วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 05, 2566

แม้ "ตะวัน" กับ "แบม" ไม่ใช่ลูกผม และผมไม่เคยพบน้องทั้งสอง... แต่ผมทุกข์ใจจนบอกไม่ถูก - กิตติรัตน์ ณ ระนอง --- ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น... โปรดคืนสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองโดยเร็วที่สุด - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์


กิตติรัตน์ ณ ระนอง - Kittiratt Na-Ranong
3d
แม้ "ตะวัน" กับ "แบม" ไม่ใช่ลูกผม และผมไม่เคยพบน้องทั้งสอง... แต่ผมทุกข์ใจจนบอกไม่ถูก
ถ้าไม่ใช่รัฐบาลแบบนี้ น้องๆ คงไม่ต้องอยู่ในนั้น และไม่ต้องทำแบบนี้


Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
February 2
เรื่องของตะวัน-แบม-สิทธิโชค คือเรื่องของเราทุกคน

เข้าสู่วันที่ 15 ที่คุณตะวันและคุณแบม อดอาหารและน้ำ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
.
ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น
.
"บูมเมอแรงปาออกไปมันกลับมาหาเรา"
.
ผู้แทนราษฎรในที่นี้ มีพ่อแม่ของเราที่สู้มาก่อน มีเราที่กำลังสู้อยู่ และมีลูกหลานของท่านที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าวันหนึ่งเขาอาจเอาชีวิตเข้าไปแลกกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง อาจเป็นลูกของผมก็ได้
.
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของเราทุกคนในประเทศไทย การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็เท่ากับไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเที่ยงตรงกับคนไทยทั้งประเทศเช่นกัน
.
ชมคลิปเต็ม: https://youtu.be/OTW5dhb2exA

เรื่องของแบม ตะวัน และสิทธิโชคเป็นเรื่องของเราทุกคน โปรดคืนสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองโดยเร็วที่สุด

Feb 1, 2023

สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามหลักการระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ แม้หากการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกนั้นอาจมีข้อจำกัดในทางกฎหมาย อันนำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นหรือผู้แสดงออก แต่ประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็ย่อมมีสิทธิในการต่อสู้คดีและการได้รับการประกันตัวตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อีกทั้งหน่วยงานรัฐและกระบวนการยุติธรรมก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้นั้นบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตามในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเยาวชนกลับเข้าไม่ถึงสิทธิในการประกันตัว อันอาจเป็นปัญหามาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือดุลยพินิจรายกรณีจนถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการ นักกฎหมาย ทนายความ ภาคประชาสังคม และประชาชนเป็นจำนวนมาก อันนำมาซึ่งการแสดงออกด้วยอารยะขัดขืนของคุณทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และคุณอรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ได้แสดงออกด้วยการอดอาหารในระหว่างที่ถูกคุมขัง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง ถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นแทรกแซงการใช้อำนาจของตุลาการในการพิจารณาอรรถคดีใดคดีหนึ่ง และข้อเท็จจริงจนถึงปัจจุบันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้พูดถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นสมควรที่รัฐบาล สภา และ ศาล ได้ร่วมกันพิจารณาและหาทางออก

ผมมี 3 ประเด็นที่ขอเสนอ

ประเด็นที่ 1 ขอโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องที่คุณตะวันและคุณแบมทำอยู่นั้น เป็นเรื่องของเราทุกคน ห่างจากที่นี่ 37 กิโลเมตร ประชาชน 2 คน ตัดสินใจใช้ร่างกายของตัวเองในการต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด ที่รัฐควรให้กับประชาชน นั่นคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ที่อิสระ ที่เที่ยงตรง และที่ผู้คนเชื่อถือเป็นที่พักพึง 

ผมเป็นนายประกันของคุณตะวันด้วยความภาคภูมิใจ มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเขา ได้พูดคุยและสอบถามอาการ รู้สึกได้ว่าอาการของทั้ง 2 นั้นนับถอยหลังกันเป็นชั่วโมง แน่นอนว่าผมเป็นคนหนึ่งที่เป็นห่วงผลกระทบต่อร่างกาย แต่สำหรับนักสู้ทางการเมืองสองคนนั้น สุขภาพหรือความอิดโรยของเขาไม่ใช่เรื่องหลักที่เขาเป็นห่วงแม้แต่น้อย สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือ ระบบยุติธรรมของประเทศนี้ สิทธิในการประกันตัวของทุกมาตราในระบบกฎหมายอาญาที่มีอยู่ และเป็นห่วงเพื่อนของเขาทั้ง 15 คนที่ควรได้รับสิทธิประกันตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข

เรื่องนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน เป็นเรื่องของเกษตรกรที่โดนยึดที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องของพี่น้องแรงงานที่อาจถูกว่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม แต่เมื่อไปพึ่งระบบยุติธรรมกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นเรื่องของนักสู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่โดนฟ้องปิดปาก เป็นเรื่องของผู้แทนราษฎรทุกคน

ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น

"บูมเมอแรงปาออกไปมันกลับมาหาเรา" ผู้แทนราษฎรในที่นี้ มีพ่อแม่ของเราที่สู้มาก่อน มีเราที่กำลังสู้อยู่ และมีลูกหลานของท่านที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าวันหนึ่งเขาอาจเอาชีวิตเข้าไปแลกกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง อาจเป็นลูกของผมก็ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของเราทุกคนในประเทศไทย การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็เท่ากับไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเที่ยงตรงกับคนไทยทั้งประเทศเช่นกัน

ประเด็นที่ 2 คือสมดุลของ 3 เสาหลักในการแก้ปัญหาของประเทศไทย ที่ผมได้อภิปรายครั้งแล้วครั้งเล่าว่าในทุกสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกของยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อาจมีความเห็นต่างบางอย่างที่เราสบายใจหรือไม่สบายใจ อาจเป็นความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจที่เราไม่อยากรับฟังและทนไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรได้นอกจากรับฟังเขาและหาฉันทามติร่วมกัน ฉันทามติเก่าในความปกติใหม่ไม่สามารถทำให้ประเทศไปสู่อนาคตได้

แต่ความเป็นจริง แทนที่เราจะรับฟังร่วมและกันหาฉันทามิตใหม่ให้กับสังคมเรา รัฐเรากลับเลือกใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ความรุนแรงทางกฎหมาย และความรุนแรงจากการเพิกเฉย กดปราบผู้เห็นต่าง

ในฐานะผู้แทนราษฎร อันเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยที่เป็นตัวแทนใช้อำนาจของประชาชน เราไม่อาจเพิกเฉยได้ เมื่อรัฐบาลถูกประชาชนตั้งข้อสงสัยว่ากำลังใช้อำนาจโดยมิชอบ บิดเบือนกฎหมายมาปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง ไม่อาจเพิกเฉยได้ ที่ตุลาการถูกตั้งคำถามว่ามีบรรทัดฐานที่แตกต่างจากปกติหรือไม่ในการดำเนินคดีและให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งที่หลักกฎหมายสากลระบุไว้ว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตราชั่งที่เอียง จะพาประเทศพังพินาศ และแม้ตราชั่งคิดว่าตนเที่ยงตรง แต่ประชาชนต่างสงสัยว่ามันเอียง ก็สามารถพาประเทศพินาศได้เช่นกัน

ประเด็นที่สาม เราต้องหาทางออกของประเทศผ่านบันได 3 ขั้นนี้โดยเร็วที่สุด 1. ขั้นที่หนึ่ง คืนสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาควรได้ตั้งแต่แรก ให้กับผู้ต้องหาจำเลยทั้ง 15 คน โดยไม่มีเงื่อนไข 2. ขั้นที่สอง คือการนิรโทษกรรมคนที่เห็นต่างทางการเมืองและนักโทษคดีการเมือง เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน 3. ขั้นสุดท้าย คือการแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน (ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายฟ้องปิดปาก) เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคตอีก ซึ่งเป็นข้อเสนอของพรรคก้าวไกลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาในสภา

เชื่อว่าถ้าเราทำตามบันได 3 ขั้นนี้ น้องทั้งสองคนมีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป และฉลองชัยชนะของประชาชนไปด้วยกัน