วันศุกร์, ธันวาคม 20, 2562

เวรกรรมกูไทยแลนด์ เรื่องนี้คนไทยควรรู้ก่อนจะตายผ่อนส่งกันยกโขยง



Cr. Bryan Denton for The New York Times
คนงานต่างด้าวกำลังแยกขยะในโรงงาน New Sky Metal เมื่อเดือนกันยายน

สรุปจาก New York Times พิมพ์เมื่อวาน (8 ธ.ค. 2019)...เรื่องนี้คนไทยควรรู้ก่อนจะตายผ่อนส่งกันยกโขยง

ไม่มีสำนักข่าวไหนขุดดีและลึกเท่าสำนักข่าวเมกา ครบทุกมุมมอง มีรูปประกอบด้วย ตัดออกบ้างเพื่อไม่ให้ยาวเกิน แต่แปลให้ใกล้ข้อเขียนเดิมมากที่สุดโดยไม่มีความเห็นส่วนตัวปะปน

โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ถ้ามีใครรู้จักใครที่ไหนที่อาจช่วยดูแลแก้ไขปัญหานี้ได้ ช่วยหน่อยครับ ลิงค์ต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในโพสต์ข้างบน
..

KOH KHANUN, ประเทศไทย - คนงานทำงานบนพื้นในโรงงานที่มีแสงไฟริบหรี่ คนงานหญิงเลือกขยะอีเลคทรอนิคส์ต่างๆ (ขอเรียกสั้นๆว่าขยะอี) ที่ถูกทิ้งแล้ว: แบตเตอรี่, แผงวงจร, สายไฟ

พวกเขาทำลายขยะอีด้วยค้อนและมือเปล่า ผู้ชายบางคนมีใบหน้าที่ห่อหุ้มด้วยผ้าที่ไม่ต่างจากผ้าขี้ริ้วเพื่อกันกลิ่นจากขยะ บางคนใช้พลั่วตักขยะใส่เครื่อง

ในขณะที่เค้าทำงาน ควันก็ออกจากปล่องโรงงานเลื้อยตัวไปตามหมู่บ้านและฟาร์มใกล้เคียง ผู้อยู่อาศัยไม่รู้ว่าควันมาจากอะไร รู้แต่ว่า มันเหม็นและรู้สึกไม่สบายเมื่อหายใจเข้าไป
..

นี่คือโรงงาน New Sky Metal เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมขยะอีที่เจริญรุ่งเรืองทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินใจของจีนที่จะหยุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกและประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้

เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีโรงงานขยะอีเปิดใหม่ทั่วประเทศและมีขยะอีจำนวนมากที่กำลังถูกย่อยสลาย

Jim Puckett ผู้ตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจาก Basel Action Network กล่าวว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องไปที่ไหนซักแห่ง และบริษัทจีนกำลังย้ายการดำเนินงานขยะอีทั้งหมดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางเดียวที่จะทำกำไรก็คือการใช้แรงงานราคาถูก และทำโดยไม่สนใจต่อมลพิษจากสภาพแวดล้อม”
..

จากข้อมูลของสหประชาชาติ ในแต่ละปีมีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ 50 ล้านตันทั่วโลก

การย่อยสลายขยะอีเป็นงานที่สกปรกและอันตราย คนทำอุตสารกรรมนี้ก็เพื่อที่จะสกัดโลหะมีค่าจำนวนเล็กน้อยเช่นทอง เงิน และทองแดงจากโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์

เป็นเวลาหลายปีที่ประเทศจีนรับเอาขยะอีจำนวนมากของโลก ปีที่แล้ว ปักกิ่งปิดพรมแดนเอาขยะอีจากต่างประเทศ ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นที่ลงของขยะอีเพราะการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่หละหลวม

ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ได้ปฏิเสธการจัดส่งขยะจากประเทศตะวันตกเป็นรายแรก ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ผลักดันให้มีการจัดระเบียบขยะอี

ในเดือนมิถุนายนของปีที่แล้วกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศห้ามการเอาขยะอีจากต่างประเทศเข้าไทย ตำรวจทำการตรวจค้นอย่างละเอียดในโรงงานอย่างน้อย 10 แห่งรวมถึง New Sky Metal

“New Sky Metal” ถูกปิดโดยสมบูรณ์แล้ว” นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังกล่าวในเดือนกันยายน “ไม่มีการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย...ศูนย์”

แต่การเยี่ยมชมหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเกาะขนุนเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่าโรงงานNew Sky Metal และโรงงานขยะอีอื่นๆก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่จนทุกวันนี้ นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบบการควบคุมบังคับใช้กฏหมายที่อ่อนแอ และการคอร์รัปชั่นที่ทำให้ประเทศเสียหาย
..

นับตั้งแต่ไทยสั่งห้ามการนำขยะอีเข้าประเทศ จว.ฉะเชิงเทราจังหวัดเดียวมีโรงงานรีไซเคิลขยะอีเพิ่มขึ้นอีก 28 แห่งตามสถิติของจังหวัด ในปีนี้14บริษัทในจังหวัดนี้ได้รับใบอนุญาตที่จะดำเนินงานขยะอิเล็กทรอนิกส์

โรงงานใหม่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยระหว่างกรุงเทพและแหลมฉบัง

เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่าเตาเผาขยะอีบางแห่งอาจยังคงถูอใช้กับขยะอีเก่าก่อนจะสั่งห้ามเข้า และโรงงานใหม่ๆอาจถูกใช้กับขยะในประเทศมากกว่าที่จะเป็นขยะจากต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าว New York Times ไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ เพราะขยะอีเก่าที่นำเข้ามาน่าจะหมดไปนานแล้ว และปริมาณขยะอีภายในไทยไม่มีจำนวนมากพอสำหรับโรงงานใหม่ๆที่เพิ่งมาตั้ง

หน่วยราชการของไทยซัดกันไปมา นายบรรจง สุกรีธา (สะกด?) รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศอาจถูกลักลอบนำเข้ามาในประเทศในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง “ต้องถามศุลกากรดู อาจมีเกี่ยวกับคำแถลงเท็จ(ของผู้นำเข้า)” เขากล่าว “กฎเกณฑ์นั้นไม่เพียงพอหากคนที่บังคับกฏทำงานไม่ได้เรื่อง”

แต่นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังกล่าวว่า ทางสำนักงานศุลกากรตรวจทุกกล่องที่ลงจอดที่ท่าเรือ และตรวจสอบอย่างละเอียดด้วย
..

ในเดือนตุลาคมของปีนี้ สภานิติบัญญัติแห่งประเทศไทยได้ขยายเข็มขัดกฎระเบียบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมสำหรับทุกโรงงาน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมขยะอี ภายใต้ข้อกำหนดนี้ บริษัทขนาดเล็กจะไม่ถูกตรวจสอบมลพิษอีกต่อไป

“ประเทศไทยกำลังต้อนรับความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมด้วยกฎหมายของตนเอง” สมนึก จงมีสิน อาจารย์ประจำสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าว “ช่องโหว่ของกฏหมายและวิธีหลีกเลี่ยงการลงโทษมีมากมาย”
..

คำถามก็คือ ผลที่ตามมาน่ากลัวอย่างไร

หากขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทไม่ได้ถูกเผาที่อุณหภูมิสูงพอ สารไดออกซินซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งและปัญหาการพัฒนาการในเด็ก จะแทรกซึมเข้าสู่ลูกโซ่วงจรอาหาร โลหะหนักที่เป็นพิษจะซึมลงสู่ดินและน้ำใต้ดิน

พระชาพัฒน์ขันตาวีระ เจ้าอาวาสชาวพุทธกล่าวว่า ทีแรกพระในวัดเริ่มไอ จากนั้นพวกเขาก็อาเจียน ต่อมามีอาการปวดหัวแบบแทบแตก...วัดนี้อยู่ใกล้โรงงานแปรรูปขยะอีหลายแห่งรอบวัด โรงงานอีอีกสองแห่งกำลังก่อสร้าง ในที่สุดท่านก็ประกาศขายวัดหนี
..

King Aibo Electronics Scrap Treatment Center หนึ่งในโรงงานที่อยู่ใกล้กับวัด ใช้ภาษาจีนในตารางเวลาวันที่ขยะอีจะมาถึง คนงานสามคนในสำนักงานในวันที่ผู้สื่อข่าวมาเยี่ยมครั้งล่าสุดเป็นชาวจีนทั้งหมด

“เรารู้ว่าคนจีนตั้งโรงงานในประเทศไทย” นายบรรจงกล่าวถึงฝ่ายงานอุตสาหกรรม แต่เขาบอกว่านับตั้งแต่มีการสั่งห้ามขยะอิเล็กทรอนิกส์ก่อตั้งขึ้น “เราเข้มงวดมากขึ้น”
King Aibo เป็นหนึ่งในโรงงานที่เริ่มดำเนินการในปีนี้

โรงงานอื่นๆ ไม่เคยถูกปิดแม้จะมีการละเมิดซ้ำๆ

โรงงานอีแห่งหนึ่งชี่อ Set Metal ได้รับคำสั่งให้ปิดตัวในเดือนเมษายน 2018 เจ้าหน้าที่กล่าวว่าโรงงานแห่งนี้ไม่เคยมีใบอนุญาตนำเข้าขยะอีและชาวบ้านบ่นเรื่องกลิ่นเหม็น

แต่เมื่อเร็วๆ เจ้าหน้าที่บริษัทพูดผ่านล่ามภาษาไทย-จีนกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทยังเปิดให้บริการในธุรกิจขยะอีตามเดิม ข้างหลังบริษัทมีขยะอีกองล้นหลาม แรงงานพม่าประมาณ 100 คนอาศัยอยู่ในบริเวณโรงงาน

แม้ในกรณีที่มีการยอมรับผิดการบังคับกฏหมายก็สุดห่วย ในปีนี้เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าขยะอี ที่ถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้วถึง 2,900 ตัน ได้อันตรธานหายไปทั้งหมด โดยตำรวจได้อนุญาติให้ผู้ต้องสงสัยครอบครองขยะอีที่ถูกยึดไว้ และผู้จัดการชาวจีนก็อันตรธานหายตัวไปด้วยเช่นกัน
..

ในเดือนกันยายน สุเมธ เรียนพงษ์งาม (สะกด?) รณรงค์ต่อต้านอุตสาหกรรมขยะอีซึ่งก่อมลพิษที่บ้านเกิดของเขาที่กบินทร์บุรี คืนเดียวกันมีคนขี่รถมอเตอร์ไซค์มายิงบ้านเขา
หลังจากนั้นไม่นานก็มีคนขับรถปิคอัพมาขว้างระเบิดมือเล็ก ที่รู้จักกันในชื่อระเบิดปิงปอง ใส่บ้านเพื่อนของเขา โชคดีที่เพื่อนไม่ได้รับบาดเจ็บ

คนอื่นๆโชคไม่ดีเท่า

ในปี 2013 ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งพูดถึงการทิ้งขยะพิษอย่างผิดกฎหมาย เขาถูกยิงสี่ครั้งกลางวันแสกๆ ชายผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งฆ่าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน
..

Ei Thazin หญิงพม่าที่ทำงานในโรงงาน New Sky Metal กล่าวว่าเธอได้รับค่าจ้าง 200บาทต่อวันในการคัดแยกโลหะ “ฉันไม่รู้หรอกว่านี่เป็นงานที่อันตราย” เธอกล่าว

ในประเทศไทยคนงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมายมีนับล้านคนจากประเทศที่ยากจนกว่าเช่นพม่าและกัมพูชา คนเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดแรงงาน ผู้สังเกตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าแรงงานผิดกฏหมายนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
..

ใน 14 โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจขยะอีในปีนี้ในจังหวัดฉะเชิงเทรา หกแห่งอยู่ที่เกาะขนุน ห้าแห่งเชื่อมโยงกับผู้ชายคนหนื่งที่เกี่ยวข้องกับ New Sky Metal หรือกับภรรยาของเขา

“เราไม่สามารถเลือกอากาศที่เราหายใจได้” นางเมตตา เกษตรกรไร่ชาวยูคาลิปตัสใกล้ๆ New Sky Metal กล่าว “ตอนนี้จะมีโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนกำลังจะตายอย่างช้าๆ”


Alai Na
· December 10 · Edited ·

ภาพประกอบ


ข้าราชการไทยรายงานว่าโรงงานชี่อ Set Metal ถูกปิดไปแล้วแต่เมื่อผู้สื่อข่าวแวะไป พบว่ายังเปิดทำงานตามปรกติอยู่


ไร่ยูคาลิปตัสของคุณเมตตา มหาลา(สะกด?)ใกล้โรงงาน บึงที่เป็นแหล่งน้ำของไร่มีน้ำขุ่นคลั่ก


คนงานกำลังแยกสายไฟเพื่อสะกัดเอาทองแดงในโรงงานชานเมืองกรุงเทพ


หลุมขยะแห่งหนึ่งทางตะวันออกของกรุงเทพ


เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังใกล้โรงงานขยะอี King Eibo Electronics สิ่งน่ากังวลของโรงงานขยะอีคือสารพิษต่างๆจากขยะจะแซกซึมเข้าสู่วงจรอาหาร น้ำ และดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม


เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำใกล้โรงงานขยะอี New Sky Metal


ขยะอีที่เจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นพยานหลักฐานจากโรงงานที่ถูกปิดทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพ

Cr. Bryan Denton for The New York Times