วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 13, 2566

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายเพื่อสร้างบ้านมั่นคง ของชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนที่อยู่ริมทางรถไฟตรงข้ามแอร์พอร์ตลิงค์พญาไทเป็นหนึ่งในชุมชนที่จะถูกเรียกคืนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)


The Better news
18h

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของชุมชนบุญร่มไทร
กับข้อเรียกร้องสร้างบ้านมั่นคง
.
“ เราไม่ได้อยากอยู่อย่างผิดกฎหมาย มีการไปออกข่าวบิดเบือนว่าเราต้องการมาอยู่ฟรี ซึ่งเราก็ไม่ได้ต้องการจะอยู่ฟรีเลย พวกเราแค่ต้องการจะจ่ายเงินและเช่าอย่างถูกกฎหมาย จะได้กินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องระแวงเรื่องหมายศาล ไม่ต้องระแวงตำรวจมาจับ “
.
เชาว์เกิด อารีย์ ผู้นำชุมชนบุญร่มไทร ที่อยู่อาศัยในชุมชนนี้มา 20 กว่าปี เล่าถึงความตั้งใจของคนในชุมชนที่อยากจะอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายเพื่อประกอบอาชีพสุจริต เป็นหนึ่งในฟันเฟืองหล่อเลี้ยงสังคมเมือง
.
ชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนที่อยู่ริมทางรถไฟตรงข้ามแอร์พอร์ตลิงค์พญาไทเป็นหนึ่งในชุมชนที่จะถูกเรียกคืนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พื้นที่บริเวณนั้น เพื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
.
“ ตอนนี้ก็สามารถขอเช่าได้อย่างถูกต้องในเฟสแรกแล้ว 15 หลัง ทางการรถไฟก็เอื้อเฟื้อให้เราเช่าที่ดินชั่วคราวต่อสัญญาปีต่อปี ”
.
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ชุมชนบุญร่มไทรได้มีการเจรจาพูดคุยและแก้ปัญหาร่วมกัน ระหว่าง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ ,เจ้าหน้าที่การรถไฟ และ บริษัทท่อน้ำมัน จากการเจรจาสามารถทำ ทด.3 สำเร็จอีกหนึ่งพื้นที่ และพื้นที่ริมทางรถไฟนี้สามารถสร้างบ้านพักชั่วคราว เฟส 2 ให้ผู้ถูกไล่รื้อ ได้ครบทั้ง 30 หลัง รวมกันเป็น 45 หลังคาเรือน ทั้งของบุญร่มไทรและแดงบุหงา เป็นขนาด หน้ายาว 110 เมตร ลึก 6 เมตร
.
“แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต่อสู้กันมา 3 ปีเต็ม พึ่งจะมาสำเร็จตอนนี้แหละ เหลือแค่การขอเช่าที่ดิน รฟท. อีกที่นึงให้มีเอกสารชัดเจน เราก็พร้อมจะย้ายออกทันที ”
.
ทางชุมชนบุญร่มไทรได้ตกลงพูดคุยกันในเบื้องต้นกับ รฟท. ว่าจะขอเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของ รฟท. บริเวณซอยหมอเหล็งเพื่อทำโครงการบ้านมั่นคงซึ่งอยู่กัน 5 ชุมชน จากการตกลงสามารถเช่าได้ในระยะยาว 30 ปี ต่อสัญญาเนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นไม่ได้ใช้สำหรับการเดินรถ โดยจะมีการเข้าไปพูดคุยที่กระทรวงคมนาคมอีกครั้งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้
.
ชุมชนที่เดือดร้อนจากการพัฒนาพื้นที่เดินรถการรถไฟรวมกลุ่มกันเป็น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ หรือ ชมฟ. โดยเป็นการรวมตัวกันของ 14 ชุมชน
1. ชุมชนบุญร่มไทร
2. ชุมชนแดงบุหงา
3. ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา
4. ชุมชนหลัง rca
5. ชุมชนหมอเหล็ง
6. ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน
7. ชุมชนโรงเจมักกะสัน
8. ชุมชนนิคมมักกะสัน
9. ชุมชนหลังวัดมักกะสัน
10. ชุมชนพัฒนา กม.11
11. ชุมชนริมคลอง กม.11
12. ชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้างบางซื่อ
13. ชุมชนซอยสะพานร่วมใจดอนเมือง
14. ชุมชนพระราม 6
.
โดยทาง ชมฟ. ได้เตรียมข้อเสนอไปยื่นกับทางกระทรวงคมนาคม
1. ขอหยุดยั้งหมายบังคับคดีเนื่องจากทางชุมชนได้ทำ ทด.3 กับทางการรถไฟแล้ว
2. ขอหนังสือเข้าพื้นที่บริเวณซอยหมอเหล็งเพื่อเช่าสถานที่เพื่อดำเนินการสร้างบ้านมั่นคง
3. ขออนุมัติเช่าที่ดินในย่านบางซื่อเพื่อเช่าสถานที่ในการสร้างบ้านมั่นคง
.
โดยก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ ได้มีการพบปะพูดคุยกับชุมชนฯ เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และหาทางออกร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของชุมชนบุญร่มไทร การรถไฟฯ ได้มีความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด 315 ยูนิต บริเวณพื้นที่ริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี สำหรับรองรับการย้ายของชุมชนให้ไปเช่าอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้โครงการเหลือเพียงการขออนุมัติของหน่วยงานรัฐ และการออกแบบเพื่อก่อสร้าง
.
เรื่อง และ ภาพ : อานันท์ ชนมหาตระกูล
.
#ArnunChonmahatrakool
#TheBetterNews #TheBetterPhoto
#BetterTogether #ชุมชนบุญร่มไทร