎหมายอย่างนั้นหรือ" ชวินโรจน์กล่าว "อย่าลืมว่า เราไม่ได้เพิ่งมารอสมรสเท่าเทียม บางคนเขารอมานานมากแล้วทั้งชีวิต"



นักกฎหมาย LGBTQ+ กล่าวด้วยว่า การต้องรอให้กฎหมายใช้ได้จริงเป็นเวลาที่นานขึ้น ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถใช้สิทธิในเรื่องสำคัญ ๆ ได้ แม้ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการตั้งครรภ์แทน หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กด้วยเทคโนโลยี การตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลโรคจิตเวช และกฎหมายเกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ตกทอดไปยังคู่สมรส

ชวินโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ด้วยความกังวลนี้ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคประชาชน จึงมีมาตราที่เป็นเหมือนบทเฉพาะกาลว่า ให้บรรดากฎหมายต่าง ๆ ทั้งหมดในราชอาณาจักรที่มีคำว่า สามีภรรยา หรือบิดามารดา หรือคำอื่นในลักษณะนี้ ให้หมายความถึง คู่สมรส ตามร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยทันที

"ไม่ใช่ว่าใช้สิทธิไม่ได้ แต่เป็นการใช้สิทธิในเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ได้ทันที"

อีกความแตกต่างของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของภาคประชาชน คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ (ป.พ.พ.) ที่เกี่ยวกับบิดา มารดา และบุตร ที่ร่างของภาคประชาชนเสนอว่า ให้เปลี่ยนถ้อยคำที่ครอบคลุมผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขณะที่ร่างกฎหมายของรัฐบาลและพรรคก้าวไกล แก้ไขถ้อยคำในกฎหมาย ป.พ.พ. เพียงบางส่วน

"เรื่องนี้จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ สมมติว่า พ่อพ่อ แม่แม่ ไปใช้สิทธิ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะถามว่า ใครเป็นบิดา ใครเป็นมารดา เพราะฉะนั้น ในร่างภาคประชาชนจึงเสนอให้เปลี่ยนคำทั้งหมด ให้เป็นคำที่เป็น Gender neutral word (คำที่มีความเป็นกลางทางเพศ) หรือเพิ่มคำว่าบุพการีเข้าไปในคำว่า บิดามารดาด้วย เพื่อให้เวลาใช้กฎหมายคนจะได้ไม่รู้สึกอึดอัดหรือมีคำถามเพิ่มอีก" ชวินโรจน์ กล่าวกับบีบีซีไทย



แตกต่างจากสมัยประยุทธ์อย่างไร

ในการพิจารณากฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกเสนอประกบคู่กับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งหน่วยงานเจ้าภาพคือ กระทรวงยุติธรรม

แต่ร่างกฎหมายคู่ชีวิต แม้จะดูมอบสิทธิให้กับบุคคลหลากหลายทางเพศ แต่ที่ผ่านมาภาคประชาชนและนักวิชาการมองว่า เป็นการก่อตั้งสิทธิขึ้นมาใหม่ในกฎหมายอีกฉบับ คำว่า "คู่ชีวิต"ไม่ใช่ "คู่สมรส" ตามกฎหมาย เนื่องจากยังไม่เคยมีกฎหมายใด ๆ ในประเทศไทยบัญญัติมาก่อน จึงส่งผลให้กฎหมายอื่น ๆ ที่ยึดโยงคำว่า คู่สมรส ตาม ป.พ.พ. มิอาจมอบสิทธิให้กับ "คู่ชีวิต" ได้โดยอัตโนมัติ จนกว่ากฎหมายอื่น ๆ นั้นจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิให้กับคู่ชีวิต ตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิตในภายหลัง

นอกจากนี้เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิที่ไม่เท่ากับ คู่สมรส ตามกฎหมายแพ่งฯ เดิม อีกด้วย ดังนั้น ภาคประชาชนจึงไม่เห็นด้วยกับแนวทางของการออกเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต

สำหรับสถานะของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถือว่าเป็นกฎหมายที่รัฐสภายังไม่ได้เห็นชอบ จึงถูกปัดตกไปแล้วจากการที่สภาสิ้นสุดไปจากการยุบสภา ร่างกฎหมายจะกลับมาใหม่ได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีขอให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ซึ่งทำได้ใน 60 วัน หลังจากเรียกประชุมสภาครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง เห็นชอบแนวทางของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ตามที่จะมีการพิจารณาในสภาวันที่ 21 ธ.ค. โดยเป็นร่างฯ ที่มีเจ้าภาพคือ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ใกล้ความจริงหรือยัง

แม้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของแต่ละฝ่าย จะมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือ "ครูธัญ" บอกว่า "รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถหาความเห็นร่วมกันในขั้นคณะกรรมาธิการได้"

ขณะที่ชวินโรจน์ ชี้ว่าเมื่อดูเจตจำนงทางการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ความท้าทายไม่ใช่เรื่องการผ่านหรือไม่ผ่านกฎหมาย เนื่องจากท่าทีของฟากรัฐบาล ร่างกฎหมายนี้น่าจะผ่านแน่นอน แต่ความท้าทายก็คือ ร่างกฎหมายตัวหลักจะถูกพัฒนาให้เป็นร่างที่ดีที่สุดหรือไม่ จากกรรมาธิการในชั้นต่อไป

"คำว่าสมรสเท่าเทียม มันไม่ได้เท่าเทียมแค่เดินไปจดทะเบียนสมรส มันต้องเท่าเทียมในเรื่องสิทธิสวัสดิการ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ไม่ให้มีการเลือกปฏฺิบัติ ไม่ใช่คู่สมรสชายหญิงทำอย่างหนึ่ง แต่คู่สมรส LGBTQ ทำอย่างหนึ่ง" ชวินโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

สส. ผ่าน 4 ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระที่ 1 แล้ว

สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดยในครั้งนี้ ร่างกฎหมายที่จะถูกนำเข้าพิจารณาในสภามี 4 ร่าง ประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี/รัฐบาล, ร่างของพรรคก้าวไกล, ร่างของภาคประชาชน และอีกร่างที่นำเสนอโดยนายสรรเพชญ บุญญามณีและคณะจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระแต่นำมาพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วย

สำหรับผลการลงมติครั้งนี้ มีผู้รับหลักการด้วยการโหวตเห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ไม่มีผู้งดออกเสียง พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา 39 คน