วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 19, 2566

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อธิบายความซับซ้อนของเครือข่าย ตุนมินลัต ผู้มีสายสัมพันธ์กับกองทัพพม่า ค้ายาเสพติดข้ามชาติ ฟอกเงิน และถูกโยงมาเกี่ยวกับไทย ที่ถูกพูดถึงในอภิปรายไม่ไว้วางใจ



ตุน มิน ลัต ทุนพวกพ้องในร่มธงตัดมาดอว์

18 ก.พ. 66
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
Thairath Plus

Summary
  • ตุน มิน ลัต ที่ถูกพาดพิงในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของไทยเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนให้ระบอบทหารของ มิน อ่อง หล่าย สร้างความร่ำรวยให้กับบรรดานายพลและพวกพ้องบริวาร
  • ตุน มิน ลัต มีบริษัทธุรกิจมากมายในพม่าและต่างประเทศ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่จะทำในชื่อ สตาร์ แซฟไฟร์ ซึ่งมีบริษัทในเครือทำหน้าที่ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับตัดมาดอว์
  • ตุน มิน ลัต เข้ามาเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจและนักการเมืองของไทยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน หลังจากที่พ่อของเขาเซ็นใบอนุญาตให้บริษัท Allure Group ก่อสร้างรีสอร์ตและกาสิโนที่ท่าขี้เหล็ก และเชื่อว่ามีผู้ถือหุ้นในไทย ที่เป็นวุฒิสมาชิกในเวลาต่อมา
ตุน มิน ลัต (Tun Min Latt) ที่ถูกพาดพิงในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของไทยเมื่อไม่กี่วันมานี้ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนให้ระบอบทหารของ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของตัดมาดอว์สามารถอยู่ในอำนาจอย่างมั่นคงและสร้างความร่ำรวยให้กับบรรดานายพลและพวกพ้องบริวาร แม้ว่าพวกเขาและครอบครัวจะถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกอย่างหนักก็ตาม

ตุน มิน ลัต อายุ 54 ปี เป็นลูกชายของ ขิ่น หม่อง ลัต อดีตนายทหารของกองทัพอากาศพม่า แต่เคยทำหน้าที่อธิบดีกรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมของกระทรวงชื่อเดียวกัน นั่นทำให้เขาสามารถใช้เส้นสายทำธุรกิจกับกรมพลาธิการทหารบกและบริษัท Myanmar Economic Holding รัฐวิสาหกิจสำคัญของตัดมาดอว์ ที่เป็นขุมทรัพย์ของนายพลพม่า นอกจากนี้เส้นสายของพ่อของเขาในกระทรวงท่องเที่ยวทำให้เขามีธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และกาสิโน ร่วมกับหุ้นส่วนชาวไทยอีกด้วย

เครือข่ายทางธุรกิจของ ตุน มิน ลัต ถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2022 โดยองค์กรทางด้านสิทธิมนุษย์ต่างประเทศ Justice for Myanmar หลายเดือนก่อนที่เขาจะถูกจับในเดือนกันยายน 2022 และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลไทยในเดือนธันวาคมในข้อหาค้ายาเสพติด และฟอกเงิน ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึงตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

ตุน มิน ลัต มีบริษัทธุรกิจมากมายในพม่าและต่างประเทศ แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเขา เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับตัดมาดอว์ จะทำในชื่อ สตาร์ แซฟไฟร์ (Star Sapphire) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีผู้เกี่ยวข้องไขว้กันไปมาเพียงไม่กี่คน อันได้แก่ วิน วิน โซ (Win Win Soe) ภรรยาของเขาเอง ขิ่น ทิรี เต็ต โมน (Khin Thiri Thet Mon) ลูกสาวของ มิน อ่อง หล่าย และเต็ด อ่อง (Htet Aung) ลูกชายของ ซิน ยอ (Zin Yaw) อดีตเสนาธิการทหารอากาศและอดีตผู้อำนวยการ Myanmar Economic Holding

บริษัทในเครือ สตาร์ แซฟไฟร์ เป็นบริษัทสำคัญที่ทำหน้าในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับตัดมาดอว์เป็นประจำ รายงานของ Justice for Myanmar เปิดเผยว่า ตุน มิน ลัต มีความใกล้ชิดกับมิน อ่อง หล่าย อย่างมาก เขาเป็นตัวกลางในการจัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆ จากอิสราเอลและจีนให้กับกองทัพพม่า

รายการอาวุธสำคัญๆที่เป็นฝีมือการดีลของตุน มิน ลัต เช่น ปืนสไนเปอร์จากอิสราเอล ยานยนต์หุ้มเกราะและปืนใหญ่ขนาด 100 มม.จากบริษัท NORINCO ของจีน และเขายังได้ชักนำให้บริษัทลูกของ NORINCO เข้าไปทำธุรกิจเหมืองแร่ในพม่าอีกด้วย

บริษัท สตาร์ แซฟไฟร์ ยังได้จัดหาอุปกรณ์ในการต่อเรือจากบริษัทต่อเรืออิสราเอลและจัดหาเรือปืนจากอิสราเอลเช่นกันให้กับกองทัพเรือพม่า และทำดีลกับ Elbit System ของอิสราเอลเพื่อจัดหาอากาศยานไร้คนขับ Skylark UAV และระบบเรดาร์ให้กับกองทัพอากาศพม่า

ตุน มิน ลัต เกี่ยวข้องกับลูกสาวมิน อ่อง หล่าย ผ่านบริษัท Star Thiri Investment ซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจหลายอย่างตั้งแต่ เหมืองแร่ พลังงาน ก่อสร้าง การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงกาสิโน โดยบุคคลที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทร่วมกันคือ วิน วิน โซ และ เต็ต อ่อง และ ขิ่น ทิรี เต็ต โมน ซึ่งตอนหลังมีข่าวว่าถอนหุ้นออกไปก่อนที่พ่อของเธอจะทำการยึดอำนาจ แต่ก็ยังไม่แน่นักว่าจะเป็นการถอนออกไปจริง เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ยังใส่ชื่อของเธอและบริษัทนี้อยู่ในบัญชีที่จะต้องถูกคว่ำบาตรด้วย

Justice for Myanmar รายงานว่าบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในเดือนเมษายน 2021 คาดว่าเพื่อหลบเลี่ยงการคว่ำบาตร

ตุน มิน ลัต เข้ามาเกี่ยวข้องกับอดีตนักการทูต นักธุรกิจและนักการเมืองของไทยเมื่อกว่า 20 ปีก่อน หลังจากที่พ่อของเขาเซ็นใบอนุญาตให้บริษัท Allure Group ก่อสร้างรีสอร์ตและกาสิโนที่ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2003 มีรายงานจ่ายค่าสัมปทานให้กับกระทรวงท่องเที่ยวและการโรงแรม 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของรีสอร์ตกาสิโนแห่งนั้น และกระทรวงท่องเที่ยวได้โอนกิจการพร้อมทั้งรายได้ให้กับกรมพลาธิการทหารบกเมื่อปี 2017 เพื่อความสะดวกในทางบัญชี เพราะในความเป็นจริงกระทรวงท่องเที่ยวอยู่ใต้อาณัติของตัดมาดอว์มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

บริษัท Allure Group นั้นก็มีความซับซ้อนไม่ชอบมาพากลอยู่หลายส่วน บริษัทนี้จดทะเบียนทั้งฝั่งพม่าและฝั่งไทย โดยฝั่งพม่านั้นเป็นบริษัทในเครือ สตาร์ แซฟไฟร์ ส่วนในไทยนั้นเป็นบริษัทจดทะเบียนเป็นของเอกชนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นที่เชื่อกันว่าคนที่อำนาจจริงน่าจะเป็น ตุน มิน ลัต เพราะเขาได้ใช้ชื่อบริษัทนี้ในการทำธุรกิจกับต่างประเทศในหลายกิจการด้วยกัน เช่น ด้านพลังงาน การค้าและการท่องเที่ยว

หุ้นส่วนชาวไทยของบริษัทนี้อ้างว่าได้ขายหุ้นทั้งหมดไปแล้ว ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งวุฒิสมาชิกในปี 2019 แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ขายออกไปให้ใครที่ไหนไกลนัก เพราะคนที่ถูกจับในประเทศไทยพร้อมกับ ตุน มิน ลัต ก็เป็นลูกเขยของเขาเอง อีกทั้งเลขานุการส่วนตัวยังคงรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทตามปกติ

อีกโครงการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับไทยแต่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนัก คือโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแก๊สที่กันบวก ภาคตะนาวศรี ซึ่งบริษัท สตาร์ แซฟไฟร์ ร่วมกับ อันดามัน เพาเวอร์ ทำสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นตะนาวศรีในปี 2014 ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นรัฐบาลของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) โดยโครงการในระยะที่สอง ซึ่งจะสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์เพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตพม่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ไม่กี่วันก่อนที่อำนาจการปกครองท้องถิ่นจะถูกถ่ายโอนไปให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งในปลายปี 2015

เรื่องมาเกี่ยวกับไทยตรงที่ว่า บริษัทนี้ผู้อำนวยการร่วมคือ ตุน มิน ลัต และวุฒิสมาชิกชาวไทย อีกทั้งผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งก็เป็นชาวไทย

เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เปิดเผยออกมานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่จมอยู่ด้านล่างอาจจะเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ของระบอบทหารและทุนนิยมพวกพ้องในพม่า ที่หมายถึงการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันของอำนาจทางทหารและผลประโยชน์ทางธุรกิจทั้งถูกและผิดกฎหมาย ซึ่งยากที่จะตรวจสอบได้