วันพุธ, มิถุนายน 03, 2563

"45 วันอันตราย" พปชร. ในปฏิบัติการยึดพรรค - เบื้องหลังเบื้องลึกและเบื้องหน้าของการยึดพรรคพปชร.




POLITICS: “พล.อ.ประวิตร” ยังไม่มีความชัดเจนตอบรับนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ ชี้ปัญหาภายในพรรคไม่มีอะไร

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังคงบ่ายเบี่ยงไม่ตอบรับจะนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ โดยส่งสัญญาณเพียงแค่ส่ายหน้า

ส่วนคำถามว่าปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคจบแล้วหรือไม่นั่น พลเอกประวิตรกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าไม่มีอะไร

ทั้งนี้ต้องมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามที่กฎหมายพรรคเมืองกำหนด 45 วัน และไม่ตอบคำถามว่าได้มีการรายงานเรื่องนี้ให้นายก
...



พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าสู่ช่วง "45 วันอันตราย" ภายหลังกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เกินกึ่งหนึ่งลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ทั้งชุดต้องพ้นจากสภาพไปโดยปริยาย

พปชร. ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ภายใน 45 วันตามข้อบังคับพรรค หรือภายใน 15 ก.ค. ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่อง "ขบวนการยึดพรรค" เพื่อนำไปสู่การ "ยึดเก้าอี้รัฐมนตรี"

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้ไม่สังกัดพรรคการเมือง ได้ออกมาโชว์ "อำนาจเหนือ" ว่าการปรับ ครม. เป็นอำนาจพิจารณาของเขา

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความชุลมุนที่พรรคแกนนำรัฐบาล

1. คนเคยรัก

แกนนำกลุ่มสามมิตร กับ "บิ๊กบราเธอร์" ของกลุ่มสี่กุมารนั้น ถือเป็น "คนเคยรัก" กันมาก่อนเมื่อครั้นอยู่ภายใต้สังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.)

ย้อนกลับไปในช่วง "ขาลง" ของรัฐบาล "ทักษิณ 2" สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้ากลุ่มวังน้ำยม คือ "ขาประจำ" ที่แวะเวียนไปตั้งวงถกเหตุบ้านการเมืองกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และยังเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ "ขุนพลเศรษฐกิจ" ของรัฐบาลรายนี้ขึ้นเป็น "ผู้นำคนใหม่" แทน ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังซวนเซด้วยเสียงตะโกนขับไล่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทว่าทักษิณไม่ยอมตามเกมลาออกของสารพัดมุ้งการเมืองภายในพรรคตัวเอง แต่เลือกหนทางยุบสภา ก่อนถูกพรรคฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 จึงไม่อาจจบเกมประท้วงบนท้องถนนได้ และลงเอยด้วยรัฐประหาร 2549

15 ปีผ่านไป "3 ส." กลับมาร่วมรัฐบาลกันอีกครั้ง ทว่า สมศักดิ์-สุริยะ ได้พลิกไปยืนคนละขั้วกับสมคิดเพื่อทวงคืนโควต้ารัฐมนตรี และวางเกมโดดเดี่ยว "บิ๊กบราเธอร์" ผู้แบกกลุ่มสี่กุมารไว้จนหลังแอ่นตั้งแต่ช่วงจัดตั้งรัฐบาล "ประยุทธ์ 2" ถึงปัจจุบัน

2. คนเคยหัก

ส่วน "คนเคยหัก" ที่กลับมาเป็นพันธมิตรการเมืองกันอย่างหลวม ๆ หนีไม่พ้น กลุ่มสามมิตร กับกลุ่มสามทหารเสือ กปปส. โดยอ้างว่าทำตาม "ประกาศิต" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงปรากฏชื่อแกนนำของทั้ง 2 กลุ่มร่วมเซ็นใบลาออกจากตำแหน่ง กก.บห.พปชร. อย่างพร้อมเพรียง ทว่าฝ่ายหลังยังสงวนวาจาต่อสาธารณะเพื่อไว้ไมตรีกับสมคิด

ในช่วงจัดโควต้า ครม. เมื่อ มิ.ย. ปีก่อน คนการเมืองทั้ง 2 กลุ่มได้เปิด "ศึกใน" รายวัน เมื่อกลุ่มสามมิตรอ้างว่าหิ้ว ส.ส. เข้าสภาได้ถึง 30 ชีวิต ส่วนกลุ่มสามทหารเสือ กปปส. มีลูกข่ายสาย กทม. 11 ชีวิต ทว่ากลับได้โควต้ารัฐมนตรีกลุ่มละ 2 ตำแหน่งเท่ากัน จึงมีข่าวลือ-ข่าวปล่อยรายวันเพื่อกดดันให้ผู้มีอำนาจรื้อโผ

สุดท้ายเรื่องนี้ "เจ็บ และจำต้องจบ" เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณให้หยุดความเคลื่อนไหว และย้ำว่า "ผมมีหน้าที่รับผิดชอบได้ตัดสินใจแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ" นอกจากกลุ่มสามมิตรจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีไปรองก้นให้สมาชิกในสังกัดเพิ่มเติมแล้ว ยังถูกคู่แข่ง-คู่แค้นอย่าง สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. กลุ่มสามทหารเสือ กปปส. โพสต์ข้อความเสียดเย้ยทางเฟซบุ๊กและติดแฮชแท็กว่า #ไม่แปลกที่ประชาชนจะคลื่นเหียนกับนักการเมือง #อายจัง และ #สิบล้อเบรกแตก

3. "การเมืองวิถีเก่า" เขียนใบลาออกล่วงหน้า

การให้นักการเมืองเขียนใบลาออกล่วงหน้าโดยไม่ระบุวันที่ ถือเป็น "การเมืองวิถีเก่า" ที่เกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัยในการเมืองไทย ไม่ว่าในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือในพรรคการเมือง ท่ามกลางภาวะ "คน(อยาก)ล้นงาน" และพร้อมงัดออกมาใช้ทุกเมื่อถ้าเกิดเหตุ "ไร้สัจจะในหมู่คนการเมือง"

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เขียนไว้ในหนังสือ "โลกนี้คือละคร" สำนักพิมพ์มติชน ว่า บางสมัย นายกฯ อาจขอให้รัฐมนตรีที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งสด ๆ ร้อน ๆ เขียนใบลาออกไว้ล่วงหน้าโดยไม่ใส่วันที่ เพื่อว่าเวลาปรับ ครม. จะได้นำใบลาออกมาใช้ได้อย่างสะดวกสบาย

"ข้อนี้จริง ๆ ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีนัก เพราะดูเหมือนมัดมือชกหรือปิดประตูตีแมว ใครไม่ทำใบลาไว้ให้ก่อนก็จะไม่เสนอแต่งตั้ง" วิษณุระบุไว้ในหนังสือ

แม้เป็นวิธีบริหารจัดการการเมืองภายในของพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่มักมีข่าวเล็ดลอดถึงหูสื่อมวลชนเป็นระยะ ๆ เพื่อ "ดักคอ" บรรดานักการเมืองที่คิดจะละเมิดข้อตกลง อาทิ
  • หลังเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทย (พท.) จับ ส.ส. ซึ่งเป็นว่าที่ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ สภาผู้แทนราษฎร ในโควต้าพรรค 19 ชุดเซ็นใบลาออกล่วงหน้า ภายใต้สัญญาใจว่าจะมีการสับเปลี่ยนให้ ส.ส. อีกชุดเข้ามาทำหน้าที่บ้างหลังผ่าน 2 ปี หรือคิดเป็นครึ่งเทอมของสภา
  • หลังเลือกตั้ง 2562 พท. จับว่าที่ ส.ส. เซ็นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส. "งูเห่า" แหกมติพรรค-ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ สมัยสอง
ส่วนการจับ กก.บห.พปชร. เซ็นใบลาออกล่วงหน้าในครั้งนี้ คนคิดไม่สำคัญ แต่คนสั่งคือ "บิ๊กป้อม" ทำให้ กก.บห. เกินกว่าครึ่งแย่งกันส่งใบลาออก

แม้แต่ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้า พปชร. ที่ออกมาแจ้งข่าวเรื่องการลาออกของ กก.บห.พปชร. เมื่อ 1 มิ.ย. ยังแถลงไปยิ้มไปในระหว่างบรรยายว่า "ผมเองก็ต้องพ้นไปเหมือนกันนะ (ยิ้ม)"

ว่ากันว่ามีผู้เซ็นใบลาออกจริงอย่างน้อย 23 จาก 34 คน แต่มีคำสั่งให้เปิดชื่อโชว์สังคมเพียงบางส่วนที่ 18 คน ที่เหลือสำรองเอาไว้เดินเกมขั้นต่อไปหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

ผลจากการไขก๊อกของ กก.บห.พปชร. เกินครึ่งทีม ทำให้สี่กุมาร ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค, กอบศักดิ์ ภูตระกูล กก.บห. และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ต้องตกที่นั่ง "รักษาการ" ไปโดยปริยาย หลังปฏิบัติการบีบหัวหน้าพรรคจรดปากกา-เซ็นใบลาออกจากตำแหน่งไม่เป็นผล

4. ข้อหา "ภัยต่อความมั่นคงของพรรค"

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มสี่กุมารถูกเลื่อยขาเก้าอี้ โดยเฉพาะสนธิรัตน์ซึ่งเคยถูกเพื่อนร่วมพรรคล่าชื่อถอดถอนจากตำแหน่งพ่อบ้านพรรคมาแล้วรอบหนึ่ง ด้วยข้อหา "เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรคและรัฐบาลเป็นอย่างสูง" หลัง "หน่วยข่าว" ของกลุ่มสามมิตรได้รับคำยืนยันว่าเก้าอี้รัฐมนตรีที่จองไว้ 3 ตำแหน่ง ต้องหลุดลอยไป 1 ตำแหน่ง และเก้าอี้ รมว.พลังงาน ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นของสุริยะ กลับย้ายไปรองก้นสนธิรัตน์ ผู้ไม่มี ส.ส. ในมือแม้แต่รายเดียว

1 ก.ค. 2562 สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. กลุ่มสามมิตร พปชร. เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ "ถ้าปล่อยไว้เป็นเลขาฯ เป็นอันตรายต่อพรรคมาก ท่านบริหารงานผิดพลาดหลายเรื่อง ไม่มีภาวะผู้นำ ส.ส. เข้าไม่ถึงตัว.. ท่านทำให้พรรคเราแตกแยก ปัญหาอยู่ที่ตัวเลขาฯ ชัดเจน"

21 ธ.ค. 2562 ในการประชุมใหญ่สามัญพรรค มีข่าวหนาหูเรื่องการปลดเลขาธิการพรรค แล้วดัน อนุชา นาคาศัย กลุ่มสามมิตร ขึ้นแท่นพ่อบ้านคนใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก่อนปรากฏข่าวลือ-ข่าวปล่อยคึกโครมอีกครั้งในช่วงปลาย เม.ย. 2563 ต่อเนื่องมาถึงปลาย พ.ค. 2563

5. ขบวนการยึดพรรค

หากสำรวจรายชื่อของกลุ่มที่อ้างว่าเป็น "วงใน" ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พปชร. จะพบว่าบางส่วนเป็น "ชมรมคนอกหัก" ในคราวจัดตั้ง ครม. "ประยุทธ์ 2/1" จึงเข้าร่วม "ขบวนการยึดพรรค" รอบล่าสุด

ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเลขาธิการพรรค แต่ไปไกลถึงขั้นเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคคนใหม่ โดยชู พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นหัว ด้วยความคาดหวังว่าช่วยบันดาลให้พวกเขามีโอกาสผงาดขึ้นเป็นขุมข่ายอำนาจใหม่ภายในพรรค-ฝ่ายบริหารต่อไป เพราะถ้าเขี่ยกลุ่มสี่กุมารพ้นวงโคจรอำนาจไปได้ นั่นหมายถึงจะมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างลง 3 จาก 18 ตำแหน่งที่อยู่ในโควต้า พปชร. (รวมนายกฯ ด้วย)

จาก "ชมรมคนอกหัก" ถึง "วงในสุดบิ๊กป้อม"

  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม อกหักจากตำแหน่ง รมว.พลังงาน
  • อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท อกหักจากตำแหน่ง รมช.คลัง
  • สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธานส.ส.พรรค อกหักจาก รมว.แรงงาน
  • นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อกหักจากตำแหน่ง รมช.คลัง

อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ ออกมาระบุกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 1 มิ.ย. ว่าไม่ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร "เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง" ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีภาพของเขาปรากฏในเว็บไซด์ประชาชาติธุรกิจ ยืนยันข่าวการพบปะ ประเมินสถานการณ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับบรรดา "วงใน" ณ ห้องประชุมแห่งหนึ่งภายในอาคารรัฐสภาในช่วงพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน ปลายเดือน พ.ค. 2563 หลังมีคำสั่งให้ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ สุชาติ ชมกลิ่น ทดลองเช็คแนวร่วมของขบวนการยึดพรรคในยกแรก ซึ่งนับยอดได้ 40 ชีวิต

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้เกิดอีกวงขึ้นที่รัฐสภา มี ส.ส.พปชร. ราว 50 ชีวิตไปชุมนุมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จนสื่อหลายสำนักวิเคราะห์ว่าเขาคือแกนนำของ "ฝ่ายต้านปฏิวัติภายใน พปชร." ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธผ่านไทยรัฐว่า "ไม่ได้อยากประลองกำลังกับใคร" และในห้องก็ไม่มีทั้งอุตตม-สนธิรัตน์ แต่เป็นการชวน ส.ส.มาพูดคุยแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

"ไม่เห็นจะเกี่ยว ไม่เกี่ยวกับลุงป้อมเลย ไม่ได้พูดคุยถึงลุงป้อมด้วยซ้ำ คนละประเด็น ไปเขียนกันเรื่อยเปื่อย คนจับประเด็นกันไป ทำให้ลุงป้อมและนายกฯ เขาคิดมาก ไม่มี ไม่ใช่การตั้งก๊วนตั้งกลุ่มกัน" ร.อ.ธรรมนัสตอบหลังถูกผู้สื่อข่าวถามว่าสายสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตรยังดีอยู่หรือไม่

ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส ออกมายอมรับด้วยว่า เขาเป็นหนึ่งใน กก.บห. ที่เซ็นใบลาออกไว้ล่วงหน้าด้วย แต่กลับไม่มีชื่อใน 18 คนที่แจกจ่ายต่อสื่อมวลชน และยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า "คนบางกลุ่มที่ขับไล่คุณอุตตมมาตลอด แต่ไม่ลงชื่อลาออกจากกรรมการบริหารพรรค นั่นหมายความว่ามีคนวางแผนให้เกิดความขัดแย้งเพื่อให้มีการปรับ ครม. ตนเองก็จะได้ตำแหน่งที่หวังไว้"




6. ท่าทีของนายกฯ และ 2 รองนายกฯ "คู่กรณี"

วาระปรับโครงสร้าง กก.บห.พปชร. ชุดใหม่ ที่หวังผลไกลถึงขั้นปรับ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" อาจกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ได้มากนัก เมื่อ "นายกฯ นอกพรรค" ออกมาแนะให้แยกแยะระหว่างเรื่องพรรค กับอำนาจในการปรับ ครม. ซึ่งเป็น "เรื่องของผม" และ "ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องนี้"

ส่วนจำเป็นต้องเรียก พล.อ.ประวิตร-สมคิด มาปรับความเข้าใจกันหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า คิดว่าไม่จำเป็น เพราะเป็นเรื่องของพรรคก็ให้คุยกันภายในพรรค แต่ขอว่า "อย่าให้มีปัญหาอย่างอื่นต่อไปอีก แค่นี้พอแล้ว เพราะวุ่นวายพอสมควรแล้ว"

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ก็ถูกสื่อตั้งคำถามหลายครั้งเรื่องการถูกชูขึ้นเป็นหัวหน้า พปชร. คนใหม่ แต่เจ้าตัวได้แต่บ่ายเบี่ยงและปฏิเสธเสียงหลงว่า "ก็ยังไม่รู้"

ส่วน สมคิด ได้พูดถึงปรากฏการณ์ "ยึดเก้าอี้หัวหน้าพรรค" ให้ พล.อ.ประวิตร ว่า เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องภายใน พปชร. ที่จะต้องไปนั่งคุยกัน แต่คิดว่า "เป็นที่น่าเสียดาย เพราะน่าจะเอาพลังไปช่วยในการแก้ปัญหาให้กับบ้านเมือง"

รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจยังโยนให้สื่อคิดเอาเองว่าการเปลี่ยนแปลง กก.บห.พปชร. จะส่งผลต่อการปรับ ครม. เศรษฐกิจหรือไม่