วันเสาร์, ธันวาคม 23, 2566

ครบ 120 วัน สวรรค์ชั้น 7(2) “นักโทษเทวดา” “อภิสิทธิ์ชน” “สองมาตรฐาน” สารพัดคำเปรียบเปรยถึง “คนชั้น 14”

ผู้สนับสนุนเตรียมป้ายต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อ 22 ส.ค.

22 ธันวาคม 2023
บีบีซีไทย

ครบกำหนด 120 วันที่นักโทษเด็ดขาดชาย (น.ช.) ทักษิณ ชินวัตร นอนรักษาตัวอยู่ภายนอกเรือนจำ หลายคำถามและข้อสังเกตที่เกิดขึ้นในสังคม ยังไม่มีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อ 22 ส.ค. ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม

ทว่าเขาไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ก็ถูกย้ายออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครช่วงกลางดึก เพื่อเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ทราบในเวลาต่อมาว่า พักอยู่ที่ชั้น 14 ของอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

นอกจากนี้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ที่เปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังในบ้าน หรือสถานพยาบาลได้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าจะทำให้ น.ช.ทักษิณ ได้ย้ายออกจาก รพ.ตำรวจ กลับไปจองจำที่บ้านหรือไม่อย่างไร

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นช่วงครบ 120 วันที่นายทักษิณถูก “จองจำนอกเรือนจำ” ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วน

ใครพูดอะไร ใครทำอะไรบ้าง บีบีซีไทยขอรวบรวมและบันทึกเอาไว้ ณ ที่นี้

คปท. เดินสายตามหา “ความยุติธรรมที่หายไป”

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “120 วันความยุติธรรมหายไป” จัดขึ้นล่วงหน้าตั้งแต่ 13 ธ.ค. โดยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) มีนายพิชิต ไชยมงคล และนายนัสเซอร์ ยีหมะ เป็นแกนนำ

พวกเขาเข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้บริหาร รพ.ตำรวจ ผ่าน พ.ต.อ.หญิง พรรวสี บูรณากาญจน์ นายตำรวจเวรอำนวยการ ขอให้พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ชั้น 14 พร้อมเรียกร้องให้ รพ.ตำรวจ ยึดหลักจรรยาบรรณแพทย์และรักษากฎหมายท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นมากมายในสังคม

ต่อมา พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษก รพ.ตำรวจ ชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถเปิดเผยหรือให้ข้อมูลกับบุคคลอื่นไม่ใช่ญาติ คนในครอบครัว หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ แต่ยืนยันว่าคนไข้ที่ทางราชทัณฑ์ส่งมา รพ.ตำรวจ มีระบบรักษาตามมาตรฐานดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยทั่วไปหากคนไข้หายดีหรือสามารถกลับไปเรือนจำได้ แพทย์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่กรณีใดกรณีหนึ่ง


ป้ายข้อความของแนวร่วม คปท. ในระหว่างเดินสายไปตามหาความยุติธรรมที่หายไป

จากนั้นในวันที่ 14 ธ.ค. คปท. เดินสายไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอให้รีบนำตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ โดยมี นพ.สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ รับเรื่องแทน

นายพิชัยยกคำกล่าวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. และบุตรสาวของนายทักษิณ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า นายทักษิณอยู่ระหว่างพักฟื้นร่างกาย ดังนั้น “จะอ้างเจ็บป่วยไม่ได้อีกต่อไป อาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”

นอกจากนี้แกนนำ คปท. ยังตั้งข้อสังเกตต่อกรณีที่กรมราชทัณฑ์เร่งรีบประกาศระเบียบฉบับใหม่กำหนดพื้นที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำว่า เป็นการ “เอื้ออภิสิทธิ์แก่ น.ช.ทักษิณ เป็นการเฉพาะหรือไม่” และขอให้เร่งนำตัวกลับเรือนจำทันที

ด้าน นพ.สมภพยืนยันว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ไม่ได้ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ แต่จังหวะดันมาตรงกับในช่วงนี้พอดี

สำหรับสมาชิก คปท. เป็นหนึ่งในแนวร่วมสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2548-2549 และยังเป็นพันธมิตรของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556-2557 โดยถือเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่กี่กลุ่มที่ “เกาะติด-ตรวจสอบ” กรณีนายทักษิณจำคุกนอกเรือนจำ ตั้งแต่ช่วงครบ 60 วัน, 100 วัน และล่าสุดครบ 120 วัน

“นักร้อง” ฟ้องศาล สั่งทักษิณกลับเข้าเรือนจำ

แกนนำ คปท. อีกคนคือ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ร่วมกับนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อ 19 ธ.ค. ขอให้ไต่สวนกรณีมีบุคคล คณะบุคคล หรือเจ้าหน้าที่ ร่วมกันกระทำให้ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 (3)

ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกนายทักษิณใน 3 คดี ประกอบด้วย 1. คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4,000 ล้านบาท 2. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน 3. คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม แต่ปรากฏว่าจำเลยอ้างเหตุป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ชั้น 14 โดยกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ซึ่งนายนิติธรและนายชาญชัยเห็นว่าเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงยุติธรรม

แต่ในเวลาไม่นาน นายชาญชัยเปิดเผยว่า ศาลฎีกาฯ ออกคำสั่งยกคำร้องของเขา โดยระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

“ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง”



นอกจากที่ศาลฎีกาฯ ยังมีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ยื่นฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการ รพ.ราชทัณฑ์ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อ 19 ธ.ค. ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้นายทักษิณออกไปนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำ รวมทั้งเพิกถอนระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าวไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

นายศรีสุวรรณเชื่อว่า การออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์เป็นความพยายามเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ อ้างเหตุนักโทษล้นคุก เป็นการทำให้คำพิพากษาของศาลไม่มีความหมายต่อการลงโทษนักโทษให้หลาบจำ เรื่องนี้ประชาชนจับเป็นข้อพิรุธได้มากมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยี่หระไม่สนใจ

สว. ข้องใจระเบียบราชทัณฑ์ส่อเอื้อ “นักโทษเทวดา”

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตกรณีนายทักษิณมีบ้างประปราย และเป็นอดีตสมาชิก “กลุ่ม 40 สว.” ที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณมาก่อน

ในระหว่างการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 19 ธ.ค. นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ สว. ขอหารือพร้อมตั้งคำถามไปถึง รมว.ยุติธรรม รวมถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำ เป็นการออกระเบียบเพื่อช่วยเหลือคนคนเดียวหรือไม่ “ส่อเอื้อนักโทษที่ได้รับฉายาว่า ‘นักโทษเทวดา’ ชั้น 14 รพ.ตำรวจหรือไม่ เพราะใกล้ครบ 120 วันที่พักรักษาตัวนอกเรือนจำแล้ว ถือเป็นอภิสิทธิ์ชนที่แม้ได้รับการลดโทษแล้ว แต่ยังไม่ต้องติดคุกอีก”

สว. รายนี้ตั้งคำถามต่อไปว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีคำชี้แจงว่าป่วยหนักอย่างไรถึงได้นอนนอกเรือนจำ เป็นความเสื่อมกระบวนการยุติธรรม ขัดหลักนิติธรรมที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค ถือว่าละเมิดหลักนิติรัฐนิติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 26

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน เคยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงกรณีนายทักษิณต้องพักรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ แต่ กมธ. ไม่ได้รับข้อมูลการเข้ารับผ่าตัดหลายโรค เนื่องด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะใช้สิทธิรักษา

อย่างไรก็ตามในวันที่ 25 ธ.ค. นี้ กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ จะเชิญ รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ และการปฏิบัติกรณีอยู่นอกเรือนจำครบ 120 วัน


นายพิชิต ไชยมงคล ตัวแทน คปท. เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กมธ.สิทธิมุนษยชนฯ วุฒิสภา เมื่อ 20 ธ.ค. เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายทักษิณว่า ป่วยจริงและเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่

ก้าวไกลถามทำไม “มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังคนอื่น”

ด้านพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ไม่เคยปริปากพูดถึงเรื่องนายทักษิณ ได้ออกมาสื่อสารเป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้

“คุณทักษิณอยู่ รพ.ตำรวจจะครบ 120 วันแล้ว มันก็เกิดคำถามทำไมนายทักษิณถึงได้รับดูเหมือนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังคนอื่น” นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. ตั้งคำถามผ่านสื่อเมื่อ 19 ธ.ค.

หัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า เห็นด้วยหาก รพ.ราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่เพียงพอ ควรได้รับสิทธิออกไปรักษาข้างนอกได้ แต่ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังน้อยมากที่ได้รับสิทธินี้ คนที่ได้รับสิทธิส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง มีฐานะ คนธรรมดาไม่เคยได้รับ ทำไมนายทักษิณได้รับสิทธินี้เพียงคนเดียว รัฐบาลควรตอบสังคมให้ชัดเจน เพื่อให้สังคมสบายใจว่าทุกคนได้รับสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน

“ฝ่ายค้านจะต้องตรวจสอบแน่นอน คิดว่าฝ่ายบริหารควรตอบสังคมให้ได้ อย่าเงียบ หรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก”

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 21 ธ.ค. น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรค ก.ก. ได้ตั้งกระทู้ถามสด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ในการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาตัวอยู่ใน รพ. นอกเรือนจำ ได้ผ่านการเห็นชอบตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ เพราะสังคมตั้งคำถามกว้างขวาง ไม่อยากให้กระบวนการการยุติธรรมถูกลดความไว้วางใจไปมากกว่านี้

สส.ก้าวไกลกล่าวต่อไปว่า การที่นายทักษิณจะรักษาตัวข้างนอกเกิน 120 วัน เทียบกับผู้ต้องขังรายอื่น เช่น นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่ตรวจพบเป็นฝีที่ตับ แต่กลับถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างที่การรักษาไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่แพทย์ระบุเหตุของโรคมาจากความไม่ถูกสุขลักษณะในเรือนจำ และการที่ทักษิณรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่เป็นชั้นวีไอพีเหมาะสมและจำเป็นอย่างไร เพราะตามระเบียบราชทัณฑ์ห้ามผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป และการออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังนอกเรือนจำได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณหรือไม่ คดีใดบ้างจะเข้าตามระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์


รมว.ยุติธรรม ตอบกระทู้ถามสด สส. ก้าวไกล เมื่อ 21 ธ.ค.

อย่างไรก็ตาม นายกฯ อยู่ระหว่างการลางาน และมอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ตอบกระทู้แทน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
  • นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันที่ 22 ส.ค. ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่รัฐบาลนายเศรษฐาแถลงนโยบายวันที่ 11 ก.ย. “กระบวนการของคุณทักษิณ รัฐบาลนี้จึงไม่ได้รับรู้”
  • กรณีนายทักษิณไปรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำ เป็นไปตามหลักเกณฑ์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่นายทักษิณไปรักษาตัวอยู่ ไม่ใช่ชั้นพิเศษ แต่มีการรักษาความปลอดภัยตามระเบียบกรมราชทัณฑ์
  • หากจะมีการรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ต้องมีความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์และความเห็นแพทย์ยินยอม และส่งเรื่องให้ รมว.ยุติธรรมทราบ โดยวันที่ 21 ธ.ค. จะครบกำหนดที่นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน จึงต้องรอรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์ก่อน “ผมมีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น แต่ไม่ใช่ผู้อนุมัติเรื่องอาการป่วยคุณทักษิณ”
  • แพทย์ยืนยันว่าป่วยจริงหลายโรค ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง แต่การจะขอดูรายละเอียดอาการป่วยทั้งหมด ตามกฎหมายราชทัณฑ์ กฎหมายทางการแพทย์ ไม่สามารถกระทำได้ถ้าผู้ป่วยไม่ยินยอม
  • การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้คุมขังในสถานที่ไม่ใช่เรือนจำได้ เป็นการดำเนินการรองรับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เพราะไทยถูกตราหน้าจากสังคมโลกว่ามีเรือนจำที่มีนักโทษล้นคุก พร้อมย้ำว่า “ระเบียบที่ออกมาใช้ใหม่นี้ใช้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคุณทักษิณ” ยืนยันไม่มีอภิสิทธิ์ให้ใครคนใดคนหนึ่ง

กมธ.ตำรวจฯ ประกาศ “ไปดูงาน” รพ.ตำรวจ

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฝ่ายค้านอีกพรรคที่สมาชิกบางส่วนเคยยกมือโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ท่ามกลางกระแสข่าวรอเข้าร่วมรัฐบาล “ก๊อกสอง” ได้ออกมาส่งเสียง-สื่อสารประเด็นทักษิณบ่อยกว่าแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

ไม่ว่าจะเป็น การตั้งฉายา “นักโทษเทวดา” ในช่วงที่ระเบียบใหม่ราชทัณฑ์มีผลบังคับใช้ การตั้งคำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติ-สองมาตรฐาน จากกรณีนายทักษิณยังไม่ติดคุกเหมือนประชาชนนักโทษรายอื่น

แต่ความเคลื่อนไหวที่คึกโครมที่สุดในรอบสัปดาห์ เกิดขึ้นหลังวงประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เป็นประธาน เมื่อ 21 ธ.ค. โดยได้เชิญรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผอ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รักษาการผู้อำนวยการ รพ.ราชทัณฑ์ และฝ่ายกฎหมายทัณฑสถานเข้ามาชี้แจงต่อ กมธ. ซึ่งนายชัยชนะบอกว่า “กมธ. ยังไม่คลายข้อสงสัย 2 มาตรฐาน” และอยู่ระหว่างรอดูเอกสารเพิ่มเติม

นายชัยชนะประกาศว่า กมธ. มีมติจะเดินทาง “ไปดูงาน” ที่ชั้น 14 ของ รพ.ตำรวจ วันที่ 12 ม.ค. 2567 เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงให้คนไทยหายสงสัย

อย่างไรก็ตามโฆษก รพ.ตำรวจ ออกมาระบุวันนี้ (22 ธ.ค.) ว่า พื้นที่การควบคุมผู้ต้องขังตามคำสั่งศาลเป็นพื้นที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ รพ.ตำรวจ มีหน้าที่รักษาคนไข้เพียงอย่างเดียว อีกทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย


เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ส่งตัวนายทักษิณมารักษาที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ ตั้งแต่ 0.20 น. ของวันที่ 23 ส.ค.

แต่คนที่ออกมา “ดับฝัน” กมธ.ตำรวจฯ แบบชัดถ้อยชัดคำคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ที่บอกว่า “ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ป่วย และจะไปถามว่าเป็นโรคอะไร ก็ไม่เปิดเผย แต่ถ้าเปิดเผย ก็ถูกฟ้อง ระเบียบเป็นอย่างนี้กับทุกคน ไม่ใช่รายใดรายหนึ่ง”

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายสมศักดิ์เป็นคนแรกที่ออกมา “ฟันธง” ว่านายทักษิณเข้าเกณฑ์ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฉบับใหม่

“เข้าเกณฑ์ เพราะมีโทษไม่เกิน 4 ปี และไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในข่ายสิ่งที่น่ากลัวของสังคม แต่เป็นโทษที่ไม่ได้ เป็นภัยต่อสังคม และเป็นโทษที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ปี” นายสมศักดิ์ตอบตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเมื่อ 20 ธ.ค.
.....

...ตอบไม่ได้หรือไม่อยากตอบ