วันเสาร์, กรกฎาคม 04, 2563

ร่วมลงชื่อยกเลิกเกณฑ์ทหาร




พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
June 23 at 2:59 AM ·

[ ร่วมส่งเสียงของประชาชน! สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ]
.
หากยังจำกันได้ ครั้งที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ถูกยุบ ส.ส. ของเราได้ร่วมกันยื่น ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ที่จะนำไปสู่การยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรสู่ขั้นตอนการพิจารณา
.
บัดนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กำลังเข้าสู่กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วผ่านทางเว็บไซต์ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=82 *อ่านเนื้อหาโดยสรุปได้ในช่องคอมเมนท์*
.
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทุกร่างกฎหมายต้องผ่านขั้นตอนการฟังความคิดเห็นนี้ ซึ่งจะกลายมาเป็นส่วนสำคญในการพิจารณากฎหมายต่อไป โดยเฉพาะในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 และ 2
.
การต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพและยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารย่อมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการขับเคลื่อนจาก ส.ส. เพียงลำพัง หากแต่เสียงเรียกร้องกู่ก้องของสังคมจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้มีอำนาจในการยกมือให้ “ผ่าน/ไม่ผ่าน” ต้องรับฟัง
.
ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านที่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ มาร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องร่วมกัน สนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ อันจะเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปกองทัพต่อไปในอนาคต
.
เสียงของท่านหนึ่งเสียงเมื่อรวมกันมากเข้า สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศนี้ได้ นี่คืออนาคตของคนหนุ่มวัยสร้างเนื้อสร้างตัวนับแสนคนที่ต้องพรากจากลูกเมียพ่อแม่ทุกๆ ปี รวมทั้งชีวิตของทหารชั้นผู้น้อยทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องถูกกดขี่ลงเป็นทาส ไปรบกับหญ้าฆ่ากับมด ซักกางเกงในให้นายเหมือนที่ผ่านมา
.
----------
.
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยอดีตพรรคอนาคตใหม่ ประกอบไปด้วย
.
1. ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามสันติ ให้ใช้เฉพาะวิธีการสมัครโดยเปิดโอกาสให้ทั้งเพศชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกัน
.
2. แก้ปัญหาที่เรื้อรังของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการนำพลทหารไปรับใช้ส่วนตัว การฝึกทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทำการอื่นใดที่ละเมิดต่อร่างกาย จิตใจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในค่ายทหาร โดยกำหนดบทลงโทษวินัยร้ายแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาข้างต้นเกิดขึ้นซ้ำอีก
.
3. ให้ใช้วิธีการฝึกที่มีมาตรฐานเดียวกัน หลักสูตรที่ใช้ฝึกต้องรวมถึงความรู้ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประเพณีทางทหารแบบสากล และกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทางทหาร
.
4. ยกระดับให้ทหารมีเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี เช่น การมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงครอบครัว ได้รับทุนการศึกษา ให้โอกาสต่อยอดเข้าไปเป็นทหารชั้นประทวนและสัญญาบัตร ซึ่งสามารถครองชั้นยศสูงสุดได้ถึงพันโทและหากปลดประจำการก็จะมีทุนประกอบอาชีพให้
.
-----------
.
ขั้นตอนการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
.
1. เข้าไปที่หน้าเว็บ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=82 ซึ่งทุกคนสามารถเปิดดูหรือดาวน์โหลดตัวร่างได้จากที่นี่
.
2. กดปุ่ม “แสดงความคิดเห็น” ด้านล่างสุด เข้าสู่หน้าเว็บถัดไป
.
3. ใส่ข้อมูลของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้แก่ เพศ, อายุ, ระดับการศึกษา, อาชีพ และความเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. นี้ (เช่น เป็นชายสัญชาติไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป, เป็นผู้ปกครองของชายไทยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ, เป็นทหารกองประจำการ, กองเกิน, กองหนุน (รด.), เป็นเจ้าหน้าที่สัสดี, เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ)
.
4. ตอบคำถามในประเด็นต่างๆ 7 ข้อ โดยในแต่ละข้อให้เลือกว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ในประเด็นของข้อนั้นๆ พร้อมทั้งระบุเหตุผลที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
.
สำหรับคำถามทั้ง 7 ข้อที่ต้องตอบ ได้แก่
.
4.1) ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ
.
4.2) ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่ให้ถือเอาที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลเป็นเป็นภูมิลำเนาทหาร
.
4.3) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดมีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เปลี่ยนจาก “หน้าที่” เป็น “สิทธิ” สมัครเป็นทหารได้โดยสมัครใจ ไม่ใช่ถูกบังคับ)
.
4.4) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับราชการทหาร หลักเกณฑ์การบรรจุ และการเกษียณอายุราชการของทหารกองประจำการ
.
4.5) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดวิธีการและหลักสูตรการฝึกทหารกองประจำการ เงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับ และห้ามมิให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นใดให้ทหารกองประจำการทำงานลักษณะรับใช้ส่วนตัว
.
4.6) ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีตราพระราชกฤษฎีกาเรียกระดมพลให้ทหารกองเกินเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารกองประจำการในกรณีที่อาจเกิดภาวะสงคราม
.
4.7) ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่กับการกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาการเข้ารับราชการทหารกองประจำการที่จะปลด เป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 และช่วงอายุที่ให้ปลดพ้นราชการทหารกองหนุนประเภทที่ 1
.
5. ที่ด้านล่างสุด กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดปุ่ม “ร่วมแสดงความคิดเห็น” เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับ
.
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเก็บข้อมูลบัตรประชาชนของผู้แสดงความคิดเห็นเป็นความลับ และรายละเอียดของการแสดงความเห็นบุคคลอื่นไม่สามารถดูได้
.
#ก้าวไกล #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร #รัฐสภา