วันเสาร์, มกราคม 14, 2566

กระบวนการ “อยุติธรรม” ต่อเด็กและเยาวชนผู้เห็นต่าง : อีกหนึ่ง “อัตลักษณ์” ของการใช้อำนาจแบบไทยๆ



กระบวนการ “อยุติธรรม” ต่อเด็กและเยาวชนผู้เห็นต่าง : อีกหนึ่ง “อัตลักษณ์” ของการใช้อำนาจแบบไทยๆ

13/01/2566
ภาสกร ญี่นาง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ท่าทีการใช้อำนาจและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมสามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงรูปร่างหน้าตาของรัฐนั้นๆ ได้เป็นอย่างดีว่า มีความฉ้อฉล ความหน้าไหว้หลังหลอก หรือเป็นรัฐที่ไม่สนใจใยดีกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ความเคารพกับสิทธิมนุษยชนของพลเมืองตนมากน้อยเพียงใด

บทความนี้จะพยายามลองมุ่งสำรวจกระบวนการยุติธรรมหรือการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติที่รัฐไทยมีต่อเด็กและเยาวชนในคดีทางการเมือง ทั้งนี้ หลักการพื้นฐานสำคัญ คือ รัฐไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนโดยให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์สูงสุดและการใช้เสรีภาพของพวกเขาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

เนื้อหาบทความจะพิจารณาถึงหลักการที่กำหนดว่ารัฐไทยมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในบริบทของการแสดงออกทางการเมืองอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมคดีเด็กและเยาวชนตามหลักสากล เพื่อนำมาเป็นกรอบวิเคราะห์ในส่วนถัดไปว่า รัฐไทยนั้นมีปัญหาหรือข้อบกพร่องในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชนหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงรูปร่างลักษณะของ “กระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ” ได้ในระดับหนึ่ง



หน้าที่ของรัฐต่อเยาวชนในการเคารพสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

เสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิ่งที่รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับซึ่งก่อให้เกิดพันธกรณีที่รัฐไทยหรือรัฐสมาชิก จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ข้อสำคัญ คือ กฎหมายระหว่างประเทศได้วางหลักการเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ และระเบียบความสัมพันธ์ที่รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชนไว้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เพียงแนวความคิดเลื่อนลอย ไร้แก่นสาร อีกทั้งยังถือเป็นหลักการที่ประชาคมโลกส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องตรงกัน เพื่อใช้เป็นหลักคิดสำหรับการสถาปนาระบอบการเมืองที่ยุติธรรม

ในเฉพาะบริบทที่เกี่ยวข้องการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้วางหลักการไว้ว่า รัฐสมาชิกทุกรัฐมีหน้าที่ต้องรับรองส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองได้อย่างเสรี[1] บุคคลทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นใดๆ โดยปราศจากการแทรกแซง[2] และยังมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงออกทางการเมือง สื่อสารกับผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม[3]

นอกจากนี้ หากเจาะจงไปที่สิทธิเสรีภาพของเด็กและเยาวชน ตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรัฐไทยได้ลงนามภาคยานุวัติรับรองไว้ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 กำหนดให้รัฐไทยมีพันธะผูกพันที่จะดำเนินการให้เด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมตามอนุสัญญาดังกล่าว อันรวมถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพทางความคิดและมีความคิดเป็นของตนเอง ตลอดจนสิทธิที่ในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ การจำกัดสิทธิต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยเท่านั้น[4]

ในเรื่องทางการเมือง จึงไม่ได้ถือเป็นธุระของผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียว แต่เด็กและเยาวชนย่อมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และรัฐไทยมีหน้าที่ในการคุ้มครองส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความคิดเป็นของตนเอง และมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของตนได้อย่างอิสระ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกฎหมายหรือกฎระเบียบอย่างอื่นที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งคำว่า “ความมั่นคง” ในที่นี้จะต้องไม่ตีความให้หมายถึงความมั่นคงของรัฐบาล หรือตีความไปในทางที่ทำให้เกิดการถดถอยในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสถาปนาระบอบประชาธิปไตย[5]


รัฐต้องดำเนินคดีอาญาต่อเด็กและเยาวชนด้วยกระบวนการที่เหมาะสม

องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับรัฐที่ต้องการประกาศตนว่าเป็นรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย คือ หลักการปกครองของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรม (due process) ที่จะเป็นเสมือนหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นเดียวกับจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือทรัพย์สินของประชาชนไปพร้อมกัน และหลักการเหล่านี้ ก็ได้ขยับขยายพัฒนาให้ครอบคลุมไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการกระทำโดยไม่ชอบของผู้มีอำนาจ และเป็นกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนเสียหายรุนแรงกว่าประชากรทั่วไป

ตามหลักการสากล รัฐย่อมมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องทำให้แน่ใจว่า กระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่มีเด็กและเยาวชนตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยดำเนินไปโดยอยู่บนฐานของความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งต่อความเปราะบางของเด็กและเยาวชน รวมถึงคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งหมายความว่า รัฐต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีที่พิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป เน้นการแก้ไขฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษให้หลาบจำจากความผิดที่ได้กระทำ และการลิดรอนเสรีภาพเด็กด้วยกระบวนการทางกฎหมายต้องเป็นไปโดยเหมาะสมและเป็นมาตรการสุดท้ายที่รัฐจะนำมาใช้

บทบัญญัติอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ได้ระบุไว้ว่า “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ในการกระทำในทุกๆ เรื่องของเด็ก รวมถึงศาลยุติธรรม” โดยผู้พิพากษาและที่ปรึกษากฎหมายด้านคดีเด็กมีหน้าที่ประกันสิทธิของเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อมในกระบวนการยุติธรรมในทุกชั้นของกระบวนการตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาคดี การพิจารณาคดีที่เป็นมิตรต่อเด็ก (child-friendly environment) หรือการประสานงานและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีต่อสหวิชาชีพอื่น (other professions) เพื่อลดการที่เด็กถูกสัมภาษณ์หรือถามหลายๆ ครั้ง โดยผ่านการยินยอมของเด็ก[6]

ทั้งนี้ พื้นฐานที่สุดคือ รัฐต้องตระหนักเสมอว่า การกระทำความผิดกฎหมายของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมทั่วไป หรือการกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกการกระทำล้วนมีความยึดโยงไปกับระบบระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคม หรือปัญหาเชิงโครงสร้างในทุกมิติ และเท่ากับว่า ทุกองคาพยพของสังคมล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้บุคคลซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนกล้าตัดสินใจกระทำการบางอย่าง เช่น ความยากจน การถูกกดขี่ การขาดโอกาส ตลอดจนความอัดอั้นทั้งหลายที่มีต่อสภาพสังคมและผู้มีอำนาจรัฐ

การเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าสิทธิเด็ก ส่งผลให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐไทยได้ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีอาญาหรือคดีที่มีบทกฎหมายกำหนดโทษ ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553[7] ที่กำหนดห้ามไม่ให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับ นอกจากสองกรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจจับกุมเด็กได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยละมุนละม่อม และมีหน้าที่ในการแจ้งสิทธิและข้อหาแก่ผู้ถูกจับกุม พร้อมกับแสดงหมายจับ จากนั้นต้องส่งตัวไปพบพนักงานสอบสวนโดยเร็ว[8]

ส่วนการสอบสวนเด็กและเยาวชนในฐานะผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ต้องพึงระวัง ไม่ให้การสอบสวนเป็นการประจานหรือทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกมีตราบาป ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 ทวิที่มาจากการแก้ไขปรับปรุงเมื่อปี 2542 ก็กำหนดให้ การสอบสวนจะต้องดำเนินการโดยแยกการกระทำเป็นส่วนสัดในสภาพที่เหมาะสม เด็กและเยาวชนสามารถร้องขอให้บุคคลที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือถามปากคำได้ รวมทั้งต้องมีพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมกระบวนการสอบสวนเด็กและเยาวชนด้วย

ที่สำคัญ ทุกกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นพิจารณาของศาล เด็กและเยาวชนต้องมีที่ปรึกษากฎหมายทุกกรณี ซึ่งจัดหาจากฝั่งครอบครัวหรือเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้ เพื่อเป็นการประกันสิทธิของเด็กและเยาวชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรม



‘กฎหมาย’ ในทางปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รัฐไทยไม่ต้องการให้เด็กและเยาวชนในประเทศเป็นเจ้าของความคิดตนเอง แต่ต้องการให้มีความคิดเหมือนตามแบบแผนที่รัฐต้องการ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน[9] ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเดือนตุลาคม 2565 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 283 ราย ใน 210 คดี

ด้านความคืบหน้าคดีเยาวชน จำแนกเป็นคดีที่ยังดำเนินอยู่อย่างน้อย 172 คดี และเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้วอย่างน้อย 39 คดี ที่น่าสนใจ คือ มีเยาวชนถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากถึง 17 คนใน 20 คดี

นอกจากการใช้กฎหมายกดปราบการแสดงออกและการเคลื่อนไหวของเด็กเยาวชนแล้ว ในคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหว การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงที่สะท้อนถึงกระบวนการพิจารณาคดีที่มีลักษณะละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนอยู่หลายประการ อาทิ

การแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 112 ต่อเยาวชนรายหนึ่ง เมื่อช่วงปี 2564 โดยที่การแจ้งข้อหา เขาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่เดินทางเข้ารับทราบข้อหาเพราะตำรวจติดต่อมาทางโทรศัพท์ [10]

การดำเนินคดีในข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังพบกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นเด็กและเยาวชนต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งลิดรอนเสรีภาพด้วยกฎหมายอย่างไม่เหมาะสม กล่าวคือ เนื่องจากความผิดตามกฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ทำให้การจะขอใช้สิทธิการเข้ามาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญาหรือการขอลบประวัติ ลบความผิด แล้วไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อจะได้ไม่ถูกดำเนินคดี เหล่านี้ล้วนไม่สามารถทำได้ เพราะโทษสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกลายเป็นว่า เด็กและเยาวชนต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีไปก่อน [11]

ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ เพียงใด การออกหมายจับเด็กและเยาวชนต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายอาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพพวกเขาอย่างรุนแรง แต่ในช่วงสถานการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ก็ปรากฏการออกหมายจับเด็กและเยาวชนที่แสดงออกทางการเมือง รวมถึงการขอฝากขัง การควบคุมตัว อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยคำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กเป็นพิเศษ

ตรงนี้ ก็ย่อมสะท้อนว่า รัฐไทยไม่ได้ปฏิบัติงานใช้กฎหมายโดยมุ่งเน้นให้การดำเนินในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของเด็กและเยาวชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ Amnesty International ประเทศไทย ยังรายงานอีกว่า[12] ช่วงที่มีการชุมมุมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ได้มีเด็กและเยาวชนถูกควบคุมตัวโดยไม่มีหมายศาลอย่างน้อย 23 คน ระหว่างปี 2563 ถึง 2564 และมีเด็กที่โดนตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อายุน้อยสุด คือ 14 ปี

และจากกรณีเด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ได้ถูกตำรวจนำตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ทั้งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยังไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาภายในอาคาร รวมทั้งผู้ปกครอง ครู และเพื่อนของเด็กที่ถูกกล่าวหา ศาลตรวจสอบการจับกุมบริเวณหน้าจุดยื่นเอกสาร ไม่ใช่ห้องตรวจสอบการจับกุม กระบวนการตรวจสอบการจับกุมเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว[13]

อีกทั้ง บ่อยครั้งด้วยกันที่ในระหว่างการควบคุมตัว เด็กและเยาวชนที่ต้องคดีทางการเมือง ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งในเรื่องการไม่ได้จัดเตรียมสถานที่และทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมในขั้นตอนการสอบปากคำ การถูกขังในที่ๆ เดียวกันกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่[14] การต้องไปพบพนักงานคุมประพฤติเพื่อสืบเสาะประวัติส่วนตัวที่สถานพินิจฯ[15] การถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การถูกจับขณะที่เด็กและเยาวชนไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียก แต่ศาลก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าว[16] หรือกรณีที่มีการรายงานข่าวว่า เด็กและเยาวชนที่ต้องหาในคดีการเมือง ได้ถูกสถานพินิจซักประวัติโดยไม่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นส่วนตัว[17] เช่น ถามว่าเคยใช้ยาเสพติดหรือไม่ ถามเยาวชนที่เป็นหญิงว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ หรือถามนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐไทย ยังใช้วิธีการนอกกฎหมายหรือปฏิบัติที่ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เข้าคุกคามเด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การคุกคามหรือติดตามไปถึงที่บ้านพักและโรงเรียน ถูกกดดันให้เรื่องยุ่งกับการชุมนุมทางการเมือง การพยายามสอดส่องเฝ้าระวังความเคลื่อนไหว และการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เป็นต้น[18]

สิ่งที่ได้ไล่เรียงมาทั้งหมด เป็นภาพรวมของ “กระบวนการยุติธรรมไทย” ที่เข้ามาจัดการดำเนินคดีกับเยาวชนที่เห็นต่างการเมือง ซึ่งจะเห็นว่า กระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองอย่างที่ควรเป็นในหลายกรณี ตอกย้ำว่า กระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายไทย ยังไม่ได้คำนึงสิทธิประโยชน์ของเด็กและเยาวชนในคดี แต่กลับคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐบาลและสถานะของผู้มีอำนาจเป็นสำคัญ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีปัจเจกบุคคล ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กและเยาวชน ได้แสดงออกซึ่งความคิดในทางต่อต้านกลุ่มผู้มีอำนาจ สิทธิเหล่านั้นจะถูกยกเว้นและโยนทิ้งออกไปจากระบบกฎหมายโดยทันที เสมือนกับเยาวชนกลุ่มนั้นได้ก่ออาชญากรรมทางความคิดที่มีความร้ายแรง


ภาพการแจ้งข้อหาเยาวชนที่ร่วมกิจกรรม ‘แจกก้อย 112 จาน’ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564

อีกหนึ่ง “อัตลักษณ์” ของกระบวนการยุติธรรมไทย

ปัจจุบัน รัฐไทยอาจกำลังทำให้การใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายที่ควรถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งวิปริตผิดเพี้ยนในสังคมที่มีอารยะ ให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นส่วนสำคัญซึ่งสร้างความถดถอยให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทยเป็นอย่างมาก ราวกับว่า รัฐไทยไม่เคยปกครองโดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจรัฐ และเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้รอดพ้นจากการถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่มีไว้เพื่อจัดการกับสิ่งที่คุกคามสถานภาพของผู้มีอำนาจเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว การไหลเวียนของข้อมูลจำนวนมหาศาลบนพื้นที่โลกออนไลน์ นำพาให้รัฐไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมความคิดและการแสดงออกทางการเมืองของปัจเจกบุคคลทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุนี้ ระบบกฎหมายต้องทำงานอย่างขันแข็ง เพื่อตอบสนองความปรารถนาของผู้มีอำนาจ ด้วยการไม่อนุญาตให้ผู้คนมีความคิดแตกต่างจากที่ผู้มีอำนาจต้องการ และผู้ที่เห็นต่าง ก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับอาชญากรที่คุกคามความมั่นคงของบ้านเมือง กระบวนการพิจารณาที่ควรดำเนินไปอย่างยุติธรรมจึงถูกบิดเบือนอยู่เสมอ

ระบบความยุติธรรมที่ถูกบิดเบือนเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ ย่อมออกดอกออกผลมาเป็นในรูปของกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ อันเป็นอัตลักษณ์อีกด้านหนึ่งของรัฐไทยที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก การเห็นต่างทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ มิใช่การกระทำที่สมควรได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นการกระทำความผิดทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่ไม่อาจปล่อยไว้ได้ รัฐต้องเข้ามาจัดการหรือปราบปรามอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งหากละเลยย่อมสร้างแรงสั่นคลอนและส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อสถานภาพและระเบียบทางสังคมที่ผู้มีอำนาจรัฐไทยต้องการปกป้องรักษา การแสดงออกทางการเมืองและแสดงความคิดเห็นสามารถถูกตัดสินว่าเป็นความผิดได้โดยทันที

ข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ถึงอัตลักษณ์ดังกล่าวของรัฐไทยได้อย่างดี คือ กรณีที่เด็กและเยาวชนอาจถูกกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิในการเข้าสู่มาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญา เพื่อให้ตนเอง ไม่ต้องเข้ากระบวนพิจารณาคดีอาญาปกติ ถ้าหากว่าไม่แสดงให้เห็นถึงความ “สำนึกผิด” ในสิ่งที่ได้กระทำลง[19] และบางครั้งอิสรภาพของพวกเขา ก็ต้องจ่ายด้วยการต้องยอมรับผิดหรือสำนึกผิด ในการกระทำที่ไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรก หรือเป็นการกระทำบนฐานของสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อนี้ ส่งผลให้ สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ไร้ความหมายไปโดยปริยาย

ท้ายที่สุด จะพบว่า นอกเหนือจากการปกป้องสถานะของผู้มีอำนาจแล้ว ระบบกฎหมายของรัฐไทย แทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ตามวิถีประชาธิปไตยแต่อย่างใด และความผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือ การท้าทายอำนาจรัฐ และการมีความคิดที่ไม่เห็นพ้องกับสิ่งที่รัฐและชนชั้นนำเคยสถาปนาเอาไว้ การใช้กฎหมายเพื่อกดปราบการกระทำเหล่านั้นอย่างจริงจังโดยไม่ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่า ผู้กระทำจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
.
อ้างอิงท้ายบทความ

[1] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 1 (1) “ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิ ในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง โดยอาศัยสิทธินั้น ประชาชนจะกำหนดสถานะทางการเมืองของตนอย่างเสรี รวมทั้งดำเนินการอย่างเสรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตน”

[2] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19

“1) บุคคลมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากแทรกแซง

2) บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับและสื่อสารข้อมูลและความคิดทุกชนิด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ไม่ว่าด้วยวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยการพิมพ์ ในรูปแบบของศิลปะหรือโดยสื่อประการอื่นใดที่บุคคลดังกล่าวเลือก

3) การใช้สิทธิตามวรรคสองของข้อนี้ต้องประกอบด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบอันเป็นพิเศษ ดังนั้น สิทธิดังกล่าวจึงอาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางประการแต่ข้อจำกัดนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและเท่าที่จำเป็น

(ก) เพื่อเคารพต่อสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) เพื่อคุ้มครองความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชนสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดี”

[3] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น”

[4] United Nations, General comment No. 37 (2020) on the right of peaceful assembly (article 21) Human Rights Committee, (United Nations: New York, 2020): 7.

[5] Ibid.

[6] “การให้เข้าสังเกตการณ์คดี: ก้าวต่อไปของรัฐไทยเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในคดีจากการใช้เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม”, 13 มีนาคม 2565, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/41292 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[7] ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 นิยามให้ “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า 12 ปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ ส่วน “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์

[8] พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 69

[9] สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65, 3 ตุลาคม 2565, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/24941 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[10] “เมื่อกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน คุยกับเยาวชนถูกแจ้งความในคดี ม.112”, 1 พฤศจิกายน 2564, เดอะแมทเทอร์, https://thematter.co/social/politics/juvenile-article-112/159241 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[11] “รวมปรากฎการณ์ของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม และ ม.112 หลังเคลื่อนไหวทางการเมือง”, 23 มีนาคม 2564, เดอะแมทเทอร์, https://thematter.co/quick-bite/section-112-juvenile/138626 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[12] “เด็กถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมปี 2563-2564”, 27 เมษายน 2564, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/861/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[13] เรื่องเดียวกัน.

[14] Report: เด็ก โดน คดี: สิทธิเด็กเป็นอย่างไรใต้คดีการเมือง, https://youtu.be/GsIIyZaPZNo

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] เรื่องเดียวกัน.

[17] เรื่องเดียวกัน

[18] “รวมปรากฎการณ์ของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม และ ม.112 หลังเคลื่อนไหวทางการเมือง”, 23 มีนาคม 2564, เดอะแมทเทอร์, https://thematter.co/quick-bite/section-112-juvenile/138626 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

[19] “ส่องขั้นตอนคดีเยาวชน: เมื่อเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง มีแนวโน้มมีภาระ-ถูกละเมิดมากกว่าผู้ใหญ่”, 28 มิถุนายน 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/31315 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)