Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
2d
[ผู้ที่หยุดการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ คือ นักการเมือง]
“กฎหมาย” สัมพันธ์กับ “การเมือง”
“การเมือง” เป็นอย่างไร ก็สะท้อนการใช้ “กฎหมาย” อย่างนั้น
“กฎหมาย” เป็นเพียงตัวอักษรเปื้อนหมึกบนกระดาษ จะมีพลังได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์กรผู้มีอำนาจตามระบบกฎหมายนำบทบัญญัติกฎหมายมาตราต่างๆ ไปใช้และตีความ
กฎหมายที่เลวร้ายที่สุด อยุติธรรมที่สุด หากไม่ถูกนำมาใช้เลย ไม่มีองค์กรเจ้าหน้าที่ใดนำมาใช้ให้เป็นผลร้ายแก่ประชาชนเลย ต่อให้กฎหมายนั้นยังไม่ถูกยกเลิก ก็เสมือนกับเป็นกฎหมายที่ตายไปแล้ว
ตรงกันข้าม กฎหมายเขียนให้รัดกุมอย่างไร คุ้มครองสิทธิอย่างไร หากมีองค์กรเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรม ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เลวร้าย ไร้ซึ่งยุติธรรมและมนุษยธรรม กฎหมายเหล่านั้นก็อาจแปลงร่างกลายเป็นอาวุธลงทัณฑ์ผู้คน
กฎหมายจึงมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวเอกเทศ แต่สัมพันธ์กับระบบอำนาจ
ความสัมพันธ์ทางอำนาจเป็นตัวชี้ขาดกำหนดกฎหมาย ทั้งการตรากฎหมายเป็นตัวอักษร ทั้งการนำตัวอักษรเหล่านั้นไปใช้และตีความ
ในระบบแห่งอำนาจทางกฎหมาย ประกอบไปด้วยบรรดาองค์กรของรัฐทั้งหลายที่เป็นผู้สร้าง ใช้ และประกันให้มีสภาพบังคับ ตั้งแต่ รัฐสภา รัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล ราชทัณฑ์
หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ไม่นำ 112 มาใช้อย่างบิดเบือน
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย
หากมาตรา 112 คงอยู่ รัฐสภาไม่ยกเลิก แต่ศาลนำ 112 มาตัดสินคดีโดยไม่ขยายความเกินกว่าตัวบท มุ่งหมายคุ้มครองสิทธิของประชาชน
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้น้อย
ตรงกันข้าม
หากมาตรา 112 คงอยู่ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายนำมาใช้อย่างขยายความ เกินขอบเขต ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน
112 ก็แผลงฤทธิ์ได้มาก
และในบางกรณี อาจแผลงฤทธิ์ได้มากจนเกินกว่าตัวอักษรในมาตรา 112 ก็มี ตีความคำว่า “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย” จนผิดเพี้ยนไปหมด
การยุติหรือบรรเทาการใช้ 112 ผิดเพี้ยนได้ จำเป็นต้องใช้ “อำนาจหยุดยั้งอำนาจ” ก็ในเมื่อองค์กรของรัฐหนึ่ง (พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล) ใช้อำนาจตามแดนของตนเองขยาย 112 ออกไปเช่นนี้ ก็ต้องมีองค์กรของรัฐอีกหนึ่ง (รัฐสภา) ใช้อำนาจตอบโต้กลับไป
เมื่ออำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อ้างว่า ตนใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 112
หากต้องการหยุดการใช้ 112 ของพวกเขา ก็ต้องให้อำนาจนิติบัญญัติ ตรากฎหมายยกเลิกมาตรา 112 หรือตรากฎหมายนิรโทษกรรมคดี 112 นั้นเสีย
นี่คือการตอบโต้กันระหว่างอำนาจในระบบ เป็นเรื่องปกติของหลักการแบ่งแยกอำนาจ
การยุติ 112 ได้ จึงไม่อาจอาศัยการรณรงค์เรียกร้อง การชุมนุม ได้แต่เพียงอย่างเดียว ผู้ที่จะทำให้ 112 ยุติได้อย่างแท้จริง บังเกิดผลในทางกฎหมาย ก็คือ รัฐสภา
ภายใต้สถานการณ์การใช้ 112 ผิดเพี้ยนกันอย่างกว้างขวางเช่นนี้ บรรดานักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง จึงต้องรับภารกิจเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ดำเนินการตรากฎหมายยกเลิก 112
การแก้ไขกฎหมายแบบ “เลาะตะเข็บ ชายขอบ” เฉพาะแค่สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัว ไม่ยอมพูดถึง 112 โดยตรง คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่แก้ไขปัญหา เป็นเพียงการเล่นละครตบตา เพื่อโฆษณาให้รู้ว่า “ฉันก็ทำนะ” แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำ
เช่นกัน… การแก้ไข 112 แต่เพียงเล็กน้อย คือ การแก้ไขปัญหาที่ไม่เพียงพอ ในท้ายที่สุด “อสุรกาย 112” ก็พร้อมคืนชีพได้เสมอ
ประชาชนผู้รณรงค์เรียกร้องการ #ยกเลิก112 มาอย่างอดทนเหน็ดเหนื่อยมากกว่าทศวรรษ จำเป็นต้องพุ่งตรงกดดันไปที่นักการเมือง พรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะพวกเขาเหล่านี้มีอำนาจรัฐในการทำให้เกิดขึ้นจริงในระบบกฎหมาย
เรียกร้องกดดันให้หนักไปที่พรรคการเมือง
และหากพรรคการเมืองใดที่ทำเรื่องนี้จริง แล้วประสบเหตุเภทภัย จนทำให้ไม่สำเร็จ ประชาชนก็จะเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้
แน่ล่ะ… หากพรรคการเมืองหริอ ส.ส. เดินหน้ายกเลิก 112 ก็อาจถูกกลไกรัฐของระบอบนี้เข้าสกัดขัดขวาง
ตั้งแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายล้าหลัง สมาชิกวุฒิสภากาฝาก ศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการประกาศใช้กฎหมาย
แต่นั่นมิใช่เหตุผลข้ออ้างในการไม่ทำอะไรเลย
หากนักการเมืองคาดการณ์ว่าอาจถูกสกัดขัดขวาง จึงไม่ทำ ผลลัพธ์ก็คือ ประชาชนไม่ได้อะไร นอกจากมีนักการเมืองเป็น “พะนะท่าน” ชูคอในสภา ในรัฐบาล เพิ่มขึ้นๆ ต่อไปๆ
ตรงกันข้าม ถ้าลงมือทำ แล้วเกิดสำเร็จ ผลดีก็จะเกิดอย่างถ้วนทั่ว แต่หากถูกสกัดขัดขวาง มันก็กลายเป็นโอกาสในการยกระดับการต่อสู้
ทุกอย่างอยู่ที่ “เจตจำนง”
.....
ผมได้พูดเรื่อง 112 หลายครั้งว่าปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ที่ขาดหลักนิติธรรม เลยทำให้ไประคายเจ้านาย ผมมั่นใจว่าถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะไม่มีเหตุการณ์แบบทุกวันนี้ จนแทบจะไม่รู้สึกว่ากฎหมายเป็นปัญหา การแก้ปัญหาด้วยการบริหารด้วยหลักนิติธรรมที่เป็นสากลจะง่ายและรวดเร็วกว่าการแก้กฎหมายเยอะ