ไม่สนโดนตั้งฉายา ‘เทาๆ’ ธรรมนัส พรหมเผ่า ยอมรับ “ไม่ใช่ใสสะอาดประวัติดี
แล้วไม่ทำอะไรเลย” แม้แต่เรื่องหมอนยางพารา ค่าทำแพงเว่อ
อ้างแค่แนวคิดปรึกษาทีมงานเท่านั้น ยันด้วยว่าไม่เคยคิดจะนำเงินหลวงมาใช้
เรื่องมันเกิดเมื่อโดน
ส.ส.พรรคอนาคตใหม่อภิปรายโครงการจัดทำหมอนยางพารา ๓๐ ล้านใบ ที่รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ
มอบหมาย อตก.ดำเนินการผลิต เป้าหมายจะเอาหมอนที่ผลิตมาแจกหน่วยราชการและชาวบ้านทั่วไป
ครัวเรือนละ ๑ ใบ
อ้างว่าช่วยดันราคายางไทย แต่ต้องใช้งบประมาณราว
๑๘,๐๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้จะใช้วิธีกู้เงินจาก ธกส. (ธนาคาร ‘ของรัฐ’ เพื่อการเกษตร) รัฐมนตรีคนเก่งของ
คสช.ที่คุยว่า “ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ
ให้ไปดูแลเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น” จนเป็นผลสำเร็จ “นี่คือ
สาระสำคัญ...ขอให้ดูว่าคนเทาๆ ทำอะไรให้ชาวบ้านบ้าง” ขอให้อยู่กับปัจจุบันและอนาคตเถอะนะ
อย่าได้ย้อนไปอดีตให้เสียเวล่ำเวลาเลย
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่กลับเห็นว่าการตั้งงบประมาณขนาดนั้นมันเว่อไป
(ชาวบ้านแถวประเทศออสซี่ที่เขาอารมณ์ ‘nostalgic’ พาลนึกถึงอดีต คิดว่าหมอนยางประชารัฐ อาจราคาสูงอย่างยี่ห้อ ‘สิงโตคู่เหยียบโลก’)
ทำให้ พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย
หัวหน้าคณะทำงานของทั่น รมช. ออกมาแจงต้นทุนการผลิตอย่างละเอียดว่า ค่าน้ำยาง ๖๕
บาท ค่าปลอกหมอนชั้นใน ๙๐ บาท (มีโลโก้) ปลอกชั้นนอกอีก ๘๐ บาท ถุงบรรจุอีก ๕๐ บาท
บวกค่าประชาสัมพันธ์และผลตอบแทน อตก. อีก
๓๕+๓๐ บาท “โดยรวมทั้งหมดจะไม่เกิน ๖๐๐ บาทต่อใบ
เมื่อเทียบราคากับหมอนยางพาราในเกรดเดียวกัน ที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้าจะอยู่ประมาณ
๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ บาทต่อใบ”
(หมายเหตุ เป็นที่น่าสังเกตุว่าค่า ‘ปลอก’ ค่าถุง ปาเข้าไป ๒๐๐ กว่าแล้ว ทั้งที่ค่า ‘น้ำ’ เพียง ๖๕ แล้วจะไม่ให้เขาสงสัยกันได้อย่างไร)
แล้วลองไปฟังความเห็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการผลิตหมอนยางพารา
อย่าง ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ แห่งภาควิชาเคมี ม.เกษตรฯ
ที่ชี้ว่าราคาต้นทุนการผลิตตามท้องตลาด แค่ใบละ ๓-๔ ร้อยบาทเท่านั้นนะ ถ้าผลิต ๓๐
ล้านใบ ส่วนต่างตั้ง ๖,๐๐๐ ล้านแน่ะ
เรื่องของเรื่องพอดีมีพลายกระซิบออนไลน์ ว่า
“มิหนำซ้ำ อตก. ที่มีน้องชายของทั่น ‘ออกยา’ เป็นกรรมการ ยังจะเอากำไรจากการแจกหมอนอีกใบละ ๓๐ บาท รวมเป็นเงิน ๙๐๐
ล้านบาท” นั่นเชียวนาย