วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 04, 2563

เหลือขอจริงๆ สว.ตู่ตั้ง ถึงเวลาหยุด "เสียงเห่าของสุนัขรับใช้ทั้งหลาย" ได้แล้ว


เหลือขอจริงๆ นะ พวก สว.ตู่ตั้งเนี่ย เมื่อสองวันก่อนวุฒิสภาเห็นชอบ ให้อดีต สนช.ที่พ้นตำแหน่งไม่ถึงปี เข้าไปเป็นกรรมการ ปปช.ได้ ก่อนหน้านี้ไม่นานกรรมการสรรหา กสม. (สิทธิมนุษยชน) ตีความว่าอดีต สนช.ไม่ถึงสิบปีเป็นกรรมการองค์กรอิสระไม่ได้

ความที่พวก สว.นี่ บาตรใหญ่กันทั้งนั้น เลยตีความกฎหมายตามใจตัวเป็นนิจสินขั้นสันดั้น (สำเนียงบริทิช) ดั่งกรณีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข มีคุณสมบัติต้องห้ามได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการปราบคอรัปชั่น เพราะเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อไม่นานมานี้เอง

ขนาดนักกฎหมายพวกเดียวกันอย่างเจษฎ์ โทณะวณิก ยังกระอักกระอ่วน ตะล่อมอ้อมแอ้มบอกว่ารัฐธรรมนูญ ม.๒๖๓ ตีความได้สองง่าม ในเมื่อบอกว่าให้ สนช.ไปทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. ก็ต้องถือเป็นข้าราชการการเมือง

เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับคัดสรรดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่ได้ แต่ถ้าจะตีความว่า สนช.ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.ให้ไปทำหน้าที่ออกกฎหมายให้ (เพื่อ) คสช. ก็อาจตีความว่าไม่ใช่หน้าที่ประจำ แม้จะ “มีสวัสดิการ เงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง”

ถึงอย่างนั้นเจษฏ์ยังอุตส่าห์บอกว่า ตัวเอง “ถือว่าผู้ที่เคยเป็น สนช.ยังไม่พ้นระยะเวลา ๑๐ ปี ย่อมไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระได้” แต่ รธน. ๖๐ “เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช.สามารถเป็น ส.ว.ได้” แม้จะได้เป็นกันเยอะก็ยังมีเหลือตกค้าง

พวกตกค้างนี่แหละที่พากันจ้องคอยสมัครเข้าองค์กรอิสระ ยามใดที่ที่มีตำแหน่งเปิด “ซึ่งเหมือนกับเพื่อนช่วยเพื่อน ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่” เจษฏ์พยายามเดินถ่างขาสองแคม


แต่พวกทั่นๆ สว.ที่ได้กินเงินแสนกันแล้วทุกเดือนที่มีจิตโอบอ้อม เห็นแก่เพื่อนไม่ฟังแล้วยังตัดสินข้างเดียว “ยืนยันว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว. แต่สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ...มีองค์ประกอบไม่เหมือน ส.ส.และ ส.ว.

เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษา มาเป็น สนช.ได้” อ้าว แล้ว ส.ส.และ สว.ทีมาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้อนุโลมให้อาชีพทหาร อาชีพตุลาการ เป็นได้หรอกเหรอ หรือต่างตรงที่ สนช.นั้นตั้งมาโดยหักคอประชาชน เลยสิทธิเหนือกว่า
 
สมชาย แสวงการ ยังอ้างแบบดักดานด้วยว่า กรณีกรรมการสรรหา กสม. ตัดสินว่าอดีต สนช.ไม่เกินสิบปีเป็นองค์กรอิสระอีกไม่ได้นั้น “แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหาป.ป.ช. เพราะมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และ

ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย (ผู้) ตีความ” จึงถือว่าน่าเชื่อถือมากกว่าคราวสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน ครั้งนั้นพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก กับ น.ส.จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร ซึ่งเคยเป็น สนช.ชุดเดียวกับนายสุชาติ ถูกตีตกด้วยเสียง ๕ ต่อ ๒

พอดีเสียงข้างมาก ๕ คนตอนนั้น ไม่ได้มีอาชีพใช้กฎหมายหากิน ขณะที่ ๒ เสียงค้านเป็นนักกฎหมาย มาคราวนี้อ้างกรรมการสรรหา ปปช.มีนักกฎหมายเยอะ เลยทำให้ความเป็นนักกฎหมายสำคัญกว่าการเป็นเสียงข้างมากงั้นหรือ


ประชาชนได้เห็นการบิดเบี้ยวตีความกฎหมายอย่างนี้ไม่เว้นแต่ละวัน เพียงเพื่อให้พวกพ้องฝักฝ่ายตนได้รับชัยชนะสม่ำเสมอ เสียงสรรพยอกบอกว่าประชากรไทยนี้มีน้ำอดน้ำทนเหลือหลาย โดนกดขี่ข่มเหงไม่รู้กี่ครั้งกี่หน ทนจริงๆ

ยิ่งคราวนี้ยาวนานกว่า ๖ ปี ยังจะทนกันต่อไปอีกเท่าไร ให้ครบสี่ปีสมัยนี้ ต่ออีกสี่ปีสมัยหน้าแล้วค่อยว่ากันละหรือ ไฉนไม่รู้จักพอเสียที มันถึงเวลาแสดงออกได้แล้วว่า เสียงเห่าของสุนัขรับใช้ทั้งหลายสร้างบรรยากาศเน่าเฟะ เกินกว่าจะต้องทนอีกต่อไป