การที่ ‘ตะวันและแบม’ ยอมรับการเยียวยาขั้นต่ำ เช่น ‘น้ำเกลือ’ เพื่อประทังชีวิตเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าเธอทั้งสอง ‘แพ้’ ในเกมนี้ และที่จริงมันไม่ใช่เกม แต่เป็นการต่อสู้เพื่ออยู่รอดทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนยอมรับ
ข้อสำคัญยิ่งยวดกว่านั้น ความผิดในการกระทำโหดเหี้ยมต่อมนุษยชาติอย่างร้ายแรงของตุลาการไทย ยังมิได้หมดไป ข้อหาที่เป็นคดีอาญานานาชาติ ที่เรียกว่า ‘การควบคุมตัวโดยพลการ’ ของศาลไทย ยังมีอยู่แจ่มแจ้งและจริงจัง
เหตุนี้ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ไทย จึงได้ยื่นคำร้องเร่งด่วน ในนามของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ภู่พงษ์ ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD
การควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา โดยผิดต่อกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ในเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ของทางการไทยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ตุลาการ หรือราชทัณฑ์ ยังคงเป็นการละเมิดและอาชญากรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น ‘อาชญากรรม’ ที่ทำในนามของ และเพื่อสถาบันกษัตริย์ไทย การจับกุมและควบคุมตัวตะวันกับแบม เป็นการละเมิดกติการะหว่างประเทศ ICCPR ข้อ ๙ การดำเนินคดีด้วยความไม่ยุติธรรม เช่นที่ศาลทำกับนักกิจกรรมหลายคน เข้าข่ายข้อ ๑๔, ๑๙ และ ๒๖
ศูนย์ทนายฯ หรือ TLHR ระบุในคำร้องเร่งด่วนนี้ว่า ข้อ ๙ “มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น” จริงๆ เท่านั้น
“ศาลไม่สามารถสั่งคุมขังบุคคลเพียงเพราะ ข้อหามีความร้ายแรงและมีโทษสูง” ดังที่ศาลมักอ้างอย่างเคยตัวเป็นนิจสิน ในคดีข้อหาอาญา ม.๑๑๒ ม.๑๑๖ และ พรบ.คอมพิวเตอร์ ม.๑๔ (๒) (๓) แม้แต่การตั้งเงื่อนไขที่เคร่งครัดสำหรับการอนุญาตประกันตัว
ไม่ว่าจะเป็นการ “ติดกำไล EM ห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อัน ‘อาจ’ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ล้วนเป็นข้ออ้างกดขี่ข่มเหงผู้ถูกกล่าวหาทั้งนั้น
“กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายภาคส่วน ได้ย้ำข้อกังวลซ้ำหลายรอบต่อการบังคับใช้มาตรา ๑๑๒” ของประเทศไทย ว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชน จะอ้างความจำเพาะ หรือ unique ของธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเผด็จการ ไม่ได้