วันพุธ, กรกฎาคม 25, 2561
‘แผงลอย’เศรษฐกิจฐานราก ไล่กวาดล้าง..คนชั้นล่างระทม
‘แผงลอย’เศรษฐกิจฐานราก ไล่กวาดล้าง..คนชั้นล่างระทม
24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
แนวหน้า
“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เรื้อรังมานาน และยังไม่มีผู้มีอำนาจคนใดสามารถแก้ไขจนถึงต้นตอนั่นคือการถือครองทรัพย์สินที่ห่างกันเกินไประหว่างคนที่รวยที่สุดจำนวนน้อยกับคนระดับล่างที่มีอยู่จำนวนมาก ทำได้เพียงมาตรการบรรเทาเฉพาะหน้า อาทิ หากเป็น “คนชนบท” ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม “รัฐบาลนักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ไม่ว่าพรรคใดจะนิยมใช้ “มาตรการอุดหนุนราคาผลผลิตทางการเกษตร” บ้างเรียกจำนำ บ้างเรียกประกัน รายละเอียดแม้แตกต่างแต่เป้าหมายเหมือนกันคือทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุน
เช่นเดียวกัน หากเป็น “คนเมือง”รัฐบาลกลางอาจใช้กลไกราชการส่วนภูมิภาคบ้าง ส่วนท้องถิ่นบ้าง ปล่อยให้มีอาชีพ “หาบเร่แผงลอย” แบ่งพื้นที่ทางเท้าสาธารณะให้ขายของได้ตามวัน-เวลาที่กำหนด โดยเฉพาะที่เห็นเป็นจำนวนมากคือในกรุงเทพมหานคร (กทม.)เมืองหลวงของไทยที่มีผู้ใช้ชีวิตอยู่กว่าสิบล้านคน ทว่า 4 ปีล่าสุดภายใต้การปกครองของ “รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” นโยบายต่อ “คนระดับล่าง” อันเป็น“เศรษฐกิจฐานราก” และเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศข้างต้นได้หายไปจนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเวทีเสวนา “จัดระเบียบแผงลอย..ถอยกันคนละก้าว”ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง วิฑูรย์ศรีแก้ว ตัวแทนจากสำนักเทศกิจ กทม.เปิดใจต่อหน้าเครือข่ายผู้ค้าแผงลอยที่มาร่วมรับฟังรวมถึงสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวว่า คสช. มีนโยบายจัดระเบียบหลายอย่าง เช่น วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้โดยสาร รวมถึงหาบเร่แผงลอยจากนั้นทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) มีหนังสือแจ้งมายัง กทม. ให้ยกเลิกจุดผ่อนผันที่ กทม. กับ บช.น. เคยร่วมกันอนุมัติให้ตั้งได้ จำนวน 683 จุด
ทำให้ กทม. ต้องทยอยยกเลิกจุดผ่อนผันในเขตต่างๆ ตั้งแต่เมื่อ 1 พ.ค. 2558 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันยังเหลือค้างอีก 232 จุด ซึ่งก็ต้องดำเนินการต่อไป อาทิ จุดที่ไม่มีผู้ค้าแล้ว หรือจุดที่เหลือผู้ค้าอยู่จำนวนน้อยและรับได้กับพื้นที่ขายแห่งใหม่ที่ทาง กทม. จัดหาให้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของผู้ค้า ทั้งในส่วนท้องถิ่นอย่างสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) และส่วนกลางคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว พร้อมกับย้ำว่า ณ เวลานี้ผู้ค้าไม่สามารถกลับไปขายของที่เดิมได้
“จะเริ่มใหม่อย่างไร? ในหนังสือที่ บช.น. ส่งมาให้ กทม. นั้น กทม. สามารถเริ่มได้ด้วยการเสนอจุดใดเป็นจุดผ่อนผัน โดยเสนอผ่านสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ ก็ยังมีช่องอยู่ เพราะฉะนั้นหน่วยงานไหนที่จะสั่งการให้ กทม. ดำเนินการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย? เพราะมันต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจร” ผู้แทนจากสำนักเทศกิจ กทม. กล่าว
ข้างต้นจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กทม. ทำตามนโยบายส่วนกลางหรือก็คือรัฐบาล คสช. ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นสะท้อนผ่าน “ผลโพลล์” จากหลายสำนักที่ไม่ว่าจะสำรวจความคิดเห็นในช่วงใดตลอด 4 ปีมานี้ ผลที่ได้อย่างพร้อมเพรียงกันคือ “คสช. สอบตกเรื่องเศรษฐกิจ” เพราะแม้รัฐบาลจะพยายามแสดงตัวเลข “จีดีพี” อันหมายถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ขยายตัวเท่านั้น หรือตัวเลขส่งออกโตเท่านี้ แต่ภาพและเสียงที่คู่ขนานกันคือประชาชนทั่วไปที่เป็นคนเดินดินกินข้าวแกงริมถนนบ่นโอดครวญเศรษฐกิจไม่ดีมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก
รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพมหานคร อธิบายเรื่องนี้ว่า “จีดีพีเป็นแค่ภาพลวงตา” เพราะเป็นการนำตัวเลขรายได้ของคนร่ำรวยที่เป็นคนส่วนน้อยไปเฉลี่ยรวมกับคนกลุ่มอื่นๆ แต่เป็นการเฉลี่ยรวมเฉพาะตัวเลขเท่านั้น เม็ดเงินที่จับต้องได้จริงๆ ไม่ได้เฉลี่ยรวมด้วยดังนั้นการที่จีดีพีขยายตัวขึ้นมากก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ในภาพรวมจะมีเงินในกระเป๋าไว้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นมากด้วยเสมอไป
อดีต สว.กทม. ยังกล่าวอีกว่า นโยบายจัดระเบียบแผงลอยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน “ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่” ไปถึงคนอีกหลายกลุ่ม เช่น “ผู้ค้าขายในตลาดสด” เพราะเป็นแหล่งที่ผู้ค้าแผงลอยประเภทขายอาหารต้องมาซื้อวัตถุดิบ เมื่อรัฐไล่กวาดจับแผงลอยจนหมดรายได้ของชาวตลาดสดก็ลดลงไปกว่าครึ่ง รวมถึง “คนทำงานระดับล่าง”เงินเดือนประเภทรับค่าจ้างขั้นต่ำหาเช้ากินค่ำ การใช้ชีวิตในเมืองลำบากขึ้นเพราะต้องไปหาอาหารรับประทานในร้านสะดวกซื้อบ้าง ห้างสรรพสินค้าบ้างที่ราคาสูงกว่าร้านค้าแผงลอย
นอกจากนี้ การมีอยู่ของแผงลอยยัง “สร้างอาชีพ” ทำให้ตัวเลขการว่างงานในประเทศไทยต่ำมาก ซึ่งการที่คนมีงานทำมีรายได้มั่นคงเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ลำบากย่อมลดความเสี่ยงที่จะไปก่ออาชญากรรม“ลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น” รวมถึงการค้ายาเสพติด ดังนั้น “รัฐบาลที่ดีจึงมีหน้าที่ทำให้คนทุกคนมีงานทำ” และการไล่กวาดจับแผงลอยโดยไม่มีมาตรการอื่นรองรับที่ดีพอ แสดงให้เห็นว่าผู้คิดนโยบายนั้นไม่เข้าใจหลักการบริหารอย่างแท้จริง จนมีกระทั่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเป็นระยะๆ ว่า “รัฐบาลทหารอุ้มคนรวยแต่ทิ้งคนจน” ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
“ปกติชอบเดินตลาดสด ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่รู้จักคุ้นเคยพูดคุยกัน ก่อนหน้านี้เขาก็จะถามว่า..“อาจารย์! เมื่อไหร่เขาจะเลือกตั้ง?”..เราก็ถามว่าทำไม? อยากเลือกตั้งหรือ? เขาก็บอกว่า..“ใน 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาท แต่เงินเหล่านี้หมดไปกับการตกแต่งใบคือส่วนที่อยู่ข้างบน แต่ลำต้นกับรากไม่ได้รับอะไรเลย”..นี่พ่อค้าตลาดสดพูดอย่างนี้นะ” รสนา ระบุ
มุมมองจากนักวิชาการ ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ - TDRI) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นเรื่องนโยบายของแต่ละรัฐบาล เพราะการมีอยู่ของจุดผ่อนผันย่อมหมายถึงกฎหมายเปิดช่องให้มีผู้ค้าแผงลอยได้ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลทหารที่มีหลักคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นระเบียบ นโยบายเกี่ยวกับแผงลอยจึงออกมาอย่างที่เห็น เช่นเดียวกับการจัดระเบียบในอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งแน่นอนต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีประชาชนที่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล คสช. ข้างต้น
ดังนั้น ทางออกที่ยั่งยืนคือ “กระบวนการมีส่วนร่วม” ภาครัฐกับผู้ค้าต้องถอยคนละก้าว ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับว่าต่างก็มีข้อผิดพลาดล้ำเส้นไป แล้วมาหารือเพื่อวางข้อตกลงร่วมกันและเมื่อมีแล้วก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมายังขาดพื้นที่ดังกล่าว แต่ข้อเสนอนี้คงไม่ง่ายเพราะแม้จะมีคนของภาครัฐที่เห็นใจผู้ค้า แต่ก็ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ จึงแนะนำว่าเครือข่ายผู้ค้าแผงลอยน่าจะไปพบรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. สักครั้ง ชี้แจงให้เห็นว่าการจัดระเบียบที่ทำอยู่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร หรือสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร
“วิธีเสนอคือไม่ใช่ไปเรียกร้องว่าให้ขายได้เลย แต่ต้องพูดให้ครบ ต้องการการมีส่วนร่วม ต้องการการวางแผนระยะยาว แล้วเราสัญญาว่าจะรวมตัวกัน และจะรักษาระเบียบของพวกเรากันเอง สมมุติว่ามีใครอยากสนับสนุนเรา เขาก็จะสามารถตอบประชาชนอีกฝั่งได้ ว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่เพื่อการหาเสียงเลือกตั้งรอบหน้า เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวจริงๆ” ดร.สมชัย ให้ข้อเสนอแนะ
อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ทำงานวิจัยหาบเร่แผงลอยมานาน กล่าวสรุปถึงผู้ค้าแผงลอยไว้หลายประการ อาทิ 1.ผู้ค้าแผงลอยจำนวนมากมีการศึกษาน้อย โดยจากการสำรวจผู้ค้าใน 10 เขตของ กทม. พบว่า ร้อยละ 4ไม่ได้เรียนหนังสือ ร้อยละ 43 เรียนจบชั้นประถมศึกษา และร้อยละ 18 เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ฉะนั้นจะไปทำอาชีพอื่นๆ ที่มั่นคงอาจเป็นเรื่องยาก
2.ผู้ค้าแผงลอยมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่มีเงินลงทุนเพียง 500 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นบาท ดังนั้นภาครัฐไม่ควรเหมารวมว่าผู้ค้าแผงลอยทุกรายไม่ใช่คนจนจริง นโยบายจึงต้องหลากหลาย ซึ่งในบางประเทศ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ มีการเก็บข้อมูลผู้ค้าทุกรายเพื่อนำมาออกมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละจุดมีสภาพพื้นที่ ผู้ค้าและผู้ซื้อมีธรรมชาติแตกต่างกัน เรื่องนี้ประเทศไทยก็สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่เทศกิจรู้จักผู้ค้าเป็นอย่างดี แม้ด้านหนึ่งเทศกิจจะไล่จับผู้ค้า แต่อีกด้านหนึ่งเทศกิจก็รู้ว่าผู้ค้ารายไหนมีฐานะเป็นอย่างไร
และ 3.ผู้ค้าแผงลอยเองก็ต้องยอมรับและปรับตัวด้วย เช่น อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะได้กลับไปขายในจุดเดิม เพราะมีกฎหมายกำหนดอยู่ว่าขนาดทางเท้าเท่าไรจึงเปิดเป็นจุดผ่อนผันได้ รวมถึงพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่นิยมเลือกซื้ออาหารในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้ามากกว่าเพราะสะอาดกว่าแผงค้าข้างทาง เรื่องนี้ก็ต้องปรับปรุง แต่ในทางกลับกันผู้ค้าแผงลอยก็มีจุดแข็งที่ร้านค้าใหญ่ๆ ไม่มี
“ยุคนี้คนกำลังวิ่งตามหาสิ่งที่เรียกว่า..“หัวใจ”..หมายถึงวิถีความสัมพันธ์ในเชิงสังคม คิดว่านี่คือจุดแข็งสำคัญของหาบเร่แผงลอย เรามีสิ่งที่คนขายของในร้านสะดวกซื้อไม่มีต่อให้เขาพูดหวานขนาดไหน..“รับซาลาเปาเพิ่มไหมคะ?”..ก็ไม่เหมือนเราที่ยืนคุยกับผู้ซื้อทุกวัน ลูกค้าส่วนใหญ่กลับเป็นลูกค้าประจำ เพราะฉะนั้นจะพบเลยว่าประเด็นนี้เป็นจุดหนึ่งที่เรามีแต่คนอื่นเขาไม่มี จะสู้กับใครต้องรู้ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน? ตรงนี้ก็คิดต่อไปว่าเราต้องการตัวช่วยอะไรบ้าง?” อาจารย์นฤมล ฝากข้อคิด
" พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด (1) ปรุงอาหาร ขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ (2) ใช้รถยนต์หรือล้อเลื่อนเป็นที่ปรุงอาหารเพื่อขายหรือจำหน่ายให้แก่ประชาชนบนถนนหรือในสถานสาธารณะ (3) ขายหรือจำหน่ายสินค้าซึ่งบรรทุกบนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนถนนหรือในสถานสาธารณะ”
อย่างไรก็ตาม “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การปรุงอาหารหรือการขายสินค้าตาม (1) หรือ (2) ในถนนส่วนบุคคลหรือในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศผ่อนผันให้กระทำได้ในระหว่างวัน เวลาที่กำหนด ด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจร” การเปิดจุดผ่อนผันผู้ค้าแผงลอยจึงทำได้โดยให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นกับตำรวจที่ดูแลการจราจรในพื้นที่ร่วมกันอนุมัติ เช่น ในกรุงเทพฯ คือ กทม. ร่วมกับตำรวจนครบาล"