วันจันทร์, มกราคม 23, 2566

"ผู้กล้าย่อมทนมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ในสังคมที่มีแต่คนขี้ขลาด" หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง “สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด"



“สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ” บินหลา สันกาลาคีรี

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
26 Mar 2021
1O1

บินหลา สันกาลาคีรีในวันที่ยังแข็งแรง เขาเสียงดัง หัวเราะอร่อย ขับรถนิ่ม และมีมุกตลกเหลือรับประทาน

เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ เจ้าหงิญ, คิดถึงทุกปี, เราพบกันเพราะหนังสือ, บินทีละหลา, ฉันดื่มดวงอาทิตย์, นกก้อนหิน และอีกหลายเล่มที่แค่ชื่อเรื่องก็บ่งบอกว่าลูกล่อลูกชนทางภาษาของเขามีล้นเหลือขนาดไหน

เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารไรท์เตอร์ และเป็นเจ้าของร้าน The Writer’s Secret ที่ถนนนครสวรรค์ ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองถูกปิดปาก บินหลาพยายามสร้างให้ The Writer’s Secret กลายเป็นที่พูดคุยถกเถียงของทั้งเหล่านักเขียนและนักอ่าน จนหลายคนเคยบอกว่า ‘เราพบกันเพราะไรท์เตอร์’

ช่วงที่นักเขียนหลายคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศหรือถูกจับด้วยคดีทางการเมือง บินหลาเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่เขาจะทำได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินทอง ก็ช่วยเรื่องทางใจ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังบอกว่า เขาทำน้อยเกินไป

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บินหลาต้องกลับไปอยู่บ้านที่สงขลาด้วยความจำเป็นของความป่วยไข้ หลังจากช่วงชีวิตที่ผ่านมาเขาผกโผนเดินทางและทำงานอย่างคนไม่รู้เหนื่อย มาวันนี้บินหลาบอกว่า เขาถือว่าตัวเอง ‘เข้าพรรษา’ อยู่ แค่เป็นพรรษาที่ยาวกว่าปกติเท่านั้นเอง

และเช่นกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. แม้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่ก็มีหลายประเด็นที่สังคมยังกังขาในความโปร่งใสของรัฐบาล และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวประท้วงของคนหนุ่มสาวก็ยิ่งทำให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยร้อนแรงและเฉียบคมขึ้นอย่างชัดเจน

101 นัดคุยกับบินหลาในช่วงที่เขาขึ้นมาจากสงขลา อาการป่วยไข้ดีขึ้นมากแล้ว แม้จะยังเดินเหินไม่สะดวก แต่เขายืนยันว่าหัวใจของเขายังเสรีเหมือนคนหนุ่มสาว

เราพูดคุยกันตั้งแต่เรื่องการเมือง การลงชื่อแก้มาตรา 112 มุมมองต่อสังคม ความภูมิใจในชีวิต และงานเขียนที่บินหลาบอกเสมอว่าคือชีวิตของเขา

ประเทศไทยมีการประท้วงมากว่าหนึ่งปีแล้ว คุณมองเห็นอะไรในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

ประเมินเท่าที่รู้สึก ผมเห็นสังคมที่หดหู่ลงเรื่อยๆ ควรจะมีคนลุกขึ้นมาตะโกนบ้าง ตอนนี้สถานการณ์เหมือนนิทานที่เด็กคนหนึ่งบอกว่าพระราชาแก้ผ้า แล้วคนทั้งเมืองไม่เห็น แต่ตอนนี้คนทั้งเมืองก็เริ่มเห็นแล้วว่าพระราชาแก้ผ้าจริงๆ

คนที่เห็นมีสองพวก คือเห็นแล้วไม่ได้สนใจหรือไม่อยากเชื่อ รู้สึกว่าเป็นภาพลวงตา กับอีกพวกคือไม่เชื่อเลย เพราะเขาเชื่อว่าพระราชาแก้ผ้าไม่ได้ พระราชาต้องแต่งตัวหรูหรา

แล้วผมก็สงสารเด็ก เพราะเด็กโดนกระทำมาก

มีเยาวชนถูกจับกุมเยอะมาก ทั้งจากคดี 112 และคดีที่สืบเนื่องมาจากประเด็นการเมือง คุณคิดว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจจะยื้อวันเวลาได้ขนาดไหน

ยื้อไม่ได้หรอก นี่เป็นสัจจะของโลก ไม่ว่าใครก็ยื้อไม่ได้ แต่ว่าแต่ละสังคมย่อมมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหน ถ้ายอมรับเร็ว ก็จะลดทอนความเจ็บปวดและบาดแผลในประวัติศาสตร์มาก แต่ถ้าเรายอมรับช้า ในช่วงเปลี่ยนนี้จะแรง และจะลงเอยด้วยความเจ็บปวดและความตายมาก คราวนี้ผมเลยไม่แน่ใจว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนเร็วหรือช้า

คุณต้องเลือกแล้วแหละว่าคุณจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้า เพราะในที่สุดก็จะต้องเปลี่ยนแน่ๆ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายที่จะต้องเปลี่ยน เขาไม่อยากเปลี่ยน อยากยื้อให้อยู่แบบเดิม ในที่สุดก็จะลงเอยด้วยความรุนแรง

คุณศึกษาประวัติศาสตร์มาเยอะ ถ้ามองจากเส้นประวัติศาสตร์ที่คุณศึกษามาจนถึงตอนนี้ คุณคิดว่าประวัติศาสตร์จะถูกเขียนไปอย่างไรในอนาคต

ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์จริงๆ อาจจะมีมุมมองที่ผิดหรือถูก แต่มนุษย์แต่ละสังคมมักจะเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น ปัจจัยภายนอกที่ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับปัจจัยภายใน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดในสังคมไทยมีอยู่สองสามเรื่อง

ผมยกตัวอย่างเรื่องการเลิกทาส เราเลิกหลังอเมริกาไม่กี่ปี การเลิกทาสเกิดจากปัจจัยจากภายนอกบีบให้เราต้องตัดสินใจ ผมเชื่อว่าชนชั้นนำของไทยไม่ได้พร้อมจะเลิกทาส เพราะเขารู้สึกว่าก็ใช้ชีวิตอย่างนี้มาเนิ่นนานแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายนอก เช่น มหาอำนาจฝรั่งเศสมากดดัน ฝรั่งเศสรุกคืบในเขมร ซึ่งขณะนั้นเป็นเขตของสยาม คนย้ายไปขึ้นตรงกับฝรั่งเศสเยอะมาก เพราะมีข้อเปรียบเทียบว่าขึ้นตรงกับฝรั่งเศสคุณเป็นไท แต่ถ้าอยู่กับสยามคุณยังต้องเป็นทาสอยู่ จนส่งผลให้ต้องมีการเลิกทาสเพื่อรักษาจำนวนคนไว้

ปัจจัยอย่างนี้สะท้อนสังคมเรามาตลอด แม้แต่ในนาทีนี้ก็ตาม เราเรียนรู้และเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่ตะวันตกทำเยอะมาก เขาเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลอย่างไรกับบ้านเมืองเขา ถึงเวลาที่เราต้องเอามาพัฒนาตัวเองบ้าง ผมเลยมองว่าปัจจัยภายนอกน่าจะมีผลต่อความคิดในสังคม

ตอนนี้ดูเหมือนว่าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจก็ไม่ยอมเปลี่ยน เหมือนอยากหยุดเอาไว้เท่านี้ ไม่ว่าจะมีปัจจัยภายนอกมาก็ไม่เกี่ยว มีคนลุกฮือจำนวนมากก็จริง แต่หลายคนก็เชื่อว่าทำไปก็อาจจะไม่มีหวังหรอก คงไม่มีใครมาช่วยเราได้หรอกตอนนี้คุณคิดว่าจะยังมีหวังอยู่ไหม

มีหวัง ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน เช่น ตอนปรีดีปฏิวัติปี 2475 ผมเข้าใจว่าวิธีคิดหรือความเชื่อว่าต้องเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการปฏิวัติเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานพอสมควร อาจจะ 10 ปีด้วยซ้ำ คือยุคที่คนไปเรียนเมืองนอก ได้ไปเห็น คิด ร่วมมือ และตกลงกัน พอกลับเมืองไทย อารมณ์ที่อยากจะเปลี่ยนสังคมยังปะทุอยู่ข้างใน ไม่ได้หายไป มันสั่งสม แล้วพอเจอคนที่เข้าใจความคิดกัน ก็ต่อเนื่อง เชื่อมโยง และเป็นไฟที่แรงขึ้นๆ ในที่สุด

ผมเชื่อว่านาทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 คนที่คิดจะเปลี่ยนแปลง นอกจากผู้นำอย่างเช่นท่านปรีดี และอีก 4-5 คนแล้ว เขาอาจจะไม่ได้กระจ่างหรือเข้าใจอะไรนัก แต่ก็เกิดพลังและแรงกระแทกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จนเกิดการปรับใช้อย่างเป็นรูปแบบในภายหลัง

เมืองไทยในอนาคตก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน ในนาทีที่จะเปลี่ยนแปลง ทุกคนที่จะเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ได้เห็นด้วยกันทั้งหมดว่าจะเปลี่ยนอย่างไร เพียงแต่เราไม่สามารถทนอยู่กับสภาพเดิมได้ ก็ต้องเปลี่ยน ค่อยๆ ปรับปรุง แต่งแต้ม แต่งสรรรูปแบบไปเรื่อยๆ



ในปี 2554 คุณร่วมลงชื่อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วในวันที่ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องนี้ อะไรทำให้คุณตัดสินใจลงชื่อ กฎหมายมาตรานี้มีปัญหาอย่างไร

ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร แต่เข้าใจว่ามีความคิดมาก่อนแล้วระดับหนึ่งจากคนกลุ่มหนึ่ง ผมก็นั่งคิดเรื่องนี้เองอยู่ที่บ้าน แต่ผมก็ไม่ได้คิดจะเสนอชื่ออะไร เพราะไม่รู้ว่ามีคนอื่นคิดอย่างนี้ด้วย แต่ตอนนั้นคิดว่าต้องเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกันอย่างจริงจัง แล้วจะคุยกันได้ก็ต่อเมื่อทุกคนสามารถพูดได้โดยไม่ต้องกลัวผิดกฎหมาย มีอะไรก็ชี้แจง ถกเถียง โต้แย้งกัน

ผมมองว่ากฎหมาย 112 อันตรายมากสำหรับการโต้แย้ง เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้ กฎหมายนี้ไม่ได้แปลว่าถ้าคุณดูหมิ่นแล้วมีความผิด แต่อาจจะรวมว่าแค่คุณพูดก็มีความผิด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการพิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง

เมืองไทยไม่ยอมแตะต้องกฎหมายฉบับนี้ เพราะกลัวจะไปละเมิดหรือแตะต้องพระมหากษัตริย์ด้วย ทำให้ทุกอย่างสะดุด เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยการแก้กฎหมายก่อน กรณีแบบนี้มีอยู่ตลอดเวลา เช่น ส.ศิวรักษ์ซึ่งเป็นประชาชนคนหนึ่งก็โดนฟ้องหลังจากที่พูดถึงพระนเรศวร ถ้าวิจารณ์พระนเรศวรไม่ได้ แล้วคุณมีสิทธิอะไรไปวิจารณ์พระเจ้าเอกทัศน์ ถ้าพระเจ้าเอกทัศน์จะมีคนปกป้องบ้าง ชี้ให้เห็นว่ามีความดีหรือไม่ดีบ้าง ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชน ไม่อย่างนั้นคุณก็หมดสิทธิที่จะเรียนรู้ แล้วเราจะเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ถ้าเราไม่สามารถเอาข้อดีหรือข้อเสียในประวัติศาสตร์มาพูดถึงเพื่อจะแก้ไขสังคมปัจจุบันและอนาคตเราได้

ถ้าเรามาชำระประวัติศาสตร์จริงๆ เราจะเห็นว่าในเมืองไทยมีทั้งข้อดีของกษัตริย์หลายอย่าง และมีข้อผิดพลาดของกษัตริย์หลายอย่าง ถ้าเราเข้าใจชัดเจนว่าอันไหนเป็นข้อดีหรือข้อเสีย เราก็นำมาใช้ในปัจจุบันได้ แต่กฎหมาย 112 ทำให้เราพูดไม่ได้ ผมเลยเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะต้องยกเลิก 112

แต่ในสมัยนั้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องใหม่มากของเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่ามีกี่คน น่าจะสัก 7-8 คนที่เป็นนักเขียนด้วยกัน เช่น วรพจน์ พันธุ์พงศ์ วาด รวี ปราบดา หยุ่น แล้วก็ผม ซึ่งทุกคนก็ได้รับผลกระทบคล้ายๆ กัน คือแรงกระแทกจากคนรอบข้าง แรงด่าทอ คือถ้าเขาทำอะไรที่รุนแรงได้ก็คงทำไปแล้ว

ในที่สุดผมถือว่าไม่มีคนฟัง หรืออาจจะมีคนบางส่วนที่ได้ฟัง เราไม่ถือว่าสิ่งที่ทำเป็นความสำเร็จ เราแค่ได้พูดอย่างที่ควรจะพูด แต่ไม่ถูกนำไปขบคิดจริงจังว่าสมควรจะแก้ไขหรือเลิกกฎหมายฉบับนี้เลยไหม ผมก็เสียใจนะที่สังคมไทยไม่ฟังอะไรเลย แต่ก็ยังดีใจที่อย่างน้อยเราก็ได้ทำไป

ตอนนั้นคุณโดนแรงกระแทกอะไรบ้าง

ตัวผมเองโดนไม่เยอะ แต่คนใกล้ตัวผมที่เป็นข้าราชการก็จะรู้สึกว่าเขาได้รับผลกระทบ พี่น้องญาติว่านเครือทำตัวไม่ดี เป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม ก็อาจจะโดนผลกระทบต่อเขาบ้าง เขาก็ตักเตือน

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณจะยังลงชื่อเหมือนเดิมไหม

ยังลงเหมือนเดิม เพราะยังรู้สึกว่าตราบใดที่ยังไม่แก้ไขหรือไม่พิจารณาข้อกฎหมายมาตรานี้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอยู่ดี

แต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่บอกว่าจะไปยุ่งเรื่องนี้ทำไม ถ้าไม่มีกฎหมายมาตรา 112 แล้วใครจะปกป้องดูแลพระมหากษัตริย์

ถ้าไม่มีมาตรานี้ก็ไม่ใช่ว่าด่ากษัตริย์ได้นะ ด่าแล้วก็ผิดกฎหมาย แต่มาตรานี้เต็มไปด้วยความลักลั่น ข้อแรกคือ ตามกฎหมายเราถือว่าคนทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าคุณผิด คุณจึงค่อยรับผลของการกระทำนั้น แต่ด้วยมาตรานี้ ใครก็ฟ้องร้องได้ ไม่ต้องเป็นกษัตริย์หรือผู้เกี่ยวข้องนะ ชาวบ้านก็ฟ้องได้ เพราะฉะนั้นคนที่ฟังมาแบบผิดๆ ถูกๆ ก็ฟ้องได้ แล้วเขาก็จะบอกว่าถ้าคุณถูกต้องเดี๋ยวศาลก็ตัดสินเอง แต่กว่าศาลจะตัดสินล่ะ ใช้เวลานานแค่ไหน แล้วพอคุณโดนฟ้อง คุณเข้ากระบวนการยุติธรรม คุณก็ติดคุก โอกาสประกันตัวก็แทบจะไม่มี

อากง (อำพล ตั้งนพกุล) เคยต้องตายในคุกมาแล้วเพราะมาตรานี้ ผู้พิพากษาเองก็อาจจะไม่กล้าให้ประกันตัว เพราะเดี๋ยวถูกตัดสินว่าไม่จงรักภักดี ที่บอกว่าเดี๋ยวไปสู้กันในศาล ถ้าบริสุทธิ์เดี๋ยวเขาก็ปล่อย แต่บางคนสู้เป็นสิบปีกว่าศาลจะตัดสินได้

คุณบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ นักเขียนอาวุโส โดนคดีนี้มา 4 ครั้งแล้ว จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องกล่าวหาว่าท่านบ้า เพื่อจะให้ปล่อยตัวได้ การกล่าวหาว่าบ้านั้นรุนแรงพอๆ กับการตัดสินเลย น่าเศร้ามาก แต่คนอาจจะไม่รู้จักหรือลืมไปเลยว่าในประเทศนี้มีคนชื่อบัณฑิต อาร์ณีญาญ์อยู่ด้วย

ในขณะที่มีนักเขียนหลายคนออกมาต่อสู้เพื่อแก้กฎหมายมาตรานี้ แต่ก็ยังมีนักเขียนบางกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกว่าประเด็นคนถูกละเมิดสิทธิหรือถูกจับกุมเป็นปัญหา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นปัญหาของเราแล้วเราถึงจะเดือดร้อน ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องทำอะไรเลย คนที่ตาย เจ็บ ติดคุก เขาไม่ใช่คนแบบเดียวกับเราเหรอ การมองเห็นความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่คนอื่นโดนกระทำก็เป็นภาระของคน ยิ่งเป็นนักเขียนยิ่งต้องตระหนักถึงคนอื่นในสังคมที่ได้รับผลกระทบ คุณจะคิดว่าคุณไม่เดือดร้อนไม่ได้ เพราะคุณอยู่ในสังคม

คนไทยเวลามีคนต่างประเทศเดือดร้อน เราจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับเขาด้วย เพราะเราไม่ได้มีผลกระทบอะไร แต่พอคนในสังคมเรามีผลกระทบเอง เรากลับปิดปากเงียบ ผมว่าเป็นนิสัยที่น่าเศร้านะ เราเป็นประเทศที่เห็นความเดือดร้อนของหมาแมวได้ แต่มองไม่เห็นความเดือดร้อนของคน

ในภาวะบ้านเมืองที่คนโดนละเมิดสิทธิเยอะมาก คุณคิดว่านักเขียนควรจะมีหน้าที่ทำอะไรบ้างไหม

นักเขียนไม่ต้องทำอะไรหรอกครับ นักเขียนก็คือคนหนึ่งของสังคม แต่สังคมจะต้องต่อสู้เพื่อคนที่เดือดร้อน บางครั้งการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องง่าย การต่อสู้กับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องของทั้งสังคมเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องยาก แต่บางเรื่องเราต่อสู้ได้ เพราะคนเดือดร้อนจำนวนไม่เยอะ ถ้าคนทั้งสังคมช่วยกันต่อสู้ก็จะแก้ปัญหาได้

การต่อสู้ไม่ได้แปลว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณสู้รึยัง สังคมที่สู้เพื่อคนอื่นที่เดือดร้อนก็จะประคองสังคมไปด้วยกันได้ สังคมที่ไม่สู้ก็จะมีปัญหาตามมาเรื่อยๆ

สมมติมีหมู่บ้านหนึ่ง บ้านส่วนมากไม่รวยมาก ลักษณะบ้านคล้ายๆ กัน แต่มีบ้านอีกหลังที่ร่ำรวยมาก ปลูกอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แออัด เป็นบ้านหรูในสลัม คุณคิดว่าในหมู่บ้านนี้ บ้านหลังไหนต้องการการดูแลมากที่สุด หลังไหนที่ต้องบำรุงบำเรอกับการสร้างความปลอดภัยให้ตัวบ้านมากกว่า บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องดูแลความปลอดภัยบ้านคนรวย แต่เป็นเพราะว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างนั้นยิ่งต้องระวัง เพราะคุณมีรั้วอยู่บ้านเดียว บ้านอื่นเป็นสลัม แล้วก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมบ้านตัวเองรวยอยู่หลังเดียว

ก่อนหน้านี้คุณเป็นนักข่าว-นักเขียนมา 20-30 ปี แล้วตอนนี้ที่คุณเขียนหนังสือได้ไม่เหมือนเดิม ในภาวะบ้านเมืองที่การเมืองร้อนระอุ และอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ คุณอึดอัดไหม อยากจะทำอะไรถ้ามีแรงจะทำ

อึดอัดมาก เราอยู่ในสังคมที่แทบจะคุยกันไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถเห็นพ้องกันทั้งหมดได้ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้อง ปัญหาอยู่ที่คุณพูดไม่ได้ เพราะกติกาไม่เอื้อให้คุณพูด เช่นเรื่องแก้มาตรา 112 ผมไม่สามารถพูดกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมได้ เพราะแค่พูดก็ผิดกฎหมายแล้ว เลยทำให้คนที่จะโต้แย้งเราก็โต้แย้งไม่ได้ พอพูดกันไม่ได้ทุกเรื่องก็จะนำไปสู่การไม่พูดกัน หรือการเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

พอเราเห็นน้องๆ นักศึกษาออกมาพูดแล้วโดนกระทำ เราก็รู้สึกว่าสังคมเป็นอะไรไป ทำไมไม่สามารถฟังได้ สังคมเราจะเต็มไปด้วยคนที่เซฟตัวเอง อ่อนแอ ขี้ขลาด สุดท้ายก็ถูกทำให้กลายเป็นคนแบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อจะอยู่ในสังคมได้ สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด ผมเลยเศร้า

สังคมที่มีแต่คนขี้ขลาดจะเป็นสังคมที่อ่อนแอ แล้วนำมาสู่ความพินาศในที่สุด

ถ้าคุณยังทำงานได้ คุณจะทำอะไรในสถานการณ์ตอนนี้

ผมก็คงใช้สถานะเดียว คือสถานะนักเขียน แต่ไม่ได้แปลว่านักเขียนเป็นสถานะอภิสิทธิ์นะ ก็ธรรมดา แต่นักเขียนมีอยู่สองอย่าง คือสติปัญญา และเงื่อนไขที่สามารถอธิบายหรือเปิดให้คนเห็นภาพกว้างได้ ก็คงใช้สถานะนักเขียนอธิบายมากกว่า ส่วนทำไปแล้ว จะมีคนเชื่อมากเชื่อน้อย ก็คงเป็นเรื่องอนาคต

ช่วงชีวิตที่ผ่านมาที่ไม่ได้เขียนหนังสือมา 5 ปี เป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ตอนนี้ยอมรับแล้วว่าต่อให้ในอนาคตผมหายป่วย ผมก็อาจจะเขียนหนังสือได้ไม่ดีเท่าที่คิดฝัน เริ่มยอมรับมากขึ้นว่าอาจจะตายไปโดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์มากกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ แล้วสิ่งที่เคยทำได้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ที่น้อยมากนะในสังคมนี้ แต่ก็ทำได้แค่นี้

การเจ็บป่วยทำให้ผมเข้าใจว่าในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนน่าจะทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ตัวเองเคยทำ แต่ที่ผ่านมาผมไม่ได้คิดถึงตรงนี้ แค่ทำไปผ่านๆ แล้วก็มานั่งเสียใจว่าทำไมไม่ทำให้ดี

คนเราเกิดมาจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อสังคม?

มนุษย์เกิดมามีความคิดบางอย่างที่สัตว์อื่นไม่มี มนุษย์มีเรื่องเล่า มีความคิด มีสมอง ถ้าคุณไม่ผลักดันสิ่งที่คุณคิดออกมาต่อสาธารณชนให้เกิดการถกเถียง ทำให้สังคมดีขึ้น แล้ววันหนึ่งถ้าคุณไม่มีสมอง คุณก็จะเสียใจว่าตอนที่คุณมีทำไมไม่ใช้

ผมไม่รู้ว่าชาติหน้ามีจริงรึเปล่านะ แต่สมมติชาติหน้าผมเกิดเป็นหมาสักตัวหนึ่ง ซึ่งคงเขียนหนังสือไม่ได้ แล้วคุณดันรำลึกได้ว่าชาติที่แล้วคุณเกิดเป็นคน ก็คงเสียดายว่า ทำไมตอนที่กูเป็นคนถึงไม่เขียนหนังสือให้ดีวะ

อ่านต่อที่ https://www.the101.world/binlah-interview/