วันศุกร์, ธันวาคม 20, 2562

อยากให้ลุงngo ได้อ่านสิ่งนี้



“ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางไม่ง่ายอย่างที่ลุงว่า?”

ลุงตู่กล่าวสุนทรพจน์ในงานเนชั่น

"เราต้องช่วยกันร่วมกันในอีก 20 ปี ในการมีเป็นประเทศรายได้สูง หลุดพ้นความยากจน หลุดกับดักรายได้ปานกลาง

ทำปัจจุบันและอนาคตไปด้วยกันให้ลูกหลานอยู่ได้

ถ้าเรือมีรูรั่วต้องช่วยกันดูแล ไม่ใช่ช่วยกันเจาะรูสนิมแบบนี้ เราจะเป็นเรืออะไรก็ได้แต่ขออย่าเอาเท้าไปราร้ำ และรัฐบาลมีหน้าที่แจวเรือเดินไปข้างหน้า"

ผมเชื่อว่า แรกเริ่มเดิมที ลุงตู่ก็คงมีความตั้งใจจะทำดีต่อชาติ จะสร้างชื่อเสียงฝากไว้ในแผ่นดิน

แต่ท่านห้อมล้อมตนเอง ด้วยคนที่เปิดใจรับการล้อบบี้ เปิดหูรับฟังข้อเสนอ และบางคนอาจจะเปิดกระเป๋าไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้น นโยบายตลอด 6 ปี จึงไม่ได้เอาประชาชนไว้กลางหัวใจ

กลับเน้นสารพัดโครงการ ที่ทำให้กระเป๋านายทุนพองโต กลับไม่เน้นกระจายรายได้ กระจายโอกาส ไม่ทำให้ชาวบ้านยืนบนขาตนเองได้จริงจัง

ผมขอเรียนว่า การที่ประเทศหนึ่งจะหลุดจากรายได้ปานกลางนั้น ยากมาก มีหลายประเทศตั้งท่าอยู่นานหลายปี จนป่านนี้ก็ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม

ตัวอย่างเช่น อัฟริกาใต้ ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ มีเหมืองทองคำและเพชรอันดับโลก อาร์เจนตินา ที่บูมการเลี้ยงวัวจนขึ้นชื่อ บราซิล ที่มีชื่อด้านปลูกกาแฟ ส้ม ถั่วเหลือง และเลี้ยงไก่ครองตลาดไปทั่วโลก

ประเทศเหล่านี้เคยเป็นโมเดลให้ศึกษา แต่ย่ำอยู่กับที่ ไม่สามารถก้าวขึ้นบันได

ประเทศที่ก้าวขึ้นได้จริงมีน้อย

เกาหลีและใต้หวัน เน้นสินค้าอุตสาหกรรมยี่ห้อของตนเอง พัฒนารูปแบบมือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้า สิงค์โปร เน้นธุรกิจการเงินและการเป็นศูนย์กลาง พัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์บนเครื่องบิน บริการซ่อมบำรุงแท่นปิโตรเลียม อิสราเอล เน้นอาวุธล้ำหน้า ซอฟท์แวรที่สอดแนมได้อย่างละเอียดแต่กว้างขวางลึกซึ้ง เป็นต้น

ถามว่า ประเทศที่ก้าวขึ้นได้มีอะไรเหมือนกัน?

ตอบว่า เขาเน้นพัฒนาคน ส่งเสริมนวตกรรม สร้างระบบบริหารที่เน้นธรรมาภิบาล และสังคมน่าอยู่เพื่อจะดึงดูดคนเก่งให้ย้ายเข้าไป

ใครมีญาติส่งบุตรหลานไปเรียนที่สิงค์โปร จะพบว่า ถ้าเด็กเรียนเก่ง ทางการนอกจากช่วยสนับสนุนแล้ว ยังชักชวนให้โอนสัญชาติไปอยู่กับเขาแบบถาวรด้วย

ประเทศที่กำลังจะก้าวเร็วทะลุขึ้นชั้นได้ ก็คือจีน ที่เน้นด้านการศึกษามาก และกระตุ้นให้คนค้นคว้าพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา

ในภาพข้างล่างจะเห็นตัวอย่าง ประเทศที่ได้สิทธิบัตร 5G มากที่สุด คือจีน หัวเหว่ยรวมกับแซททีอี 5,529 บัตร รองลงมาคือเกาหลี ซัมซุงรวมกับแอลจี 5,309 บัตร เรียกว่าจีนและเกาหลีเทียบชั้นกับยุโรป อเมริกา ได้เลย

แต่สุนทรพจน์ของลุงตู่ ไม่มีอะไรเลยที่จะให้ความหวังแก่ปวงชนชาวไทยได้ว่า จะก้าวขึ้นไปรายได้สูงได้อย่างไร

ยิ่งลุงประกาศจะอยู่อีกนาน ความหวังก็ยิ่งล่องลอย

ส่วนการจัดตั้ง อีอีซี ที่อ้างการขึ้นขั้นบันได แต่ถือโอกาสประเคนสิทธิประโยชน์ให้แก่นายทุนต่างชาติ แต่ทำร้ายชาวบ้านด้วยผังเมืองใหม่ที่กระทบเกษตรกรรม ก็ไปกันใหญ่

ลุงตู่อาจจะไม่รู้ว่า ไม่เคยมีประเทศใดที่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ โดยอาศัยแต่ยืมจมูกคนต่างชาติหายใจ

วันที่ 19 ธันวาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

https://www.thansettakij.com/content/politics/416992
...



“ลุงตู่ไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง บน-ล่าง”

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2557 : นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานสัมมนาประจำปีของทีดีอาร์ไอ เรื่อง "ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ" (คลิปยูทูป)

คุณอานันท์เตือนว่าสังคมไทยมีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันมาก ไม่ว่าในด้านรายได้ ด้านฐานะทรัพย์สิน ด้านโอกาส และด้านสิทธิต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม

เรียกว่าเป็นความขัดแย้งระดับ บน-ล่าง ซึ่งสะท้อนแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลจึงควรมีนโยบายเพื่อขจัดปัญหานี้ ซึ่งรวมไปถึงการกระจายอำนาจให้ออกไปท้องถิ่นมากขึ้น

เป็นการให้ข้อคิดในโอกาสที่ประเทศไทยมีรัฐบาลจากการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ผมเดาว่าท่านคงเห็นว่า ในช่วงเวลาที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน ไม่มีอิทธิพลด้านการเมือง รัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ท่านคงจะระลึกถึงรัฐประหารครั้งก่อน ที่ฝ่ายทหารตั้งรัฐบาลโปร่งใส มีพลเรือนหัวแข็งเข้ามาคานอำนาจมากมาย นอกเหนือจากคุณอานันท์แล้ว ยังมีดร.เสนาะ อูนากูล คุณนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นต้น

แต่น่าเสียดาย ลุงตู่ไม่ได้ทำเช่นนั้น กลับห้อมล้อมตัวเองด้วยนักธุรกิจและนายทุน จึงทำนโยบายกลับทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักขึ้นตลอด 6 ปี

ถามว่า ทำไมลุงตู่มิได้นำข้อสังเกตของคุณอานันท์ ไปตั้งเป็นโจทย์?

ตอบว่า น่าจะเป็นเพราะมัวแต่กังวล เรื่องการปูพื้น สืบทอดอำนาจในการเลือกตั้ง

น่าจะเพราะมองว่าคู่ต่อสู้สำคัญที่สุด คือคุณทักษิณ จึงสู้ด้วยนโยบายประชานิยมสารพัด ลด แลก แจก แถม เพื่อพยายามลบคุณทักษิณออกไปจากใจชาวบ้าน

แต่สิ่งที่เริ่มในสมัยคุณทักษิณนั้น ยังแผ่อิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้ ในคลิปข้างล่างที่ทำโดย World Economic Forum องค์กรระดับโลก ได้ยกย่องโครงการสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ไม่ว่าลุงตู่จะเสนอประชานิยมอย่างไร ก็เป็นได้แค่มือรองก้อบปี้เท่านั้น

น่าเสียดาย ถ้าลุงตู่เน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก จะเป็นจุดเด่นแตกต่างจากคุณทักษิณที่ประชาชนประทับใจ เรียกว่าแทบไม่ต้องหาเสียงกันเลย

แต่ไม่ใช่อยู่คงที่ นโยบายของลุงตู่กลับยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำหนักขึ้น

ที่หนักที่สุดก็คือ ด้านความยุติธรรม โดยลุงตู่ส่งคนไปคุมองค์กรอิสระหลายแห่ง อิทธิพลแผ่ซ่านจนสามารถเรียกได้ว่า เป็น ‘ระบอบประยุทธ์’ แผ่ซ่านมากกว่า ‘ระบอบทักษิณ’

เริ่มตั้งแต่ นาฬิกาเพื่อน ปกป้องน้อง ประเคนงานราชการให้หลานทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่สนใจคุณสมบัติของรัฐมนตรี ไม่เอาผิดการถือครองที่ดินของนักการเมือง อภิมหาโครงการที่น่าสงสัยว่าอาจทุจริตเอื้อประโยชน์แก่นายทุน

ยังแถมภาษีที่ดินที่เปิดช่องให้คนรวยดิ้นหลบได้ แก้กฎให้คนรวยโอนที่ดินเข้าบริษัทได้โดยไม่เสียภาษี รวมไปถึงรวบอำนาจเข้ามาที่ส่วนกลางแทนที่จะกระจาย

เรียกได้ว่า มีโอกาสที่จะชนะคุณทักษิณได้อย่างขาดลอย แต่ไม่ใช้ กลับไปเลียนแบบคุณทักษิณ ใช้ประชานิยมขับเคลื่อน สร้าง’ระบอบประยุทธ์’

วันที่ 20 ธันวาคม 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

https://youtu.be/NDkBSX6Fe2k