และแล้วเรื่องช่วยเด็กออกจากถ้ำก็เอามาดราม่ากันอีกไม่สิ้น
เมื่อสำนักข่าวเอบีซีบุกสัมภาษณ์สองทีมหมูป่าหลังพ้นรายการ ‘Propaganda’
โฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการ คสช. ที่ให้เด็กออกมาขอโทษขอโพย ว่าเล่นเที่ยวถ้ำจนทำให้เจ้าหน้าที่วุ่นวาย
ผู้อ่านผู้ชมทั้งโลกใจหายใจคว่ำ
เจมส์ ลองแมน ผู้สื่อข่าวสำนักเอบีซีของอเมริกัน
บุกถึงบ้าน พรชัย คำหลวง หรือตี๋ วัย ๑๖ ปี หนึ่งใน ‘ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง’ แล้วยังเผยแพร่คลิปสัมภาษณ์
เด็กชาย ‘ไททัน’ ชนินท์ วิบูลรุ่งเรือง
ทำให้ทั้งสื่อไทยบางรายกระฟัดกระเฟียด และคนใหญ่คนโตราชการไทย ออกมาฮึ่มๆ ฮั่มๆ
กันใหญ่
เริ่มจากอย่างอ่อน ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
นักข่าวจอมทรหดแห่งช่อง ๓ มิติ โพสต์ตัดพ้อ “วันนี้สื่อไทยไม่ได้สัมภาษณ์ทีมหมูป่านะคะ
เราควรเคารพสิทธิเด็ก เคารพความเป็นส่วนตัว
ซึ่งเราก็เห็นสื่อต่างชาติบางสำนักที่ไปสัมภาษณ์เด็ก
เราเคารพในวิชาชีพสื่อ ที่บางสำนักก็ไม่ทำ จึงอยากบอกตรงนี้ไว้ว่า เราจบแล้ว #พรุ่งนี้จะกลับบ้านแล้วค่ะ #ใช้ชีวิตให้มีความสุขนะหมูป่า
(9:22 PM. JUL 19, 2018)
อีกรายเอาบ้าง เทพชัย (แซ่) หย่อง ที่
นสพ.ผู้จัดการให้ภูมิหลังเต็มเหยียดว่าเป็นนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเป็นน้องชายนายสุทธิชัย
แซ่หยุ่น อดีตผู้ก่อตั้งเครือเนชั่น ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท กาแฟดำ จำกัด
ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทางไทยพีบีเอส
“ก่อนหน้านี้
(สุทธิชัย) เป็นพิธีกรในรายการเดินหน้าประเทศไทย ชวงส่งหมูป่ากลับบ้าน
ที่ผลิตโดยกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อยู่เบื้องหลังผลิตรายการดังกล่าว”
อย่างไรก็ดี
‘MGR’ ไม่ได้บอกว่าการทำหน้าที่พิธีกรของสุทธิชัยในรายการนี้โดนผู้ชมสวดกันตรึม
(ว่าไม่ได้คุยกับเด็กในสิ่งที่ผู้ชมอยากรู้ เหมือนที่สื่อฝรั่งทำ)
สำหรับโพสต์ของเทพชัยนั้นตำหนิว่า
“มัวแต่ห่วงสื่อไทยว่าจะไปรบกวนน้องๆ ทีมหมูป่า
ที่ไหนได้นักข่าวฝรั่งแห่กันไปดักถึงบ้าน เท่าที่เห็นมีทั้ง ABC News, CBS และอีกหลายช่องที่ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าได้สัมภาษณ์พิเศษบรรดาเด็กๆ
ที่สื่อไทยถูกเตือนให้อยู่ห่างๆ”
ที่ว่า “ดักถึงบ้าน”
น่าจะเพราะนายลองแมนโพสต์ภาพชักชวนคนไปชมรายการสัมภาษณ์ของเขา เป็นภาพที่เขาไปเยี่ยมนายตี๋ตอนกลางคืน
มอบตะกร้าของขวัญชุดซุปรังนกชนิดที่ธรรมเนียมไทยชอบทำกัน แต่
ผู้จัดการก็พาดหัวเสียเก๋ “สื่อไทยโวยสื่อนอก เอารังนกมาล่อ-เข้าถึงตัวหมูป่า”
ดราม่าไหมล่ะ
หนักเข้าไปอีกเมื่อนายธวัชชัย ไทยเขียว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ออกโรงจวกสื่อต่างประเทศตามสัมภาษณ์เด็กถึงบ้าน “เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง
นอกจากนี้บางคำถามอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดความกลัวซ้ำๆ
โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อนำเด็กออกมาจากถ้ำ”
ว่าคำถามทำนองนี้ “จะทำให้เด็กย้อนกลับไปคิดถึงสถานการณ์ที่กดดัน
และอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ในอนาคต...
จึงขอตำหนิการทำงานของสื่อต่างชาติที่ละเมิดข้อตกลงและการขอความร่วมมือของทางการไทย
ในการให้พื้นที่ส่วนตัวกับเยาวชนทีมหมูป่าและครอบครัว”
ทั่นรองปลัดฯ วิเคราะห์เทียบเคียงเสียด้วย ให้เอาวิธีการในกระบวนยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้กับการสอบถามและสัมภาษณ์เด็ก
“ได้เท่าที่จำเป็น” ทั่นว่าน่าเสียดายสื่อต่างชาติ “กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด
เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาๆ พึงระลึกได้”
ทั่นรองปลัดฯ ว่าถึง ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็ก’ ที่ทั่นรองนายกฯ
ฝ่ายบริกรกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ขู่ซ้ำด้วยว่า “อาจไม่รู้พิษสงของกฎหมายคุ้มครองเด็ก
เดี๋ยวจะเกิดปัญหา แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่ถ้าผิด
ก็สามารถดำเนินคดีกับต่างชาติได้”
ไปกันไกลปานนี้
ต้องย้อนไปดูข่าวเอบีซีและคลิปอีกทีว่าเขาละเมิดสิทธิเด็กขนาดไหนกัน ข่าวเมื่อ ‘Jul 18, 2018, 2:07 PM ET : Boys say they dug holes in cave
to try to save themselves.’ ก็ไม่เห็นมีอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือเขียนถึงประเด็นล่อแหลม
กดดัน ‘ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า’
แต่อย่างใด
แน่นอนเรื่องการให้ยาสลบ
(หรือไม่ก็แค่ยากล่อมประสาท แต่ไม่น่าจะถึงยา ‘สงบม้า’ อย่างที่มีสื่อต่างชาติบางแหล่งเขียนข่าว) แก่เด็กนั้น ทางการไทยพยายามปกปิดมากเสียจนกลายเป็นดราม่าไม่เข้าท่า
บอกไปตรงๆ เสียแต่แรกก็สิ้นเรื่อง ทำกระมุบกระมิบเสียจนนักข่าว (ฝรั่ง) อยากค้น
ทั้งในข้อเขียนและในคลิปของนักข่าวเอบีซี
ไม่เห็นมีการกดดัน หรือตั้งคำถามจดจี้ให้เด็กอึดอัดอะไร
น้องไททันซึ่งมีพ่อนั่งเคียงข้างระหว่างสัมภาษณ์ ตอบคำถามด้วยอาการสดชื่นยิ้มแย้ม Nithinand
Yorsaengrat นักข่าวรุ่นเก๋ายืนยันได้
“ดูจากงานของสื่อต่างชาติที่เผยแพร่ออกมา
ไม่ได้ถามอะไรเด็กมากที่จุกจิกกวนใจ แต่ดูว่าคงอยากได้ภาพเด็กที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
ยืนยันกับโลกว่าปลอดภัยแล้วของจริง ที่ไม่ใช่ภาพทางการไทยจัดการให้ในวันแถลงข่าว”
ซ้ำบอกด้วยว่า “เราไม่ซักถามรายละเอียดอะไรมากไปอีก เพราะเด็กๆ เหล่านี้อาจจะยังต้องการเวลาสำหรับย่อยสลายประสบการณ์ผจญภัยที่ได้เจอ”