เมื่อวันที่ 29 มกราคม นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่าสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ทุกสาขา มีแพทยสภาและสภาการพยาบาล เป็นต้น ได้ร่วมกับคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ออกประกาศรับรองสิทธิผู้ป่วย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 มีทั้งหมด 9 ข้อ แต่จะขอยกมาเพียง 2 ข้อ
ข้อ 2 ผู้ป่วยที่ขอรับการรักษาพยาบาลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การตรวจ การรักษา ผลดีและผลเสียจากการตรวจ การรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน อันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต
ข้อ 3 ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่
ในข้อที่ 2 เป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยว่าจะยินยอมหรือไม่ยินยอมรับการรักษาก็ได้ แต่จะยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน และเป็นอันตรายต่อชีวิต ส่วนในข้อที่ 3 ก็ยังยืนยันอีกว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษา ถ้าอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอันเป็นสิทธิที่ไม่อาจแทรกแซงได้
ส่วนหลักจริยธรรมแพทย์ จัดลำดับความสำคัญในเรื่องภาวะฉุกเฉินเป็นข้อที่ 1 เพราะเห็นว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดโดยบัญญัติไว้ว่าถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉิน ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องช่วยเสมอ แม้ว่าผู้ป่วยและญาติจะไม่ร้องขอก็ตาม
ทั้งสิทธิของผู้ป่วยและหลักจริยธรรมของแพทย์ต้องใช้กับทุกคนไม่เคยปรากฏว่ามีข้อยกเว้นใดๆ แม้จะเป็นผู้ต้องขังก็ตาม
จึงขอแสดงความเห็นมายังแพทย์และบุคลากรที่รับผิดชอบต่อชีวิตของแบมและตะวันว่าสมควรต้องยึดหลักปฏิบัติทั้ง 2 ข้อข้างต้น เพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณบนพื้นฐานแห่งจริยธรรมและศีลธรรมอย่างดีที่สุด
เมื่อแพทย์ จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งจริยธรรมนั้นแล้ว จึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนทุกคนว่าการช่วยชีวิตในภาวะฉุกเฉินไม่ควรมีใครก็ตาม จะไปด้อยค่า หรือลดทอน ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ความกล้าหาญ และ เจตจำนงในการต่อสู้ของ แบม และ ตะวัน โดยเด็ดขาด เพราะในภาวะฉุกเฉินที่ทั้งสองคนอาจหมดสติแล้วนั้น ย่อมไม่สามารถรับรู้กับปฏิบัติการใดๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ได้เลย
แบมและตะวันยังเป็นกังวลกับเพื่อนๆ ในคดีเดียวกันที่ยังอยู่ในเรือนจำหากได้รับการประกันตัว ก็อาจจะหลีกเลี่ย
งภาวะฉุกเฉินวิกฤตเพื่อรักษาชีวิตได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ส่วนการปฏิรูประบบและข้อกฎหมาย ยังคงยืนยันในเจตจำนงได้อยู่ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันที ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของวันนี้จึงควรจัดลำดับตามความสำคัญ (priority)
ที่มา มติชนออนไลน์
29 มกราคม 2566