วันศุกร์, ธันวาคม 22, 2566

บันทึกจาก “เอกชัย” จากเรือนจำ เสนอ 3 ข้อคิด : อย่ามองการพักโทษอย่างอคติ ทักษิณ ชินวัตร กี่ครั้งก็ไม่เคยเข็ด ความคืบหน้าการรักษาของตน + ก้าวไกล ลุกขยี้สิทธิพิเศษคุมขัง ยกเคสเอกชัย ได้ไม่เท่าทักษิณ



3 บทความจากเรือนจำ: “เอกชัย” ชวนสังคมตั้งคำถามเรื่องการพักโทษผู้ต้องขัง ด้านอาการป่วยฝีที่ตับดีขึ้น ยังรอการตรวจซีทีสแกนเพื่อดูอาการต่อ

21/12/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ต้องขังคดีการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้ว ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เมื่อปี 2560 โดยศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566

สำหรับการเยี่ยมในครั้งนี้ เอกชัยได้ฝากข้อเขียนจำนวน 3 บทสำหรับเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาบอกเล่าถึงการพักโทษและการคุมขังนอกเรือนจำ, การเล่นการเมืองของทักษิณ ชินวัตร รวมถึงความคืบหน้าการรักษาโรคฝีที่ตับของเขาให้เราฟัง

.
อย่ามองการพักโทษอย่างอคติ

สังคมไทยมองนักโทษเป็นอาชญากรที่ไม่สมควรอยู่อย่างสุขสบายด้วยการจำกัดสิทธิ์พื้นฐานหลายอย่าง เช่นโทรศัพท์ติดต่อบุคคลภายนอกและการรับข่าวสารจากสื่อมวลชน ไม่นับชีวิตเรือนจำที่ยากลำบาก ไม่ถูกสุขลักษณะ

10 ปีที่ผ่านมา ผมเข้าออกเรือนจำ 6 ครั้ง รวมระยะเวลาชีวิตในเรือนจำกว่า 3 ปี ผมยืนยันว่าผู้ต้องขังกว่าครึ่งไม่ใช่คนชั่วร้ายอย่างที่สังคมเข้าใจ บางคนทำเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางคนทำเพราะไว้ใจบุคคลอื่น บางคนทำผิดเพราะจำเป็น มีเพียงบางส่วนที่สมควรรับโทษตามพิพากษา คนทำผิดไม่ใช่คนเลวเสมอไป

สำหรับนักโทษที่ไม่ได้เลวโดยสันดาน การจำคุกเพียงระยะหนึ่งก็ทำให้พวกเขาเข็ดหลาบ จนไม่กล้าที่จะกระทำผิดอีก การจำคุกเพียงระยะเวลาไม่นานก็อาจทำครอบครัวพวกเขาล่มสลาย ธุรกิจ อาชีพของพวกเขาพินาศย่อยยับ จนยากจะฟื้นฟู

ด้วยเหตุนี้การพักโทษจึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้นักโทษมีโอกาสออกจากเรือนจำก่อนกำหนดแบบเงื่อนไข แต่สังคมไทยบางส่วนยังอคติด้วยการมองว่าพวกเขาออกจากเรือนจำเร็วเกินไป การพักโทษไม่ใช่การพ้นโทษ นักโทษที่ได้รับการปล่อยนักโทษยังคงเป็นนักโทษภายใต้เงื่อนไขควบคุมตัวจนถึงวันพ้นโทษ หากพวกเขากระทำผิดอาญา ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการพักโทษ พวกเขาจะต้องกลับเข้าเรือนจำ เพื่อรับโทษคดีเดิมในส่วนที่เหลือจนกว่าจะพ้นโทษ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/2 กำหนดให้กรณีเหตุจำเป็น เรือนจำมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาล ให้มีคำสั่งย้ายนักโทษเด็ดขาดที่ถูกจำคุกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามตามหมายศาลไปอยู่สถานที่อื่นได้

กรมราชทัณฑ์มีการออกประกาศหลายฉบับซึ่งอ้างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรานี้เป็นการพักโทษกรณีพิเศษและการพักโทษกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ อายุเกิน 70 ปี โดยประกาศเหล่านี้มีมานานแล้วหลาย 10 ปี มีการปรับปรุงหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือนักโทษบางส่วนออกจากเรือนจำเร็วกว่าการพักโทษธรรมดา

ล่าสุดราชทัณฑ์ออกประกาศใหม่เพื่ออนุญาตนักโทษคดีไม่ร้ายแรงสามารถย้ายออกจากเรือนจำไปคุมขังในที่พักของพวกเขาหรือสถานที่อื่น โดยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่าการพักโทษ เป็นการกำกับพื้นที่ภายในอาคาร จึงไม่ใช่อิสรภาพอย่างที่สังคมไทยส่วนใหญ่เข้าใจ

“การพักโทษ” หรือ “คุมขังนอกเรือนจำ” ไม่ใช่อภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น หากคุณเชื่อว่าการอยู่ในเรือนจำเป็นความเท่าเทียมกันของผู้ต้องหา ผมก็บอกเลยว่าผู้ต้องขังในเรือนจำมีการแบ่งชนชั้นจนทำให้บางคนถูกเรียกว่า “สมเด็จ” อยู่อย่างสุขสบายกว่าผู้ต้องขังทั่วไป กำแพงคุกจึงเป็นแค่ฉากกั้นสมเด็จเหล่านี้จากโลกภายนอกเท่านั้น

ผมไม่เห็นด้วยกับการอภัยโทษแบบพร่ำเพรื่อโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ขณะที่การพักโทษ หรือคุมขังนอกเรือนจำ จะพิจารณาจากพฤติกรรมรายบุคคลเป็นหลัก แม้จะโดนข้อหาอาญาที่เหมือนจะร้ายแรง ถ้าพฤติกรรมไม่ชั่วโดยสันดานก็มีสิทธิ์ได้พักโทษ หรือคุมขังนอกเรือนจำ

.
ทักษิณ ชินวัตร กี่ครั้งก็ไม่เคยเข็ด

หลังรัฐประหารปี 2549 เขาเลือกที่จะไม่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐประหาร จนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 การผลักดันให้นิรโทษกรรม พ.ศ. 2556 เค้าเลือกที่จะยัดไส้การรื้อคดีที่เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

การเลือกตั้งปี 2562 เค้าเลือกเสนอชื่อพี่สาวของในหลวง ร.10 เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ จนนำไปสู่การถูกยุบพรรค ในวงการธุรกิจ การดีลถือเป็นเรื่องปกติโดยคู่สัญญาส่วนใหญ่ไม่กล้าเบี้ยวเพราะกลัวเสียชื่อในระยะยาว

ในวงการการเมืองก็มีการดีลอยู่เช่นกัน แค่คาดหวังในคู่สัญญาไม่ค่อยได้ เพราะขึ้นกับสถานการณ์หรือความได้เปรียบทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากดีล แต่ก็ย่อยยับทางการเมืองจากดีลเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ยึดทรัพย์หลาย 10,000 ล้านบาท จนไประเหเร่ร่อนในต่างประเทศกว่า 10 ปี จนถึงการดิ้นรนเพื่อไม่ให้เข้าเรือนจำในตอนนี้

หลังการกลับไทยปลายสิงหาที่ผ่านมา เค้าเข้าเรือนจำไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ใช้ชีวิตในโรงพยาบาลเกือบสี่เดือนโดยได้รับการลดโทษจำคุกจากเดิมแปดปี เหลือหนึ่งปี ซึ่งยังไม่ใช่สิ่งที่เขาปรารถนา จึงต้องดิ้นรนเพื่อให้พ้นโทษในปีนี้

หลังพลาดหวังจากการอภัยโทษสองครั้งที่ผ่านมา ประตูออกจากเรือนจำของเขาก่อนครบกำหนดโทษจึงเหลือเพียงการพักโทษ หรือคุมขังนอกเรือนจำ ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางใดทุกเส้นทางล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย

.
ความคืบหน้าการรักษาของ ‘เอกชัย’

ผมได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝีในตับตั้งแต่กลางเดือนกันยาที่ผ่านมา การตรวจซีทีสแกนเป็นระยะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการรักษา การตรวจซีทีสแกนในทัณฑสถานครั้งที่สองเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนไปโรงพยาบาลราชวิถีครั้งล่าสุด 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลราชวิถีพบฝีผมมีแนวโน้มลดขนาดลงทั้งสองก้อน โรงพยาบาลราชทัณฑ์จะนัดตรวจซีทีสแกนครั้งต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคม

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นโรงพยาบาลราชทัณฑ์แจ้งว่าเครื่องซีทีสแกนต้องซ่อมบำรุงจนถึงปีใหม่ จึงเตรียมส่งผมไปตรวจโรงพยาบาลอื่น ผมไม่ขัดข้องที่จะส่งไปนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือผมถูกเลือกให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ

ผมยังคงจำได้ดีถึงเหตุปะทะคารมกับ ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎ ที่ด้านหน้าโรงพยาบาลไปจนถึงการร้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณทางการแพทย์ของเขาต่อแพทยสภา จนทำผมถูกทำร้ายร่างกายภายในกระทรวงสาธารณสุขหลังเสร็จการไต่สวนในวันนั้น

ด้วยเหตุนี้ผมจึงปฏิเสธการซีทีสแกนที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และในวันเวลาที่กระชั้นชิดจนไม่อาจหาโรงพยาบาลอื่น จึงรอตรวจซีทีสแกนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

——————–

ทั้งนี้ กรณีการตรวจซีทีสแกนของเอกชัย ยังต้องติตตามความคืบหน้าต่อไป ว่าจะสามารถส่งตรวจที่โรงพยาบาลอื่น ๆ ได้ภายในปีนี้หรือไม่ หรือต้องรอทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในต้นปีหน้า
.....
Matichon Online - มติชนออนไลน์
ก้าวไกล ลุกขยี้สิทธิพิเศษคุมขัง ยกเคสเอกชัย ได้ไม่เท่าทักษิณ ทวีย้ำรายงานแพทย์ ยันป่วยจริง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4341364
.....
Atukkit Sawangsuk
10h ·

ถ้าทักษิณพ้นโทษกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า เข้ารักษา รพ.พระรามเก้า เราไม่มีสิทธิไปสอบถามว่าป่วยจริงหรือป่วยทิพย์ เป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นข้อมูลส่วนบุคคล
:
แต่นี่ทักษิณเป็นนักโทษในเรือนจำ ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานของรัฐ การส่งตัวทักษิณไปรักษา รพ.ตำรวจ เป็นการใช้อำนาจรัฐ (และน่าจะใช้งบประมาณรัฐ) ซึ่ง ส.ส. ประชาชน มีสิทธิเต็มขั้นที่จะตรวจสอบ ว่าป่วยหนักแค่ไหนเพียงไร เมื่อเทียบกับนักโทษคนอื่น เช่น เอกชัย หงส์กังวาน ทำไมไม่ได้ไปนอนชั้น 14 บ้าง กรมราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติหรือไม่ ฯลฯ
:
นี่เป็นเรื่องตรวจสอบอำนาจครับ
ไม่ใช่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล