วันจันทร์, มกราคม 30, 2566

ศีลธรรมผู้พิพากษา


สุรพศ ทวีศักดิ์
10h

ศีลธรรมผู้พิพากษา
ประเด็นทางกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมีคนยกมาตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของศาล หรือคำตัดสินของผู้พิพากษากรณีคดี 112, 116 มากแล้ว ผมอยากตั้งคำถามประเด็นศีลธรรมผู้พิพากษา
เท่าที่ทราบคนในวงการหมอกับผู้พิพากษาได้รับการอบรมศีลธรรมแบบพุทธมากที่สุด มีคนในวงการหมอและผู้พิพากษาบางคนหรือหลายคนเป็น "ผู้รู้พุทธ" เขียนบทความและหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาออกมาบ่อยๆ
ผมเลยอยากถามว่า บรรดาผู้พิพากษาที่รับการอบรมศีลธรรมแบบพุทธมา พวกเขา "รู้สึก" อย่างไรกับกรณี "ตะวัน-แบม" อดอาหารประท้วงแบบเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้เพื่อนๆ ได้รับการประกันตัว และเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมถูกปฏิรูปให้มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง และสามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยได้จริง
เท่าที่ทราบพุทธศาสนาสอนให้มี "เมตตากรุณา" ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยมองทุกคนเป็น "เพื่อนร่วมทุกข์" เห็นความทุกข์ของคนอื่นเหมือนความทุกข์ของเรา นี่คือจุดเริ่มต้นของสำนึกทางศีลธรรมที่ทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันและกัน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หลีกเลี่ยงการเบียดเบียนทำร้ายกันและกันทั้งด้วยวิธีการนอกกฎหมาย และการใช้กฎหมายที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคน
ถามว่าบรรดาผู้พิพากษาที่ล้วนผ่านการอบรมศีลธรรมแบบพุทธมาได้นำ "สำนึกทางศีลธรรมแบบพุทธ" มาปรับใช้กับการพิจารณาคดีให้ยุติธรรมบนหลักการปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่อย่างไร และมีสำนึกต่อตะวัน-แบมและคนอื่นๆ ทุกคนที่ต้องคดี 112, 116 ว่าเขาเหล่านั้นเป็น "เพื่อนร่วมทุกข์" ของผู้พิพากษาหรือไม่ สำนึกทางศีลธรรมที่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์กับการรักษาความยุติธรรมบนฐานของการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนควรไปด้วยกันหรือไม่