วันพุธ, มิถุนายน 17, 2563

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์... ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิม...




“...ตอนนั้นมันเป็นช่วงหัวค่ำ ผมได้รับโทรศัพท์บอกว่า ต้าร์ถูกอุ้มหาย ผมตกใจมากเพราะ...เป็นรูปแบบของการกระทำที่ไม่ได้เกิดขึ้นรายแรก มันมีทิศทางแบบแผนที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องกับคนเห็นต่างที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ ต้องหลบลี้หนีไปนอกประเทศแล้วยังไม่พ้นชะตากรรม ถูกติดตามไล่ล่า เมื่อตรวจสอบเข้าไปในกัมพูชาเราสามารถยืนยันได้ว่า เกิดเหตุการณ์จริง ทำไมเราต้องใส่ใจเรื่องของวันเฉลิมไม่ว่าเราจะรู้จักเขาหรือไม่ เรารู้จักเขาในฐานะไหน มีภาพเกี่ยวกับเขาออกมาอย่างไร เริ่มจากหนึ่งเราต้องมองว่า วันเฉลิมคือคน เป็นมนุษย์หนึ่งคน สิทธิเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์คือการที่จะมีชีวิต ตอนนี้เขาอยู่ในสภาวะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดได้เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เราควรจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจ ควรจะต้องห่วงกังวล

สอง วันเฉลิมเป็นคนไทย จะเห็นด้วยเห็นต่างกับรัฏฐาธิปัตย์ จะเป็นที่รู้จักตัวกับนายกฯประยุทธ์หรือไม่ เขาเป็นคนไทย รัฐบาลไทยมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะพิทักษ์คุ้มครองคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในสภาวะที่ชีวิตของเขาเผชิญอันตรายอย่างยิ่ง ไม่ต้องบอกว่า รู้จักไม่รู้จัก ประชดเหน็บแนม นั่นไร้สาระ และนั่นคือการทำให้ด้อยค่า เบี่ยงประเด็นเรื่องการรับผิดชอบของรัฐบาลไทย ไม่ต้องมาพูดว่า รู้จักเขาหรือเปล่า จริงๆถ้าถามว่ารู้จักเขาหรือเปล่า ตัวคำสั่งคสช.ที่เรียกวันเฉลิมมารายงานตัว และตัววันเฉลิมเขาไม่ยอมรับความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ซึ่งอาจมีผลทำให้เขาถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ไม่สอดรับกับกติกาสากลใดๆทั้งสิ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่รายงานตัวและลี้ภัย

ผมเสียใจเมื่อวานที่ฟังการอภิปรายตอบคำถามในรัฐสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีการเหน็บที่บอกว่า วันเฉลิมไม่ใช่ผู้ลี้ภัยเช็คกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้วไม่มีชื่อ ผมไม่เข้าใจว่า คนระดับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไม่ได้อ่านคำนิยามตามกติกาสากลว่าด้วยผู้ลี้ภัยหรือ ผู้ลี้ภัยคือคนที่มีความกลัว ทำให้กลัวว่า ตนเองจะถูกประหัตประหารด้วยเหตุผลว่า เขามีความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนา หรือเชื้อขาติ หรือสาเหตุอื่นๆ ทำให้ต้องอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเลย เพียงแต่สามารถยืนยันว่า เขามีความกลัวที่อยู่ในบ้านเกิดถิ่นฐานไม่ได้ วันเฉลิมนี่ชัดเจนว่า เป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง การเบี่ยงประเด็นเรื่องการจดทะเบียนกับ UNHCR เหมือนทำให้วันเฉลิมด้อยค่า พยายามสร้างภาพที่เป็นภาพที่บิดเบือนให้สังคมเข้าใจ ในทัศนะของฮิวแมนไรท์วอทช์เขาคือผู้ลี้ภัย

วันเฉลิมเป็นคนเห็นต่างที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติมาตลอด ไม่ใช่คนที่ใช้กำลังรุนแรง ยั่วยุมีการปลุกปั่นโค่นล้มด้วยกำลังด้วยอาวุธแต่อย่างใด เป็นคนเห็นต่างๆที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ ไม่ว่าวันเฉลิมจะเป็นอย่างไร ปล่อยให้คนไทยไปเผชิญชะตากรรมสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตไม่ได้ รัฐบาลต้องเดือดร้อนต้องกังวลต้องเร่งในการทวงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เรียกร้องให้มีการสอบสวน และเป็นไปได้นำตัวกลับมาโดยปลอดภัย นี่อะไรเมื่อวานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพูดในรัฐสภา รายงานการเรียกร้องให้มีการสอบสวนเป็นเรื่องสร้างกระพือข่าว เรียกร้องความสนใจ ผมไม่คิดว่า จะได้ยินจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

วันเฉลิมไม่ใช่รายแรก วันเฉลิมเป็นรายที่เก้าแล้วของคนเห็นต่างที่ต้องลี้ภัยและถูกอุ้มหาย ในเก้าคน สองคนพบว่าเป็นศพถูกฆ่าอย่างทารุณ ถูกคว้านท้อง รัดคอ จริงๆเชื่อว่า มีสามศพด้วยซ้ำ แต่ศพที่สามถูกปล่อยให้ไปตามแม่น้ำ ชะตากรรมของคนที่ถูกอุ้มหายมันเสี่ยงถึงขั้นต่อชีวิตเพราะมีการตายเกิดขึ้น ตอนนี้จะครบสัปดาห์แล้ว ยิ่งเวลาทอดนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะทุกชั่วโมง มัวแต่มาตีฝีปาก ประชดเหน็บแนมมันไม่ใช่วิสัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหรือนายกรัฐมนตรี

สิ่งที่น่ากังวลเราพบว่า ในโซเชียลมีเดียมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ มีการประสานงานที่จะสร้างมลทินและด้อยค่า เป็นคำศัพท์อย่างเป็นทางการของหน่วยงานความมั่นคงว่า ทำอย่างไรให้คนเห็นต่างและเป็นศัตรูด้อยค่าและมีมลทิน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการนำรูปที่โพสต์โดยวันเฉลิมก็ดี ทำให้วันเฉลิมอยู่ในสถานะที่ทำให้สังคมมองว่า ไปช่วยเขาทำไมคนแบบนี้ นี่คือปฏิบัติการด้านข่าวสารหรือไอโอ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดความด้อยค่าและมีมลทิน

ผลที่ตามมาคือ ช่วยทำให้รัฐบาลกัมพูชาเลี่ยงภาระในการสอบสวน คำถามที่ตามมาคือแล้วช่วยรัฐบาลกัมพูชาทำไม มีเอี่ยวอะไรกันหรือเปล่า สมรู้ร่วมคิดกันหรือเปล่า ข้อเรียกร้องของฮิวแมนไรท์วอทช์จึงเป็นข้อเรียกร้องต่อทั้งสองรัฐบาล รัฐบาลกัมพูชาในฐานะเจ้าของพื้นที่ รัฐบาลกัมพูชาต้องมีคำตอบได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ท่ามกลางพยานทีเห็นเหตุการณ์และมีภาพวงจรปิด ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ แต่โฆษกตำรวจกัมพูชาบอกว่า นี่คือเฟคนิวส์ คนที่ใหญ่กว่าบอกว่า ไม่รู้ไม่เห็น จนกระทั่งถูกกดดันจากนานาชาติเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาที่บอกว่า ไหนบอกว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแปก็ต้องมีคำตอบมิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อความช่วยเหลือ ส่วนรัฐบาลไทยจะเพิกเฉยต่อวันเฉลิมไม่ได้ ไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาลก็ไม่ดูดำดูดีไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ไม่ดูดำดูดี แต่มีการประชดแหน็บแนม ทำให้เขาด้อยค่า

ผมอยากเห็นหนังสือที่กระทรวงต่างประเทศส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า สอบถามหรือจี้การสอบสวน ต้องได้เห็นถ้อยคำของหนังสือฉบับนี้ กรรมาธิการสภาควรจะต้องมีการขอเรียกเอกสารฉบับนี้ ขอดูถ้อยคำ ถ้าเป็นถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนไม่ผูกมัดรัฐบาลจะต้องทำให้ครบถ้วน เขียนใหม่...ผมอยากจะย้ำว่า ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถึงแม้ว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียน เนื่องจากทางการไทยคือรัฐบาลคสช.ในขณะนั้นขอรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านไม่ให้ขึ้นทะเบียน ต่อให้ UNHCR อยากจะช่วยก็ช่วยไม่ได้ ตีแผ่ออกมาและต้องทำให้หยุดพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ควรมีการขัดขวางไม่ให้กลไกระหว่างประเทศคุ้มครองผู้ลี้ภัย เป็นการละเมิดทำให้ตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงชีวิต...”
.
.
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ในงาน "ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)" เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563