วันอาทิตย์, มกราคม 29, 2566

ในปี 2022 คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าสูบบุหรี่ 1,224 มวน


Rocket Media Lab
2d

แม้ในปี 2022 จะเป็นปีที่กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ถูกกล่าวถึงน้อยลง และมีการคาดการณ์กันว่า ปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5 น่าจะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากถูกฝนชะล้าง
.
Rocket Media Lab ชวนสำรวจภาพรวมสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในปี 2022 ว่า ฝุ่น PM2.5 หายไปจริงไหม
.
*กรุงเทพฯ และ PM2.5 ในปี 2022
จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ
.
พบว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี ซึ่งมากกว่าปี 2021 ที่มีจำนวน 202 วัน ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2021 ที่มี 61 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี ซึ่งลดลงจากปี 2021 ที่มีถึง 12 วัน
.
จากข้อมูลยังพบว่า เดือนที่กรุงเทพฯ อากาศแย่มากที่สุดในปี 2022 คือเมษายน โดยมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง 3 วัน และเป็นเพียงเดือนเดียวที่มีสภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดง สูงสุด ณ วันที่ 9 เมษายน 2022 โดยมีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
.
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในปี 2020 และ 2021 เดือนที่กรุงเทพฯ มีอากาศเลวร้ายเต็มไปมลพิษฝุ่น PM2.5 มากที่สุด คือเดือนมกราคม ขณะที่ปี 2022 กลับเป็นเดือนเมษายน
.
*3 เดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด
นอกจากเมษายนจะเป็นเดือนที่มีวันที่มีค่า PM2.5 สูงสุด และมีวันที่สภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีแดงเพียงเดือนเดียวในปี 2022 แล้ว เมษายนยังเป็นเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดโดยมีค่าฝุ่นเฉลี่ยสูงสุดอีกด้วย โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเพียง 2 วัน สีเหลืองหรือคุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน สีส้มหรือคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 6 วัน และสีแดง หรือมีผลต่อสุขภาพ 3 วัน
.
รองลงมาคือธันวาคม โดยไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย ขณะที่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 11 วัน
.
ถัดมาคือเดือนมกราคม ซึ่งไม่มีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดีเลย และมีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 19 วัน และสีส้ม คุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 12 วัน
.
จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 แตกต่างจากในปี 2020 และ 2021 ที่มีสามเดือนที่มีอากาศเลวร้ายมากที่สุดคือเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์
.
*3 เดือนที่มีอากาศดีที่สุด
เดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2022 ก็คือกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทั้งเดือนต่ำที่สุด โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 11 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 20 วัน
.
รองลงมาก็คือกันยายน โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 13 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 17 วัน และเดือนสิงหาคม โดยมีวันที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวที่ถือว่าอากาศดี 7 วัน มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเหลือง คุณภาพอากาศปานกลาง 24 วัน
.
จะเห็นได้ว่าสามเดือนที่มีอากาศดีที่สุดในปี 2022 แตกต่างจากในปี 2020 และ 2021 ที่สามเดือนที่มีอากาศดีที่สุดคือเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน (โดยไม่เรียงลำดับ) ในขณะที่วันที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 คือวันที่ 30 กันยายน 2022 โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
.
อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นในแต่ละวันตามสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project เป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอาจเป็นไปได้ว่าในวันหนึ่งหนึ่งอาจจะมีบางเขตของกรุงเทพฯ ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีบางเขตที่มีค่าฝุ่นต่ำกว่าเฉลี่ย หรือแม้กระทั่งมีค่าฝุ่นอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในทุกทุกเขต
.
*ถ้าค่าฝุ่น PM 2.5 22 มคก./ลบ.ม. = บุหรี่ 1 มวน ปี 2022 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไปกี่มวน
จากงานของ Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งหากนำค่าฝุ่นแบบค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในแต่ละวันของปี 2022 มาคำนวณเปรียบเทียบตามเกณฑ์ของ Richard Muller จะพบว่า
.
ในปี 2022 ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ ทั้งหมดจำนวน 1,224.77 มวน ลดลงถึง 37 มวนจากปี 2021 ที่จำนวน 1261.05 มวน ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าในภาพรวมปี 2022 อากาศดีกว่าปี 2021 แม้จะมีวันที่อากาศดีอยู่ในเกณฑ์สีเขียวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งก็ตาม
.
สำหรับเดือนที่มีอากาศเลวร้ายที่สุดในปี 2022 อย่างเดือนเมษายน คนกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 127.77 มวน คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 4.26 มวน โดยลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศเลวร้ายที่สุด ที่คิดเป็นจำนวน 163.68 มวน
.
หรือในเดือนที่อากาศดีที่สุดในปี 2022 อย่างกรกฎาคม คนกรุงเทพฯ ก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 74.36 มวน เฉลี่ยวันละ 2.4 มวน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2021 ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศดีที่สุดเช่นเดียวกัน ที่คิดเป็นจำนวน 64.86 มวน
.
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการชี้ว่าควันพิษจากบุหรี่นั้นมีสารพิษมากกว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก
.
อ่านต่อได้ที่ https://rocketmedialab.co/bkk-pm-25-2022
#RocketMediaLab #PM25