วันอาทิตย์, มกราคม 29, 2566

ทำไมต้องจับหมวก ? หลังจากพูดแซวประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอดรหัสภาษากาย แพทองธาร


ถอดรหัสภาษากาย เคสที่ 131 : คุณแพทองธาร ทำไมต้องจับหมวก ? หลังจากพูดแซวคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา

มกราคม 28, 2023

หลังจากคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาลั่นกลางการแถลงข่าวว่าไม่ชอบทักษิณ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช. ) และเดินหนีนักข่าวอย่างไร้มาดผู้นำอย่างที่ควรจะเป็น

ฝั่งนักข่าวก็ไม่รีรอที่จะรีบถามคุณแพทองธารว่าเขามีความรู้สึกอย่างไรกับคุณประยุทธ์ในกรณีนี้

จาก VDO ข้างต้นก็เป็นการติดตามสัมภาษณ์ของนักข่าว ก็มีภาษากายใน VDO ที่น่าสนใจของบุคคลใน VDO

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนในการเรียนรู้ศาสตร์ภาษากาย (Non-verbal communication / Body Language ) อันได้แก่ข้อมูลที่สื่อสารออกมาจากมนุษย์ทุกอย่างนอกเหนือจากคำพูดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (Concious / Unconcious) จึงเป็นชุดของข้อมูล (Information) ทางพฤติกรรมศาสตร์และจิตวิทยาที่สำคัญอันสามารถนำไปประยุกต์ตีความฐานะผู้สังเกตการณ์ และนำไปประเมินกับเหตุการณ์ที่ปรากฏอย่างไรเท่านั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อตัดสินสิ่งใด ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์

นาที 0:06 คุณแพทองธาร พูดว่า “ถามคุณพ่อหรือยัง ว่าคุณพ่อชอบหรือเปล่า (หัวเราะ) ล้อเล่น ล้อเล่น แต่ว่า ไม่..ก็ ก็ตลกดี (*) ไม่มีอะไร ท่านก็คงเครียดหลายอย่าง คงหงุดหงิด มนุษย์หงุดหงิดได้ เข้าใจได้”

ในจังหวะ (*) ซึ่งตรงกับนาที 0:12 จะพบการใช้มือยกขึ้นมาจับปีกหมวก และด้านข้างของหมวก (Hat adjustment)

ภาษากายตรงนี้มีความหมายใด ๆ หรือไม่ ?

ถ้าโดยทั่วไป การที่เราใส่หมวกและขยับหรือจัดหมวกมีความหมายได้สองนัยยะ

ในนัยยะแรก คือ การจัดหมวกให้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพราะอาจจะมีการเคลื่อน หรือ ขยับ หรือแม้แต่ว่าร้อนและเหงื่อออกเยอะจึงขยับหมวกเพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น (Comfortable) ในความหมายแรกนี้จึงเป็นความหมายเชิงกายภาพที่ตรงไปตรงมาและเราล้วนเชื่อมโยงหาเหตุผลได้

ทั้งนี้ การขยับหมวกยังมีความหมายในเชิงจิตวิทยาที่ไม่ค่อยมีคนทราบ คือ แสดงถึงความไม่ปลอดภัย หรือ ไม่มั่นคง (insecure) จิตจึงเกิดสภาวะของการปลุกความมั่นใจเพื่อให้กลับสู่สภาวะปกติ (Alpha-upright)

อาจวิเคราะห์ได้ว่า หลังจากที่คุณแพทองธารพูดว่า “แล้วคุณพ่อชอบหรือเปล่า” ในลักษณะที่คล้ายการแซวเล่น เจ้าตัวอาจเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ของความไม่ปลอดภัยขึ้นมา

เช่น อาจจะจู่ ๆ เกิดความลังเลภายในจิตใจประหนึ่งว่า “ตะกี่ฉันควรพูดแบบนั้นหรือเปล่า” หรือ “พูดแบบนี้ออกไป จะโอเคไหม” และอาจเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยกับคำพูดของตัวเอง

ให้ละเอียดขึ้นอีกนิด อยากให้วิเคราะห์ภาษาพูดที่พูดว่า “ล้อเล่น”

การพูดว่า “ล้อเล่น” นี้ อาจจะไม่ได้ล้อเล่น อาจกล่าวได้ว่าส่วนนี้เป็นกระบวนการ “พูดกลบ” เพื่อให้สิ่งกล่าวก่อนหน้าที่เพิ่งพูดออกไปนั้นถูกกลบหรือบิดเบือน เพื่อให้ดูเหมือนไม่มีเจตนาจะสื่อความหมายโดยตรง

การพูดว่า “ล้อเล่น” คือวิธีการแก้ไขสถานการณ์ของเจ้าตัว และก็มีสภาวะทางอารมณ์เกิดขึ้นผ่านภาษากายของการจับ หรือ จัดหมวก

เมื่อจิตใจตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง หรือ ไม่ปลอดภัย (Insecure) เราสามารถพบภาษากายได้หลายอย่าง เช่น การขยับนาฬิกา การเกาใบหน้า การจับแก้วน้ำ การลูบหรือถูมือ หรือการเล่นกับกระดุมเสื้อ ภาษาไทยเรามีคำเรียกน่ารัก ๆ ว่า “แก้เก้อ” ก็นับว่าตรงตัวทีเดียว
สรุป

คนเราสามารถบิดเบือน หรือปกปิดคำที่พูดออกมาได้เสมอ แต่ภาษากายเป็นสิ่งที่ปิดไม่มิดเพราะเกิดขึ้นจากสภาวะของอารมณ์ที่เปลี่ยนผัน ภาษากายจึงสามารถสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกได้อย่างดี และซื่อสัตย์กว่าคำพูดมากมาย

ขอให้สนุกกับการเรียนรู้นะครับ

ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์ (หมอมด)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น สถานการณ์อ้างอิงเพื่อใช้ในการสอนจะคัดเลือกมาจากหลายวงการ เช่น นักการเมือง นักแสดง นักร้อง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคลสาธารณะที่ปรากฏในสื่อสาธารณะ เช่น ข่าว รายการโทรทัศน์ งานแถลงข่าว สัมภาษณ์ รายการในยูทูป (youtube)ทั้งในและต่างประเทศ การตีความและอธิบายภาษากายทุกอย่างเพื่อการเรียนรู้และแสดงผ่านมุมมองของผม ว่าผมมีความเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์เหล่านั้นเท่านั้น และไม่มีจุดประสงค์เพื่อหวังประโยชน์ด้านการเมือง หรือเพื่อละเมิดกับบุคคลใด กลุ่มการเมือง หรือ ศาสนาใด ทั้งสิ้น