วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 05, 2561

ถ้ำหลวง : เจาะถ้ำ ดำน้ำ หรือรอ เสี่ยงต่างกันอย่างไร รายการนิวส์ไนท์ จากบีบีซี




Thailand Cave Rescue: What’s next? - BBC Newsnight


ถ้ำหลวง : เจาะถ้ำ ดำน้ำ หรือรอ เสี่ยงต่างกันอย่างไร



THAI NAVY SEAL/HANDOUT VIA REUTERS


ที่มา บีบีซีไทย


ปฏิบัติการค้นหาตัวนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 2 ก.ค. โดยพบว่าทุกคนปลอดภัย ขณะนี้การให้ความช่วยเหลือได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนที่ 2 คือการ "กู้ภัย" ซึ่งยังไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่าเด็ก ๆ ทั้งหมดจะกลับออกมาจากถ้ำเมื่อใด


ข่าวคราวเรื่องนี้เป็นที่สนใจไปทั่วโลก และเมื่อคืนวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา รายการนิวส์ไนท์ ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี 2 ได้ออกอากาศรายงานเรื่องนี้ โดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือในทำนองนี้หลายคน ซึ่งต่างแสดงให้เห็นว่าภารกิจครั้งนี้ยังมีสิ่งท้าทายรออยู่หลายประการ



BBCTHAI


รายงานของนิวส์ไนท์ ระบุว่าวิธีการนำตัวเด็ก ๆ ออกจากถ้ำที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้มีตั้งแต่การเจาะถ้ำเพื่อเปิดทางเข้าไปช่วยเหลือนักฟุตบอลทีมหมูป่า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้ช่วยคนงาน 33 คน ในเหตุการณ์เหมืองถล่มที่ชิลี เมื่อปี 2010 อย่างไรก็ดี สภาพถ้ำหลวงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

นายคริสโตเฟอร์ โกรฟส์ นักธรณีวิทยา แห่งเวสเทิร์น เคนตั๊กกี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ บอกว่าสิ่งที่ถือว่าท้าทายอย่างยิ่งคือการเจาะลงไปให้ตรงจุด ซึ่งหากพลาดไปเพียงไม่กี่เมตร ก็อาจพลาดเป้าไปทั้งหมด เช่นเดียวกับการนำอุปกรณ์ช่วยเหลือลงไปก็จะต้องคำนวณให้ตรงเป้าหมายเช่นกัน



ส่วนวิธีที่สองคือนำตัวเด็ก ๆ ดำน้ำผ่านเส้นทางแคบ แม้แต่นักประดาน้ำที่มีความเชี่ยวชาญยังถือว่ามีความยากลำบาก สิ่งที่เป็นคำถามคือว่า จะมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เด็ก ๆ ที่ว่ายน้ำไม่เป็นจะทำเช่นนั้น


EPA


นิวส์ไนท์ได้สอบถามเรื่องนี้กับนายมาร์ติน กราส จาก Bristol exploration club ซึ่งให้ความเห็นว่าการโน้มน้าวให้เด็ก ๆ ยอมใส่อุปกรณ์ดำน้ำ และนำตัวขึ้นมาโดยต้องเดินทางผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยน้ำ หากตื่นตระหนก เด็ก ๆ จะไม่มีจุดใดที่จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เลย ขณะที่นักประดาน้ำ ที่ลงไปช่วยเหลือก็จะต้องดูแลความปลอดภัยของตัวเองเช่นกัน และต้องไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นฤดูฝน นอกจากน้ำที่เข้ามาในถ้ำแล้วก็อาจจะมีกิ่งไม้ เศษขยะอื่น ๆ พลัดเข้ามาด้วย ซึ่งนั่นอาจเป็นอุปสรรคของการดำน้ำ

สำหรับทางเลือกที่สามคือการรอให้น้ำในถ้ำลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัยพอนั้น อาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหมดหน้าฝน การจะให้เด็ก ๆ อยู่ในถ้ำโดยไม่ได้ทำอะไรนานนับเดือนนั้นอาจเป็นเรื่องลำบาก


GETTY IMAGES


อย่างไรก็ดี น.ส.ซีมา ยาสมิน นักจิตวิทยา บอกกับนิวส์ไนท์ว่า มีวิธีผ่อนคลายสถานการณ์ได้หลายอย่าง เช่น การนำหลอดไฟฟลูออเรเซนซ์หย่อนลงไปในถ้ำ และตั้งเวลาให้เป็นกลางวันกลางคืน ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ กลับมามีเวลานอนหลับที่เป็นปกติ และเพียงพอ

นอกจากนี้ควรจัดตารางการทำกิจกรรมภายในถ้ำ แม้สิ่งนี้จะฟังดูประหลาดแต่ถือว่าสำคัญ เพราะจะทำให้เด็ก ๆ มีจุดสนใจ มีความรู้สึกร่วมกันเป็นทีม ทำให้มีความอดทน และมีความหวัง


EPA/ROYAL THAI ARMY


นิวส์ไนท์ยังได้สัมภาษณ์นายปีเตอร์ เดนนิส ประธานสภาช่วยเหลือผู้ติดถ้ำของอังกฤษ ที่เห็นว่าปัจจัยสำคัญในขณะนี้คือสภาพอากาศซึ่งเพิ่งเข้าหน้าฝน และฝนจะตกหนักไปจนถึงเดือนสิงหาคม ดังนั้นปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และอาจปิดกั้นเส้นทางเข้าออกถ้ำ

สำหรับจุดที่เด็ก ๆ รออยู่ในถ้ำนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นพื้นที่จำกัด และไม่ชัดเจนว่ามีพื้นที่ปลอดภัยเหนือจุดที่น้ำท่วมมากที่สุดแค่ไหน จึงเป็นสิ่งน่าเป็นห่วง


AFP/ROYAL THAI ARMY


นายเดนนิส กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่เคยได้ยินว่าเคยมีใครต้องรอความช่วยเหลือในถ้ำนานถึงสี่เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้ผู้ที่อยู่ในถ้ำไม่ใช่นักสำรวจถ้ำ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ

ด้านนายโกรฟส์ ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยา เห็นว่าการเข้าไปอยู่ในถ้ำในช่วงหน้าฝนแบบนี้ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจุดที่เด็ก ๆ อยู่ตอนนี้น้ำจะเข้าไปไม่ถึง เขาเองเคยทำงานในหลายโครงการที่มีการใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝนหลังฝนตกลงมาแต่ละครั้ง และเคยพบมาแล้วว่าบางกรณี ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 30 เมตร ภายในเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง