วันอังคาร, มิถุนายน 16, 2563

#สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯรู้ไหมว่า?? สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้ว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่ไม่เคยมีความคิดรื้อถอนทุบทิ้งหรือทำลายศาลเจ้าเก่าแก่ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนจีนในลาวเลย


ooo


...

ประชาชนร่วม #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนจุฬาฯ รื้อถอน


THAI NEWS PIX

15 มิถุนายน 2020
บีบีซี ไทย

ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (15 มิ.ย.) ซึ่งเป็นเส้นตายที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดให้ย้ายออกจากพื้นที่ ขณะที่กลุ่มนิสิตจุฬาฯ รวมตัวกันที่ศาลเจ้าเพื่อคัดค้านการรื้อถอนสถานที่เก่าแก่แห่งนี้

ก่อนหน้านี้ สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ดูแลศาลเจ้าให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิ.ย. เพื่อปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอาคารตามโครงการพัฒนาที่ดินตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งทางจุฬาฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่ภายในบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ไว้สำหรับก่อสร้างศาลเจ้าทับทิมแห่งใหม่


THAI NEWS PIX

บีบีซีไทยสอบถามผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เธอบอกว่าเจ้าหน้าที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ได้นัดหมายว่าจะเข้ามาเจรจาและเซ็นเอกสารแต่ขณะนี้ยังไม่ใครมาขอพบ

THAI NEWS PIX

"ยังต้องรอต่อไปว่าจะสามารถต่อรองขอความเมตตาได้แค่ไหน" ผู้ดูแลศาลเจ้าซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวของตระกูลที่เป็นเจ้าของศาลเจ้าบอกกับบีบีซีไทยโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ

ช่วงสายวันนี้ นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าจุฬาฯ และทายาทผู้ดูแลศาลเจ้าและประชาชน ร่วมถือป้ายผ้าแสดงข้อความคัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม ขณะที่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาเดินทางมากราบไหว้ขอพรเจ้าจากเจ้าแม่ทับทิมอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อย้าย เนื่องจากมีความผูกพันกับศาลเจ้าแห่งนี้มาเป็นเวลานาน และเห็นว่าศาลมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและมีสถาปัตยกรรมจีนที่สวยงามควรจะอนุรักษ์ไว้

THAI NEWS PIX

นายนฤสิริ เชาวน์ฤทธิ์ นิสิตจุฬาฯ คณะอักษรศาสตร์ปี 3 เรียกร้องให้คงพื้นที่ศาลเจ้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เพื่อรักษารากเหง้าประวัติศาสตร์เก่าแก่ของชุมชนเอาไว้ อีกทั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะ "เตี่ยโผวกิก" ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวก่อนมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และคุณค่าทางจิตใจของผู้ศรัทธาและชุมชน

นายอำพันเทพ ธารวณิชย์การ ศิษย์เก่าจุฬาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ศรัทธาที่มาสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต ไม่เห็นด้วยกับการที่สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ พยายามใช้พื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด จนลืมวิถีชีวิตของชุมชนหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่นิสิตและการศึกษา

THAI NEWS PIX

นางนวรัตน์ แซ่จัง หนึ่งในประชาชนผู้ศรัทธากล่าวว่า เธอมีความผูกพันกับศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งแต่ยังเล็ก บอกว่าถ้ารื้อถอนศาลแห่งนี้ เธอก็ไม่รู้ว่าจะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด เธอคิดว่าจุฬาฯ ควรยกเว้นพื้นที่นี้ไว้เพราะศาลเจ้าแม่ทับทิมก็เปรียบเหมือนเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าแห่งหนึ่งของชุมชน

หลังจากมีกระแสคัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ชี้แจงว่า ทางจุฬาฯ ต้องการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมคุณค่าให้แก่ศาลเจ้าแม่ทับทิม "อย่างสมเกียรติ" เพื่อความเป็นสิริมงคลคู่ชุมชน โดยการสร้างศาลเจ้าในพื้นที่ใหม่นั้นจะดูแลโดยนักออกแบบและทีมก่อสร้างที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญเรื่องศาลเจ้าจีน โดยการออกแบบและก่อสร้างจะคำนึงถึงความดั้งเดิมพร้อมสถาปัตยกรรมร่วมสมัยและหลักฮวงจุ้ย โดยคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งใหม่ได้ประมาณเดือนธ.ค. นี้


THAI NEWS PIX