มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW
20h
ผ่านมา 5 ปี การแก้ปัญหา PM 2.5 ดีขึ้นแค่ไหน ทำไมต้องมี #กฎหมายPRTR
.
ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 กลายเป็นปัญหาที่คนไทยต้องเจอซ้ำๆ ทุกปี มาตั้งแต่ปี 2562 และสถานการณ์ปัญหาฝุ่นพิษก็ดูรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีท่าทีว่าปัญหานี้จะคลี่คลายลงได้
ข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น IQAir รายงานสภาพอากาศของกรุงเทพ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา10.00 น. ประเทศไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหาคร ทำให้ประชาชนต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง งดการเดินทางโดยเริ่มมีการปรับมาตรการการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศเป็นการปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work from home)
อีกทั้ง ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ช่วงเวลา 05.00-07.00 น. พบว่ามีค่าฝุ่นอยู่ที่ 71-121 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมี 38 พื้นที่ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ของไทยเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และช่วงเวลา 9.00-11.00 น. พบว่ามีค่าฝุ่นอยู่ที่ 71-130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมี 70 พื้นที่ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. พบว่ามีค่าฝุ่นอยู่ที่ 73-133 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยมี 70 พื้นที่ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่หากสะสมเป็นเวลานานก็อาจะก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอย่าง “มะเร็งปอด” ที่ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 มีนักวิจัยค้นพบว่ามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปอดได้จริง แม้ไม่เคยสูบบุหรี่ และมีข้อมูลว่ามนในปี 2565 คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่น PM 2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ 1,224.77 มวน
ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี เคยมีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2562 -2567
แม้จะมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2562 แต่การแก้ปัญหานี้ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ซึ่งแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพฯ นั้นอาจไม่ได้มาจากเครื่องยนต์ที่เกิดควันดำหรือการจราจรเพียงอย่างเดียว อาจจะมีแหล่งกำเนิดมาจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าที่มีการเผ้าไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ อีกด้วย
เมื่อมาตรการของรัฐไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เครือข่ายประชาชนจึงเดินหน้า #ฟ้องทะลุฝุ่น เมื่อ 22 มีนาคม 2565
โดยยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ “แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5” เพื่อคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน โดยยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล, กำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลโดยให้ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register #PRTR) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้
ต่อมา ภายหลังการฟ้องคดีข้างต้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ปรับค่าฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศใหม่ หลังจากไม่มีการปรับปรุงมาเป็นเวลา 10 ปี โดยปรับมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ส่วนมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายปี ต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับให้เป็นไปตามค่าเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก – WHO (Interim Target-3 มาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายปี กำหนดที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร )
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับข้อแนะนําขององค์กรอนามัยโลก-WHO แล้ว จะพบว่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 ของประเทศไทยยังไม่คุ้มครองสุขภาพและชีวิตของประชาชนในระดับที่ดีที่สุด เพราะยังห่างไกลค่ามาตรฐานความปลอดภัยของฝุ่น PM 2.5 ที่องค์การอนามัยโลก-WHO เสนอว่าเป็นเกณฑ์ปลอดภัย เนื่องจากมาตรฐานเฉลี่ยรายปีของประเทศไทยกำหนดที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ WHO เสนอให้ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ WHO เสนอให้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ให้มากที่สุดจากฝุ่น PM 2.5
การกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 อาจไม่เพียงพอและต้องมีกฎหมายเป็นการเฉพาะ ทำให้มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดหลายฉบับ แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจไม่ยอมให้คำรับรองกฎหมายจนเป็นผลให้ร่างกฎหมายสำคัญที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ อย่างน้อย 3 ฉบับถูกปัดตก โดยหนึ่งในนั้นมี ร่างพ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. เสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งกฎหมายนี้ถือเป็นทางออกสำคัญของการจัดการปัญหามลพิษ
แต่สุดท้ายแล้ว การเคลื่อนไหวเพื่ออากาศที่บริสุทธิ์โดยประชาชนยังไม่สิ้นสุด ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมีสิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศสะอาดสำหรับหายใจ
เราจึงขอเชิญทุกคนมาร่วมกันสนับสนุน #กฎหมายPRTR ซึ่งกว่า 50 ประเทศ ทั่วโลกมีการใช้กฎหมายนี้ เพื่อควบคุมแก้ไขปัญหามลพิษ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้
กฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถประเมินสถานการณ์และปัญหา มลพิษได้อย่างถูกต้องและสามารถจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม
มาร่วมกันลงชื่อผลักดันให้ประเทศไทยต้องมี #กฎหมายPRTR หรือ การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อบังคับให้แหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เปิดเผยข้อมูลมลพิษสู่สาธารณะ และทำให้การเข้าถึงข้อมูลมลพิษเป็นสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง
ร่วมกันเสนอกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนเพื่อ #สิทธิการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี >> https://thaiprtr.com
.
อ่านต่อ : https://enlawfoundation.org/pm25-prtr/