วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 26, 2561

รู้ยัง... หัวหน้าคสช. ใช้ ม.44 'ฉีก' ผังเมืองชั่วคราว เปิดทางเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้อย่างอิสระ





หัวหน้าคสช. ใช้ ม.44 'ฉีก' ผังเมืองชั่วคราว เปิดทางเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้อย่างอิสระ

'ผังเมือง' ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่า จะมีการใช้สอยพื้นที่อย่างไร พื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งกระบวนการได้มาซึ่งผังเมือง กฎหมายจะกำหนดขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งคือ การมีส่วนร่วม เพื่อให้การใช้สอยพื้นที่นั้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ

แต่การมาของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้ผังเมืองถูก 'ฉีก' เป็นการชั่วคราว หรือหมายถึง การงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมืองเพื่อเปิดทางให้ประกอบกิจการบางประเภท เช่น โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือ หลุมฝังกลบขยะ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกำหนดโซนผังเมืองก่อนหน้าจะมีคำสั่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการกิจการต่างๆตามประกาศนี้สามารถขออนุญาตดำเนินกิจการในสถานที่ใดๆได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับสถานที่ตั้งหรือกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การขออนุญาตและอนุมัติการตั้งโรงไฟฟ้าขยะหรือเตาเผาขยะสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในระยะเวลา 1 ปี โดยโรงงานเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 4/2559 ไม่สามารถเพิกถอนใบขออนุญาตได้แม้ไม่ถูกต้องตามผังเมือง

อ่านสรุปคำสั่งฉบับนี้ได้ที่ >>> https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2688





หัวหน้าคสช. ใช้ ม.44 'เซ็ตซีโร่' ผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เปิดทางโรงงานอุตสาหกรรม
.
'ผังเมือง' ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่ของแต่ละจังหวัดว่า จะมีการใช้สอยพื้นที่อย่างไร พื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย ทำเกษตรกรรม หรือพื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่งกระบวนการได้มาซึ่งผังเมือง กฎหมายจะกำหนดขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งคือ การมีส่วนร่วม เพื่อให้การใช้สอยพื้นที่นั้นสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ
.
แต่การมาของ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 ซึ่งออกตามอำนาจในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ปี 2557 ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ทำให้ผังเมืองถูก 'เซ็ตซีโร่' หรือหมายถึง การงดเว้นกฎหมายผังเมืองเดิม และให้มีการจัดทำผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลคสช.
.
โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมฯ หรือ ผังเมือง และ กฎกระทรวงเกี่ยวกับบริเวณห้ามก่อสร้างอาคาร ใน 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเช่น จังหวัดตราด สระแก้ว หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เป็นต้น โดยในระหว่างที่งดเว้นให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารและประกาศกรมโยธาธิการเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ทรัพย์สินไปพลาง จนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวมหรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการห้ามก่อสร้างอาคารฉบับใหม่ที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษออกมา
.
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW ตั้งข้อสังเกตว่า ในทางปฏิบัติคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้จะช่วยเปิดทางให้รัฐสามารถลดข้อจำกัดตามกฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองที่บังคับใช้อยู่ก่อนในพื้นที่จะที่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการสร้างหรือจัดสรรพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ในระหว่างที่รอการกฎกระทรวงฉบับใหม่ การกำหนดให้นำประกาศกระทรวงมาบังคับใช้ชั่วคราวยังเอื้อให้ภาครัฐสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ชั่วคราวซึ่งอาจเอื้อต่อการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากการออกประกาศกระทรวงไม่มีกฎเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนเหมือนการออกกฎกระทรวง
.
อ่านสรุปคำสั่งฉบับนี้ได้ที่ >>> https://enlawfoundation.org/newweb/?p=2675


ที่มา FB

iLaw