วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 09, 2566

‘ฉลาด วรฉัตร’ กับการอดอาหารเพื่อปฏิรูปการเมือง



การอดอาหารของ “ฉลาด วรฉัตร” อันนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง

ภีรดา
7 กุมภาพันธ์ 2566
สถาบันปรีดี พนมยงค์

ในขณะเขียนบทความนี้ เรายังไม่ทราบว่าชะตากรรมของสองเยาวชนหญิง คือ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ จะดำเนินไปถึงจุดใด หลังจากที่ทั้งสองเลือกใช้วิธีการอดอาหาร เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ได้แก่
  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง
  3. เรียกร้องทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
สืบเนื่องจากปฏิบัติการอดอาหารมากว่า 19 วัน แถลงการณ์คณะแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระบุว่า “ทั้งคู่มีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น มีภาวะเลือดเป็นกรด ปฏิเสธการรักษาด้วยน้ำเกลือผสมน้ำตาลและเกลือแร่”


ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน)
ที่มา : ประชาไท


อรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)
ที่มา : ประชาชาติ

สถานการณ์ที่น่ากังวลเช่นนี้ ชวนให้สังคมไทยกลับมาทบทวนข้อเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวทั้งสองอย่างจริงจัง

บทความนี้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการชี้ให้เห็นคุณูปการบางด้านของวิธีการอดอาหาร (Hunger Strike) ในฐานะที่เป็นวิธีการสากลเพื่อยกระดับสังคมผ่านการกระตุ้นสามัญสำนึกของคนร่วมผืนดินเดียวกัน พร้อมกับเสนอว่า สภาวะบีบหัวใจครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมไทยต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า เหตุใดข้อเรียกร้องของการทรมานร่างกายด้วยวิธีนี้ของเยาวชนหญิงทั้งสองจึงมีน้ำหนักน่ารับฟังเร่งด่วน
 
การทรมานตนเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของทั้งสังคม

อะไรทำให้การอดอาหาร กลายมาเป็นเครื่องมือของการเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อจะตอบคำถาม เราควรจะเริ่มพิจารณาจากทฤษฎีของการต่อต้าน ซึ่งถือกันว่าการอดอาหารเป็นวิธีการหนึ่งในปฏิบัติการต่อต้านแบบสันติ (Non-Violent Resistance) เพื่อกระตุ้นมโนธรรมสำนึกต่อสังคมที่เธอและเขาเผชิญอยู่

ในทางประวัติศาสตร์ การอดอาหารเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมเกิดขึ้นเป็นระลอกตลอดหน้าประวัติศาสตร์ อาทิ การอดอาหารของกลุ่มขบวนการผู้หญิงในต้นศตวรรษที่ 20 ทั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ในกลางศตวรรษที่ 20 การอดอาหารประท้วงกลายเป็นเครื่องมือของขบวนการชาตินิยมในอินเดีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสัตยาเคราะห์ อหิงสา และสันติวิธี อันนำโดย มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดีย ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
 

มหาตมะ คานธี
ที่มา : wikipedia

ในเวลาต่อมา กรณีทั้งสองได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบอย่างของการต่อสู้แบบสันติวิธีเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมที่เป็นธรรม

ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 21 ยังคงมีการใช้วิธีการเช่นนี้ ตั้งแต่คุกบริเวณอ่าวกวนตานาโม ไปจนถึงทะเลทรายซาฮารา โดยผู้ลงมือปฏิบัติการส่วนใหญ่ คือผู้ด้อยอำนาจในสังคม เธอและเขาอาศัยความกล้าหาญและความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจเข้าสู่การอดอาหาร ตัวอย่างที่ควรค่าแก่การระลึกเกิดขึ้นกับชีวิตของหญิงสาวชาวซาฮาราตะวันตก นาม Aminatou Haidar เธออดอาหารในสเปน เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยเพื่อนนักโทษการเมือง และต้องการประท้วงคำสั่งเนรเทศเธอของรัฐบาล


Aminatou Haidar
ที่มา : Right Livelihood

32 วันคือระยะเวลาอันยาวนานกว่าครั้งใด Haidar คุณแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 43 ปี ร่างกายเริ่มทรุดโทรม จากการดื่มเพียงน้ำผสมน้ำตาลตลอดเวลา 1 เดือน ก่อนที่ในที่สุดประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยโดยขอให้รัฐบาลโมร็อกโกคืนหนังสือเดินทางให้กับเธอจะเห็นได้ว่าปฏิบัติการอดอาหารจะเกิดผลได้ มิได้เกิดขึ้นจากความเห็นอกเห็นใจหรือความเมตตาปรานีจากผู้มีอำนาจมากเท่ากับว่า ผู้คนซึ่งมองเห็นความอยุติธรรมร่วมกันด้วยการอาศัยสามัญสำนึกธรรมดา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเจตนารมณ์

‘ฉลาด วรฉัตร’ กับการอดอาหารเพื่อปฏิรูปการเมือง

ในสังคมไทยเอง แม้ว่าการอดอาหารประท้วงจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น เช่น การเดินขบวนประท้วง การปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ การจัดแฟลชม็อบ ฯลฯ แต่การอดอาหารเพื่อเรียกร้องทางการเมืองของไทยที่น่าจดจำเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 หลังจากคณะรักษารักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ภายใต้เหตุผลของการยึดอำนาจ 5 ข้อ ได้แก่ 
  1. รัฐบาลมีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง
  2. ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ
  3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
  4. รัฐบาลมีความพยายามทำลายสถาบันทหาร
  5. รัฐบาลบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
การปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการของกองทัพซึ่งห่างหายไปยาวนานนับ 10 ปี กลับมาอีกครั้ง แต่การยึดอำนาจครั้งนี้กลายเป็นต้นทุนที่มีราคาสูงขึ้น เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ต้นปี 2535 ประชาชนเริ่มไม่พอใจความพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารผ่านพรรคการเมือง

ณ จุดนี้เอง เริ่มมีกระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และจุดของความอดทนสูงสุดเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ซึ่งพรรคการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจได้มีการยกมือให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในสมาชิกคณะรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ชื่อของ ‘ฉลาด วรฉัตร’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราดและกรุงเทพมหานคร เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ณ ตรงนี้ ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนต่อพรรคการเมืองที่ร่วมกันสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร เขาเริ่มอดข้าวประท้วงที่หน้ารัฐสภาประกาศว่าจะอดข้าวจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่นักศึกษา ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเริ่มตั้งคำถามหนักมากขึ้นต่อการสืบทอดอำนาจ


ฉลาด วรฉัตร
ที่มา : ประชาไท

มีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการนำผ้าสีดำ มาติดไว้ทุกข์ ส่วน ส.ส. จำนวนหนึ่งร่วมกันสวมชุดดำเดินเข้าสภา กระทั่งวันที่ 20 เมษายน 2535 มีการจัดชุมนุม “รวมพลังประชาชนเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย” ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงตรงนี้นับเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมนับแสนคน และในช่วงเวลาเดียวกัน นักวิชาการอาจารย์ มหาวิทยาลัย จึงค่อยๆ เริ่มเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น กระทั่งมีการจัดตั้งองค์กรประสานงานในการเคลื่อนไหวในนาม “นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย”

ข้อคิดของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อันมีจุดตั้งต้นจากความไม่พอใจและการอดอาหารของฉลาด มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2535 ก่อนที่ประชาชนจะถูกปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต แต่ความสูญเสียครั้งนั้นก็ทำให้ผู้นำรัฐประหารลงจากอำนาจ ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยมิได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว เพราะแม้ว่าการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปีนั้นจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมาสู่ประชาธิปไตยจริง โดยมีการเลือกตั้งในปี 2536 พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่การปฏิรูปการเมืองก็ยังคงไม่เกิดขึ้น ฉลาด วรฉัตร กลับมาทวงเจตนารมณ์ของการต่อสู้ของ “คนเดือนพฤษภา” นั่นคือ หลักการให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากแม้ว่าสังคมไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่พบว่ากระบวนการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าได้เกิดขึ้น อีกทั้งยังคงมีการใช้รัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารอยู่

ในวาระครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ฉลาดเริ่มอดอาหารประท้วงพร้อมกับยื่นข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับสภาผู้แทนราษฎร 2. ให้มีคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง 3. ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ 4.ให้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีจากประชาชนทุกตำบล

การอดอาหารและเสนอข้อเรียกร้องครั้งนั้น นำไปสู่การถกเถียงเพื่อหาทางออกจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการ สื่อมวลชนและภาคประชาสังคม การเริ่มปฏิรูปการเมือง จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ในเวลาต่อมาจึงเริ่มขึ้นจากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น

คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ซึ่งในทางวิชาการถือว่าเป็นต้นทางของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และได้รับการยอมรับว่ามีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในปี 2537 ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค แต่งตั้งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน

การประชุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 800 คนประกอบด้วย ภาคประชาสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย นักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ จึงเริ่มเคลื่อนไหวอย่างจริงจังให้มีการผลักดันวาระการปฏิรูปการเมือง

การปฏิรูปการเมือง อันตั้งต้นจากการอดอาหารของ ‘ฉลาด วรฉัตร’ นับเป็นส่วนที่สำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทย ความอนาทรร้อนใจต่อการประท้วงด้วยการอดอาหารของผู้คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยเคยได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่านำพาบ้านเมืองไปสู่ทางออกที่ดีงามได้ ฉะนั้นเพื่อเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานี้

การนำกรณีศึกษาจากปลายทศวรรษ 2530 มาพิจารณาร่วมกับการอดอาหารประท้วงของเยาวชนหญิงทั้งสองในปัจจุบัน อาจจะช่วยให้เราร่วมกันหาทางออกที่บาดเจ็บร่วมกันให้น้อยที่สุดได้ ระยะเวลาในการอดทนทรมานต่อความหิวโหยจึงมิใช่จุดชี้ขาดของสถานการณ์มากเท่ากับว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจในการแก้ปัญหาจะตระหนักต่อเจตนารมณ์ได้เร็วทันเหตุหรือช้าเกินการ