วันเสาร์, มกราคม 14, 2566

อาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ทำไมต้องซื้อ "งานวิจัยผี" เพื่อใส่ชื่อตัวเอง มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ


การซื้องานวิจัย ใส่ชื่อผู้ซื้อเป็นผู้นิพนธ์ กำลังเป็นข่าวอื้อฉาวในไทย

อาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ทำไมต้องซื้อ "งานวิจัยผี" เพื่อใส่ชื่อตัวเอง

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
12 มกราคม 2023

งานวิจัยคุณภาพที่ต้องใช้เวลาหาข้อมูล ทำวิจัย และลงทุนลงแรง นานหลายปี ก่อนได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ เป็นหลักฐานถึงความอุตสาหะ เพื่อสร้างคุณูปการในโลกวิชาการ

แต่สำหรับนักวิชาการจำนวนไม่น้อย รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่ำกว่า 10 คน การมีชื่อเป็นผู้ประพันธ์งานวิจัยกลับง่ายและรวดเร็ว เพียงโอนเงิน 30,000 บาทผ่านเว็บไซต์

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ

ในจำนวนนี้รวมถึง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนหลายคนในกรุงเทพฯ

“คนทำอาชีพอาจารย์ต้องไม่ใช่คนธรรมดา ต้องเป็นคนเก่ง ต้องเป็นคนทำวิจัย คุณจะนั่งเฉย ๆ รอรับเงินเดือนไปวัน ๆ ไม่ได้” รศ.ดร.วีรชัย บอกกับบีบีซีไทย

“นี่คือหนึ่งในกลไกที่บีบ อาจารย์บางคนก็คิดสั้น ก็เลยต้องไปชอปปิง ไปซื้อมา พอซื้อมาไม่มีใครรู้ ก็เลยซื้อเพลิน กดรัวไปหน่อย”

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนจริยธรรมและจรรยาบรรณ ต่ออาจารย์ที่ถูกสงสัยว่าซื้องานวิจัยแล้ว

ขณะที่ เมื่อ 10 ม.ค. นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่สังคมออนไลน์มองว่า เป็นผู้ซื้องานวิจัยลักษณะนี้ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า “กระผมมีส่วนร่วมในทุกผลงาน” ไม่ว่าจะในฐานะเป็นผู้วิจัยหลัก ผู้รับผิดชอบบทความ ผู้ประเมินบทความ และบรรณาธิการวิชาการ โดยไม่ได้ ซือ-แปะชื่อ ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์

แต่สำหรับ รศ.ดร.วีรชัย ที่ตีแผ่เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง มองว่า ควรแสดงความโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยรายการเดินบัญชีธนาคารว่ามีการโอนเงินไปให้เว็บไซต์ขายงานวิจัยจริงหรือไม่

ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ประกาศว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและเด็ดขาด


ผู้นิพนธ์แรก คิดราคา 900 ดอลลาร์สหรัฐ

ประเด็นนี้ร้ายแรงแค่ไหน จะกระทบต่อแวดวงอุดมศึกษาเพียงไร และระบบการบีบให้ขอตำแหน่งวิชาการของมหาวิทยาลัยไทยด้วยปริมาณผลงานวิชาการ เป็นสารตั้งต้นสู่ประเด็น ซื้อ-แปะชื่อ ในงานวิจัยที่สังคมกำลังพูดถึงหรือไม่ บีบีซีไทยพาสำรวจในเรื่องนี้

“อายุน้อยร้อยเปเปอร์”

การตรวจสอบชื่ออาจารย์ที่ถูกตั้งคำถามว่า เข้าข่ายการซื้องานวิจัย และแต่ละคนซื้องานวิจัยจำนวนเท่าไหร่นั้น ต้องเริ่มจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. โพสต์ข้อความเมื่อ 7 ม.ค. ว่า “ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไปชอปปิงงานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ”

“ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองในเปเปอร์นั้น ๆ แล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลาง ๆ ก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผี ๆ นี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถอ้างผลงานทางวิชาการ หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆเพื่อถอนทุนคืนได้” ดร.อนันต์ กล่าวในโพสต์เฟซบุ๊กที่มีผู้แชร์กว่า 5,600 ครั้ง โดยระบุว่า พบชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย



ชื่อของอาจารย์ไทย 2 คนในงานวิจัยเดียวกันที่ ดน.อนันต์ นำมาโพสต์ คือ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

คำถามคือ ทำไมการปรากฏชื่อของอาจารย์ไทยทั้งสอง ถึงถูกตั้งคำถามว่า “ซื้องานวิจัย”, รศ.ดร. วีชัย อธิบายว่า นั่นเพราะชื่อภาษาอังกฤษของ ดร.สุภัทร และอาจารย์วานิช ปรากฏอยู่ใน Pubpeer ซึ่งเป็นเว็บไซต์ชุมชนของนักวิจัยที่วิเคราะห์งานเขียนที่ตีพิมพ์แล้ว เพื่อหาจุดอ่อนหรือข้อขัดแย้ง


เพราะ “เปเปอร์ (งานวิจัย) เหล่านี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการจ่ายเงิน มีการซื้อ แล้วไปเจอเว็บไซต์ที่มีการประกาศขายจริง ๆ และพร้อมตีพิมพ์” เขาอธิบาย

เมื่อบีบีซีไทยได้เข้าตรวจสอบข้อมูลใน Pubpeer ถึงงานวิจัยที่ปรากฏชื่อของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยทั้งสอง พบว่า
เว็บไซต์ชุมชนของนักวิจัยที่วิเคราะห์งานเขียนที่ตีพิมพ์แล้ว เพื่อหาจุดอ่อนหรือข้อขัดแย้ง


ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ (Supat Chupradit)
  • ตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปรากฏงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วใน Pubpeer จำนวน 28 รายการ
  • เอกสารตีพิมพ์ใน Scopus จำนวน 114 รายการ โดยปี 2565 ปีเดียว มีเอกสารตีพิมพ์ถึง 72 ชิ้น (2564 จำนวน 35 ชิ้น)
  • งานวิจัยที่ข้ามศาสตร์ อาทิ การบำบัดโรคมะเร็งแบบประยุกต์ ส่วนประกอบของกระจกในกระจกโลหะแบบจำรูป เป็นต้น โดยตีพิมพ์ออกมาห่างกันเป็นรายสัปดาห์
*หมายเหตุ: งานวิจัยที่ปรากฎใน Pubpeer คืองานวิจัยที่มีแนวโน้มเชื่อว่า มีความขัดแย้ง และอาจเป็นงานวิจัยที่เปิดให้ซื้อขาย



อ.วานิช สุขสถาน (Wanich Suksatan)
  • ตำแหน่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  • ปรากฏงานวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วใน Pubpeer จำนวน 38 รายการ
  • เอกสารตีพิมพ์ใน Scopus จำนวน 142 รายการ โดยปี 2565 ปีเดียว มีเอกสารตีพิมพ์ถึง 95 ชิ้น (2564 จำนวน 43 ชิ้น)
  • งานวิจัยที่ข้ามศาสตร์ อาทิ งานวิจัยด้านโครงสร้างนาโนของโลหะ ผลของใช้ไฮโดรเจนในกระจกโลหะ ทัศนคติโลกต่อข้อมูล เป็นต้น โดยตีพิมพ์ออกมาห่างกันเป็นรายสัปดาห์
ไม่เพียงเท่านั้น บีบีซีไทยตรวจสอบรายชื่องานวิจัยต้องสงสัยว่ามีการ “ซื้อขาย” จาก Pubpeer แบบเทียบเคียงผลงานของ ดร.สุภัทร และ อ.วานิช พบว่า ชื่อของทั้งสองปรากฏอยู่ในผลงานเดียวกันถึง 16 ชิ้น แม้จะอยู่กันคนละมหาวิทยาลัย และสาขาที่แตกต่างกัน


รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประเด็น คือ หนึ่งในงานวิจัยที่ปรากฏชื่ออาจารย์ทั้งสองใน Puppeer คือ Morphological Control: Properties and Application of Metal Nanostructure ได้ปรากฎบนเว็บไซต์ที่เปิดให้เข้าซื้อสิทธิการตีพิมพ์ชื่อผู้แต่งงานวิจัยลำดับต่าง ๆ ได้ ในราคา 700-900 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อสังเกตรายชื่อผู้แต่งงานวิจัยทุกลำดับ พบว่า มีทั้งคนไทย ชาวตะวันออกกลาง และอีกหลายสัญชาติ

“ดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org เราจะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก” รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ในเฟซบุ๊ก

“ชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่าง ๆ นั้ น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่สาขาของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร คริปโตเคอร์เรนซี เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม เป็นต้น นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย”



ด้าน รศ.ดร.วีรชัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่จะผลิตและตีพิมพ์งานวิจัยเกือบ 100 ชิ้นภายในปีเดียวนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าเป็นงานวิจัยที่ผลิตอย่างขาวสะอาด เขาก็ขอ “คารวะ” เพราะตัวเขาเอง ตลอดชีวิตการเป็นนักวิชาการหลายสิบปี มีเรื่องที่ตีพิมพ์ออกมา 50 เรื่องเท่านั้น

“มหาวิทยาลัยเปิดกว้างนะว่า คุณต้องตีพิมพ์ให้ได้อย่างน้อย 2 เรื่องต่อปี แต่อายุน้อยร้อยเปเปอร์ 2 ปี ทำไปร้อยกว่าเรื่อง”

เขายังอธิบายเพิ่มถึงวิธีการสังเกตงานวิจัยของอาจารย์กลุ่มที่มีจำนวนผลงานตีพิมพ์หลักร้อยขึ้นไป จะ “เป็นชื่อโดด ๆ ไม่มีลูกศิษย์พ่วงเข้าไป แต่จะมีเพื่อนร่วมวิจัยเป็นอิรัก อิหร่าน ฮังการี รัสเซีย สิบชื่อสิบประเทศ”

“ไม่รู้ไปซูมกันตอนไหน แล้วทำด้านโมลิกุล การแพทย์เชิงลึก แต่คนทำจบศึกษาศาสตร์ มันเป็นสิ่งผิดปกติ”

ธุรกิจมืดในแวดวงวิชาการ

รศ.ดร.วีรชัย ที่เคยตีแผ่ขบวนการปลอมปริญญาข้ามชาติเมื่อปี 2560 และเป็นข่าวใหญ่ในระดับโลก อธิบายให้บีบีซีไทยเข้าใจถึงกระบวนการหาเงินจากการซื้อสิทธิลงชื่อเป็นผู้แต่งงานวิจัยที่ “ผู้ซื้อมีแต่ได้กับได้”
  • ผู้ประพันธ์งานวิจัยตัวจริง ได้ดำเนินการวิจัยจนถึงกระบวนการใกล้จะตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ อาทิ ศาตราจารย์ประเทศอิหร่านด้านวิศวเคมี มีงานเตรียมตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ แต่ระหว่างรอตีพิมพ์ 20 ถึง 30 วัน เขาก็ประกาศในเว็บไซต์ว่า “ฉันทำงานวิจัยนี้กับลูกศิษฐ์ ใส่ชื่อได้ 10 ชื่อ ถ้าจะเอาผู้แต่งแรก (First Author) ก็จ่ายมา 900 ดอลลาร์สหรัฐ”
  • ผู้สนใจเข้าไปอ่านตัวอย่างงานวิจัยที่เปิดขาย แล้วโอนเงินซื้อสิทธิออนไลน์ อาทิ จ่ายเงินไป 30,000 บาท เพื่อซื้อสิทธิลงชื่อเป็นผู้แต่งแรก (First Author)
  • งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และปรากฏชื่องานวิจัยตีพิมพ์ใน Scopus หรือ Research Gate ซึ่งเป้นฐานข้อมูลบรรณานุกรมและบทคัดย่อ รวมผลงานวิจัยทั่วโลก
  • ผู้ซื้อนำหลักฐานการตีพิมพ์ เบิกเงินกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัด ซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนการตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องละ 120,000 บาท (ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย) นั่นหมายความว่า ได้กำไร 90,000 บาท
  • เมื่อซื้องานวิจัยมากเข้า ผู้ซื้อได้โปรไฟล์นักวิจัยคุณภาพ ที่สามารถนำไปขอทุนวิจัยจากกระทรวง อว. ได้เป็นหลักพันล้านบาท
  • นำโปรไฟล์ “นักวิจัยดีเด่น” เปิดคอร์สสอนการเขียนงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ จนถึงอาจเปิดหลักสูตรการเขียนงานวิจัยที่ “รับรองผลตีพิมพ์” โดยการใช้วิธีซื้องานวิจัยแบบข้อที่ 1
หากคิดตามหลักการนี้ หมายความว่า ซื้องานวิจัย ตีพิมพ์ แล้วนำผลงานไปเบิกกับมหาวิทยาลัย จำนวน 100 ชิ้น ผู้ซื้อจะได้กำไรถึง 9 ล้านบาท โดยที่ตนเองไม่ต้องทำงานวิจัยอะไรเลย ไม่นับโปรไฟล์ที่เพิ่มขึ้นในแวดวงวิชาการ


“ผู้ซื้อมีแต่ได้กับได้” รศ.ดร.วีรชัย

“มหาวิทยาลัยไม่รู้เลย” รศ.ดร.วีรชัย ตอบคำถามบีบีซีไทยที่ถามว่า แล้วเวลาเบิกจ่ายเงินให้นักวิชาการที่มีพฤติการณ์ลักษณะนี้ และขอเบิกปีละหลายสิบงานวิจัย มหาวิทยาลัยไม่สงสัยบ้างหรือ

“เวลาเอาเงินมาเบิก เจ้าหน้าที่กองคลังตรวจสอบ พบว่า หนึ่งอยู่ใน Scopus ไหม อยู่ใน ISI (สถาบันสารสนเทศวิทยาศาสตร์) ไหม มี Impact Factor (ปัจจัยกระทบ) ไหม” ถ้ามี “ไม่มีใครกล้าตรวจ เพราะผ่านการพิชญพิจารณ์ (Peer Review) แล้ว เขาก็มีหน้าที่จ่ายเงินให้”

ส่วนมหาวิทยาลัยนั้น ปริมาณงานวิจัยของบุคลากรที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ก็เป็นผลทำให้การจัดอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยดีขึ้นไปด้วย แต่ รศ.ดร.วีรชัย ตั้งคำถามถึงการได้อันดับที่ดีขึ้น จากการที่ซื้องานวิจัยมาก ๆ ที่มีแต่ปริมาณ แต่ไร้คุณภาพ

“งั้นไปซื้อสัก 10,000 งานวิจัย จะได้ติดท็อปเท็นของโลกไปเลย”

คำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา

สำนักข่าวอิศรา รายงานแถลงการณ์ของ นายวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างลาศึกษาระดับปริญญาเอกที่สหรัฐฯ

นายวานิช ชี้แจงว่า “กระผมได้เริ่มตีพิมพ์ผลงานวิชาการในฐานข้อมูลระดับชาติและนานาชาติ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) จนถึงปัจจุบัน และได้ร่วมตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ” โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
  • มีส่วนร่วมในทุกผลงานจริง ตามสัดส่วนการวิจัยในแต่ละเรื่อง
  • ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในการอ่าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปประเด็นและเขียนผลงานวิชาการ ทำให้ได้รับเชิญเป็นผู้ประเมินบทความ และบรรณาธิการวิชาการให้กับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง
  • ไม่เคยซื้อขายผลงานวิจัย และไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับประโยชน์ใด ๆ ตามที่มีรายงาน
  • แต่ละปีมีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก เป็นเพราะได้รับเชิญทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ และรับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ ทำให้มีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย ตามหลักสากล
*ขอบคุณสำนักข่าวอิศรา และอ่านคำชี้แจงของนายวานิช ฉบับเต็มทางนี้

ขณะที่ บีบีซีไทยพยายามติดต่อ ดร.สุภัทร ชูประดิษฐ์ เพื่อขอความเห็น แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้



แต่ รศ.ดร.วีรชัย มองว่าคำชี้แจงนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะควรเปิดเผยรายการเดินบัญชีธนาคาร เพื่อพิสูจน์ว่ามีการโอนเงินจ่ายไปยังเว็บไซต์ขายผลงานวิจัยหรือไม่

“ส่วนอาจารย์ที่กำลังเครียด ปิดเฟซบุ๊กหนีไปแล้วเนี่ย อย่าพึ่งให้เขาตัดสินไล่ออกเลยครับ รีบชิงลาออกก่อน ต้องแสดงความรับผิดชอบ อย่าอยู่เลย อย่าเป็นอาจารย์เลย ไปทำอาชีพอื่นนะครับ” แต่เขาไม่ระบุว่า อาจารย์คนใดที่ปิดเฟซบุ๊กไปแล้ว

มหาวิทยาลัยบีบคั้นเรื่องตำแหน่งวิชาการ ?


ศ.ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ เวิร์คพอยต์ ทูเดย์ ว่า ประเด็นอื้อฉาวที่เกิดขึ้น มีต้นตอจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ในระบบมหาวิทยาลัยไทย ที่แต่ละแห่งต้องการ Ranking หรือการจัดอันดับคุณภาพที่สูงขึ้นของสถาบันการศึกษาระดับโลก และวิธีที่จะได้อันดับที่ดีขึ้น คือ “ต้องมีงานวิจัย (ที่ตีพิมพ์) เยอะ” จึงกลายเป็นแรงกดดันต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องทำหน้าที่สอนให้มีคุณภาพ และต้องผลิตงานวิจัยให้มากขึ้น ด้วยเงื่อนไขการขอตำแหน่งวิชาการในระยะเวลาที่กำหนด

รศ. ดร. วีรชัย ของ ม.เกษตรศาสตร์ เห็นสอดคล้องกันว่า นับแต่มหาวิทยาลัยไทยออกนอกระบบ อันเป็นผลพวงจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2542 ที่รัฐบาลต้องลดภาระใช้จ่ายจากการเป็นหนี้ไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจึง “เอาบุคลากรออก” และบรรจุอาจารย์เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อเสียสวัสดิการรัฐ ก็ต้องจ่ายเงินเดือนสูงขึ้นราว 70%

“ในเมื่อเงินเดือนสูง ก็มีกลไกบีบให้อาจารย์ทำงาน เพื่อ KPI หนึ่งในนั้นคือทำหน้าที่สอน วิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” รศ.ดร.วีรชัย อธิบาย พร้อมเสริมว่า การบีบให้ผลิตงานวิจัย ก็เพื่อสร้างอันดับที่ดีให้กับมหาวิทยาลัย และชื่อเสียงของบุคลากร



“เมื่อถูกบีบด้วยดัชนีตัวนี้ ทำให้อาจารย์ต้องทำงานวิจัย และต้องตีพิมพ์ ต้องเป็น รศ. ต้องเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต้องเป็นศาสตราจารย์ ให้ได้ ถ้าดูข่าวล่าสุด ธรรมศาสตร์ เพิ่งไล่ออกอาจารย์ที่ขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ไม่ได้ในเวลาที่กำหนด”

แต่กรณีซื้องานวิจัยนั้น จะช่วยให้อาจารย์นั้น ๆ ผ่าน KPI เรื่องโควตางานวิจัยที่ตีพิมพ์ แต่ไม่สามารถนำไปขอตำแหน่งวิชาการได้ เพราะงานวิจัยที่มีการซื้อขายนั้น มักจะ “ข้ามศาสตร์” ไม่ตรงกับสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญจริง

“กลไก กพอ. เป็นด่านอรหันต์อยู่แล้ว คุณต้องไม่ตีพิมพ์ข้ามสาขา... และมีการตรวจสอบการทำวิจัยจริงหรือไม่ แปลว่าเขาก็ต้องอีเมลไปหาผู้วิจัยร่วมอีก 10 คนในงานวิจัย แต่เขาคงตอบว่าไม่รู้ เพราะฉันก็ซื้อมาเหมือนกัน” เขากล่าวเชิงตลกร้าย

เส้นทางสู่ตำแหน่งวิชาการไทย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์

ประกาศ ก.พ.อ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 กำหนดคุณสมบัติของอาจารย์ประจำ ที่สามารถรับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวิชาการ ซึ่งมีคุณสมบัติและปัจจัยพิจารณาแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ขอรับแต่งตั้ง ดังนี้

คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง - ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และทำการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี ในกรณีศึกษาจบระดับปริญญาตรี, ไม่น้อยกว่า 4 ปี ในกรณีศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า และไม่น้อยกว่า 1 ปี และพ้นระยะทดลองการปฏิบัติการที่กำหนด ในกรณีที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า

ผลการสอน - ต้องประเมินคุณภาพการสอนของผู้ขอที่ครอบคลุม โดยเฉพาะความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ขอต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา และมีความชำนาญในการสอนโดยเสนอเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการประเมินผลการสอนที่ผลิตขึ้นตามภาระงานสอน

ผลงานทางวิชาการ - แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม 1: งานวิจัย

กลุ่ม 2: ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น รวมถึง กรณีศึกษา งานแผล พจนานุกรม ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ สิทธิบัตร ซอฟต์แวร์ ผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม และผลงานนวัตกรรม

กลุ่ม 3: ตำรา หนังสือ และบทความวิชาการ

โดยการขอตำแหน่งวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แบบทั่วไป จะต้องมีผลงานทางวิชาการคุณภาพระดับ B และสามารถเลือกปริมาณผลงานวิชาการได้ 3 แบบ คือ หนึ่ง งานวิจัย 2 เรื่อง สอง งานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น 1 รายการ และ สาม งานวิจัย 1 เรื่อง และตำราหรือหนังสือ 1 เล่ม

แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบใด ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (First Author) หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding Author) และผลงานทางวิชาการทุกประเภทต้องได้รับการเผยแพร่ ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด พร้อมแสดงหลักฐานการประเมินคุณภาพโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง (Peer Reviewer) ที่มาจากหลากหลายสถาบัน

เส้นทางสู่ตำแหน่งวิชาการไทย : รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์

ในส่วนของคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งและผลการสอน จะคล้ายคลึงกับการขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่ในส่วนของผลงานทางวิชาการนั้น จะมีความซับซ้อนและเงื่อนไขที่เพิ่มมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1: ผลงานวิชาการคุณภาพระดับ B ในปริมาณที่ให้เลือกได้ 3 แบบ คือ หนึ่ง งานวิจัย 2 เรื่อง สอง งานวิจัย 1 เรื่อง และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น 1 รายการ และ สาม งานวิจัย 1 เรื่อง และตำราหรือหนังสือ 1 เล่ม ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการขอผู้ช่วยศาสตราจารย์

วิธีที่ 2: ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและปริมาณให้เลือก 2 แบบ คือ
  • หนึ่ง งานวิจัยอย่างน้อย 3 เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A อย่างน้อย 2 เรื่อง และคุณภาพระดับ B อย่างน้อย 1 เรื่อง
  • สอง งานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ A และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นอย่างน้อย 1 เดรื่อง ที่มีคุณภาพระดับ B (หากเป็นตำแหน่งวิชาการสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ขออาจใช้ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย 2 เล่ม ที่มีคุณภาพระดับ A และอย่างน้อย 1 เล่ม ที่มีคุณภาพระดับ B มาทดแทนได้)
*หมายเหตุ: นำงานวิจัยหรืองานใด ๆ ที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา ประกาศนียบัตร หรือเพื่อสำเร็จการศึกษา หรือการอบรม มาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ ไม่ได้

วิธีที่ 3: จะสงวนสำหรับการขอตำแหน่งวิชาการสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ตามที่ กพอ. กำหนด ดังนี้
  • หนึ่ง - งานวิจัยอย่างน้อย 10 เรื่อง ที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร ที่อยู่ในฐานข้อมูล Quartile 1 และ Quartile 2 ของ Scopus หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยอย่างน้อย 5 เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (first author ) หรือเป็นผู้ประพันธ์บรรณกิจ (corresponding author )
  • สอง - มีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงจาก Scopus โดยรวม (life-time citation) อย่างน้อย 500 รายการ โดยไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง
  • สาม - มีค่า life -time h -index (Scopus ) ไม่น้อยกว่า 8
  • สี่ - เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (principal investigator ) ที่ได้รับทุน จากแหล่งทุนภายนอกสถาบัน ตามจำนวนเงินที่สภาสถาบันกำหนด อย่างน้อย 5 โครงการ
ซื้อผลงานวิชาการมีความผิดไหม

วันโอวันเวิลด์ อ้างอิงถึงบทลงโทษผู้กระทำผิดซื้อผลงานวิชาการว่า พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 บัญญัติไว้ว่า

“เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการอุดมศึกษา หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร”

ส่วนมาตราที่ 77 บัญญัติโทษ คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนบทความนี้ มองว่า พระราชบัญญัติยังมีช่องโหว่อยู่ เพราะ การซื้องานวิจัยอาจไม่เข้าข่าย “จ้าง วาน" ตามที่บัญญัติไว้

“หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำมีการซื้อสถานะตำแหน่งผู้ประพันธ์งานวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ซื้อตัวผลงานวิชาการให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองโดยตรงแล้ว ผู้กระทำก็ไม่อาจที่จะถูกลงโทษตาม มาตรา 70 ได้ เพราะ 'สถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ' ไม่อาจถูกตีความให้รวมอยู่ในความหมายของ 'ผลงานวิชาการ' ได้"