วันพุธ, มิถุนายน 03, 2563
2 มิ.ย. วันผู้ค้าบริการทางเพศสากล
2 มิ.ย. วันผู้ค้าบริการทางเพศสากล
.
.
วิกิพีเดียให้ข้อมูลว่า วันผู้ค้าบริการทางเพศสากล หรือ International Sex Workers Day มีจุดกำเนิดมาจากการชุมนุมประท้วงของผู้ค้าบริการทางเพศนับร้อยคนในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1975 เพื่อร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่เลวร้าย นับตั้งแต่นั้นมาหลายประเทศในยุโรปจึงจัดกิจกรรมในวันที่ 2 มิ.ย. เพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิของผู้ค้าบริการทางเพศ
.
ในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าผู้ค้าบริการทางเพศต้องเผชิญกับปัญหาที่มากกว่าเรื่องสภาพการทำงานที่เลวร้ายและความเสี่ยงทางสุขภาพ บีบีซีไทยขอนำเรื่องปัญหาของหญิงบริการในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐมาเสนออีกครั้ง
อ่านบทความบีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/52253353
ooo
เปิดชีวิต 'หญิงขายบริการ' เอาตัวรอดอย่างไร ในวิกฤติ 'โควิด-19'
9 เมษายน 2563
กรุงเทพธุรกิจ
ขณะที่หลายคนกำลังรอรับเงินเยียวยาโควิดจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล บางอาชีพในไทยอย่าง หญิงขายบริการ ไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการช่วยเหลือ เช่นเดียวกับหญิงขายบริการในฝรั่งเศส แล้วพวกเธอมีวิธีรับมือกับสถานการณ์นี้เพื่อความอยู่รอดอย่างไร
การล็อคดาวน์เพื่อยับยั้งไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ทำให้บรรยากาศสีสันยามวิกาลในประเทศไทยหายไป และบีบให้กลุ่มหญิงขายบริการอย่าง “พิม” (นามสมมติ) จำต้องออกมาหาลูกค้าตามท้องถนนที่ร้างผู้คน เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าห้องพักของตัวเอง
สำนักข่าวเอเอฟพี ลงพื้นที่สำรวจย่านสถานบันเทิงตั้งแต่ในกรุงเทพมหานครไปจนถึงเมืองพัทยา พบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา ไนท์คลับและสถานอาบอบนวดต่างปิดทำการ และนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ถูกห้ามเข้าประเทศ
3 แสนชีวิตขาดรายได้
เอเอฟพีระบุว่า สถานการณ์นี้ทำให้ผู้ทำอาชีพโสเภณีราว 3 แสนคนต้องขาดรายได้ และบางคนถึงกับออกมาเดินหาลูกค้าตามท้องถนนที่มีความเสี่ยงติดโรคโควิด-19
“ฉันกลัวติดไวรัส แต่ฉันก็จำเป็นต้องหาลูกค้า เพื่อให้มีเงินจ่ายค่าห้องและค่าอาหาร” พิม สาวประเภทสองวัย 32 ปี เผยกับเอเอฟพี ขณะเดินในย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีบาร์และซ่องที่เต็มไปด้วยแสงสี แต่ตอนนี้มีแต่ความมืด
นับตั้งแต่วันศุกร์ (3 เม.ย.) ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศใช้เคอร์ฟิวห้ามประชาชนทั่วประเทศออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของทุกวัน ขณะที่บาร์และร้านอาหารต่าง ๆ ปิดให้บริการหลายวันก่อนหน้านั้นแล้ว
หญิงขายบริการหลายคนในไทย ทำงานอยู่ในบาร์ที่ค่อนข้างปลอดภัย อาศัยทิปเลี้ยงปากท้องและเต็มใจที่จะกลับบ้านพร้อมกับลูกค้า
แต่เมื่อสถานที่ทำงานของพวกเธอปิดอย่างกะทันหัน ส่วนใหญ่จึงกลับไปอยู่บ้านเพื่อรอให้วิกฤตินี้ผ่านพ้นไปก่อน ส่วนคนที่เหลือรวมถึงพิม ต้องออกมาหาลูกค้าตามท้องถนน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศว่า พร้อมใช้มาตรการเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงหากจำเป็น เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้ป่วยกว่า 2,000 คนและเสียชีวิตกว่า 30 คนทั่วประเทศ (นับถึงวันที่ 9 เม.ย.)
พิมได้รับผลกระทบหนักจากคำสั่งเคอร์ฟิว เธอหาลูกค้าไม่ได้เลยมา 10 วันแล้ว และบิลค่าใช้จ่ายที่รอเคลียร์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“อลิซ” (นามสมมติ) เพื่อนของพิมและสาวประเภทสองที่ขายบริการเช่นกัน จำเป็นต้องเปลี่ยนจากทำงานในบาร์อะโกโก้ มาหาลูกค้าตามถนน
“ฉันเคยมีรายได้ 300-600 ดอลลาร์ (ราว 9,850-19,700 บาท) ในบางสัปดาห์ แต่เมื่อธุรกิจปิดทำการ รายได้ของฉันก็หายไปด้วย เราออกมาทำแบบนี้เพราะเราไม่มีจะกินแล้ว ถ้าเราหาเงินมาจ่ายค่าโรงแรมไม่ได้ พวกเขาก็จะไล่เราไปอยู่ที่อื่น”
ความเสี่ยงสูง
งานค้าบริการทางเพศซึ่งมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของไวรัสด้วย เพราะยังต้องออกไปพบเจอกับลูกค้าซึ่งบางครั้งก็เป็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่น
หญิงขายบริการหลายคนแห่กลับบ้านในต่างจังหวัด เพราะคาดหวังว่ารัฐบาลน่าจะใช้มาตรการล็อคดาวน์ไปอีกหลายสัปดาห์กว่าที่เศรษฐกิจยามราตรีของไทยจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีกระแสวิตกว่า สถานการณ์นี้อาจยืดเยื้ออีกเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยสูญรายได้จากนักท่องเที่ยวหลายพันล้านดอลลาร์ และกลุ่มแรงงานนอกระบบต้องอยู่อย่างแร้นแค้น ซึ่งรวมถึงหญิงขายบริการที่เป็นอาชีพผิดกฎหมาย แต่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในย่านท่องราตรีของไทย
ตกสำรวจ “เราไม่ทิ้งกัน”
เอเอฟพีระบุว่า มีความกังวลว่า แผนเยียวยาฉุกเฉิน “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาลไทยที่ให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท (150 ดอลลาร์) กับผู้ว่างงานใหม่หลายล้านคนเป็นเวลา 3 เดือน จะไม่นับรวมผู้ทำอาชีพค้าบริการทางเพศ เนื่องจากไม่มีหลักฐานการจ้างงานอย่างเป็นทางการ
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งส่งเสริมให้ “พนักงานบริการ” ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคมไทย เผยว่า สถานบันเทิงทั่วประเทศมีเงินสะพัดราว 6,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี และจำนวนไม่น้อยก็มาจากการขายบริการทางเพศ
มูลนิธิฯ ระบุว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตรการควบคุมโควิด หลายคนมีลูกและเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่จำเป็นต้องทำงานขายบริการ เพราะขาดโอกาสหรือเรียนมาน้อยจึงได้ค่าจ้างไม่มากนัก
ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิดังกล่าวได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้หาทางให้ความช่วยเหลือแรงงานทุกคนที่สูญเสียรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
อลิซ ตัดพ้อว่า เธอคิดว่ารัฐบาลทำงานล่าช้ามาก และไม่ได้สนใจคนอย่างพวกเธอที่ทำอาชีพแบบนี้
“เรากลัวไม่มีอะไรจะกินมากกว่ากลัวติดไวรัส”