วันศุกร์, กรกฎาคม 27, 2561

“เขื่อนแตกครั้งนี้ อย่าอ้างเป็นภัยธรรมชาติ” ผู้เชี่ยวชาญลาวใต้มหาวิทยาลัยดังสหรัฐฯ ชี้เหตุเขื่อนลาวแตกเป็นเรื่องความผิดพลาด-บริหารน้ำผิด จี้บริษัทสัมปทานรับผิดชอบ





“เขื่อนแตกครั้งนี้ อย่าอ้างเป็นภัยธรรมชาติ”


BY ADMIN สำนักข่าวชายขอบ
26 กรกฎาคม, 2018


“อย่าอ้างเป็นภัยธรรมชาติ”ผู้เชี่ยวชาญลาวใต้มหาวิทยาลัยดังสหรัฐฯ ชี้เหตุเขื่อนลาวแตกเป็นเรื่องความผิดพลาด-บริหารน้ำผิด จี้บริษัทสัมปทานรับผิดชอบ เผยชาวบ้านถูกกด-ไม่ได้รับความเป็นธรรมค่าชดเชย


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม รศ.เอียน เบียร์ด นักวิชาการภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านลาวใต้ และเคยศึกษาวิจัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยมานานกว่า 20 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ในนอดีตมีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมลำน้ำเซเปียนโดยชาวบ้านมีทั้งที่เป็นคนลาวและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งคนเหล่านี้มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายโดยปลูกข้าวและเผือกกินเอง นอกจากนี้ยังหาของป่าและหาปลาในธรรมชาติเป็นหลัก เมื่อเกิดโครงการสร้างเขื่อนและเริ่มมีการปิดกั้นลำน้ำในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นอย่างมากเพราะน้ำในแม่น้ำเซเปียนได้แห้งลงขณะที่น้ำในแม่น้ำเซน้ำน้อยเพิ่มขึ้น

“การที่เขื่อนแตกครั้งนี้อย่าโทษว่าเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ หรือบอกว่าฝนตกหนักหรือน้ำเยอะ เพราะจริงๆในทุกๆปีฝนก็ตกเช่นนี้และปริมาณน้ำก็มากเช่นกัน แต่มันเป็นเรื่องของความผิดพลาดของการก่อสร้างหรือการบริหารจัดการน้ำ ฝนที่ตกมาเยอะแต่คุณปล่อยน้ำไม่ทันและจัดการน้ำไม่ถูก ซึ่งเรื่องนี้บริษัทของเกาหลีใต้และบริษัทของไทยที่ได้รับสัมปทานเขื่อนต้องรับผิดชอบ”รศ.เอียน เบียร์ด กล่าว

รศ.เอียน เบียร์ด กล่าวว่า ตนเคยเป็น 1 ในคณะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ในโครงการก่อสร้างเขื่อนเซเปียนเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นบริษัทของเกาหลีใต้ได้รับสัมปทานแต่มีปัญหาด้านการเงินทำให้ต้องระงับไปถึง 15 ปี และต่อมาบริษัทเกาหลีใต้อีกแห่งหนึ่งได้รับสัมปทานและดำเนินการร่วมกับบริษัทของไทย ซึ่งในการศึกษาอีไอเอครั้งหลังนี้ตนไม่ได้เข้าไปร่วมด้วยจึงทำให้ไม่ทราบว่าผลการศึกษาเป็นอย่างไร

“บางทีอีไอเอเขียนไว้อย่างหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้ดำเนินการตามนั้นก็ได้ ซึ่งผมไม่ทราบว่ากรณีนี้เป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือการสร้างเขื่อนครั้งนี้มันไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน เพราะมีเพียงชาวบ้านกลุ่มเดียวบริเวณอ่างเก็บน้ำที่ได้รับค่าชดเชย ในขณะที่ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆที่อยู่ด้านล่างกลับไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆเลย”รศ.เอียน เบียร์ด กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกิดปัญหาครั้งนี้ควรมีการทบทวนหรือชะลอการสร้างเขื่อนแห่งนี้ไว้ก่อนหรือไม่ รศ.เอียน เบียร์ด กล่าวว่าต้องดูในแต่ละส่วนซึ่งโครงการส่วนที่สร้างใกล้เสร็จแล้ว ทางผู้ที่ได้รับสัมปทานคงไม่ยอมหยุด แต่อย่างน้อยก็ควรจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านอย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงระบบนิเวศด้วย เพราะที่ผ่านมามักละเลย

เมื่อถามอีกว่าเขื่อนแห่งนี้มีความจำเป็นหรือไม่ รศ.เอียน เบียร์ด กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้ไม่มีความจำเป็นสำหรับชาวบ้านอยู่แล้ว เพราะสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย และเป็นช่องทางในการหาเงินให้รัฐบาลลาวเท่านั้น เพียงแต่ชาวบ้านในลาวแม้ไม่พอใจก็ไม่มีใครกล้าคัดค้านมิเช่นนั้นอาจติดคุกได้ ที่สำคัญคือชาวบ้านเองก็แทบไม่เคยรับรู้ข้อมูลการการสร้างเขื่อนนี้เลย

ขณะที่เว็บไซด์ข่าวของ Aljazeera รายงาน ว่า ชาวบ้านหลายพันคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชากำลังอพยพประชาชนจากภาวะน้ำท่วม จากเหตุการณ์ท่วมที่ไม่คาดคิดครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในประเทศลาวแตกแล้วมวลน้ำไหลลงไปทางใต้ข้ามพรมแดนเข้ามายังเมืองสตรึงเตรงของประเทศกัมพูชา มวลน้ำราว 5 พันล้านลูกบาศก์เมตรได้ไหลทะลักออกมา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาของกัมพูชาได้ออกประกาศเตือนให้ “เฝ้าระวัง” ในพื้นที่จังหวัด สตรึงเตร็ง (Stung Treng) ตามแนวแม่น้ำเซกอง ตามแม่น้ำเซกอง(Sekong) แม่น้ำสาขาสายสำคัญของแม่น้ำโขง ที่สำคัญแม่น้ำเซกองยังรองรับน้ำจากแม่น้ำเซเปียน และเซน้ำน้อย ซึ่งอ้างถึงคำกล่าวขอ Men Kong, โฆษกประจำจังหวัดระบุว่า ได้ทำการอพยพประชาชนราว 1,200 ครอบครัวออกจาก 4 ชุมชน ในจังหวัดแสนปาง(Siem Pang) ทั้งยังระบุว่า “ได้มีการย้ายประชาชนจากพื้นที่ไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วราว 5,000 ครอบครัว”

โฆษกประจำจังหวัดยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “น้ำที่ไหลจากมาได้กระทบต่อตอนบนของแม่น้ำเซกองและจะไหลต่อเนื่องและมีผลกระทบต่อพื้นที่ในตอนล่างของลำน้ำด้วย”

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของจังหวัดได้ร้องขอให้กลุ่มประชาสังคมต่าง ๆเข้ามาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ก็มีความกังวลว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำที่คาดการณ์ไม่ได้ในแม่น้ำเซกองนั้นอาจได้ส่งผลทำให้โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ได้รับความเสียหาย

Kry Solany องค์การชุมชนด้านสิทธิและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนที่กำลังให้ความช่วยเหลือน้ำสะอาด อาหาร ได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ายังไม่มีแผนการณ์เรื่องการอพยพและสถานที่พักพิงหลังจากนั้น

“เราไม่ทราบว่าสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะต้องอพยพคือที่ไหน เรายังไม่รู้อะไรมากจากเจ้าหน้าที่” เขากล่าว

“ตอนนี้ที่เมืองแสนปางได้ประกาศเป็นเขตอุทกภัยน้ำท่วมแล้ว เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเซกอง สูงขึ้นกว่า 11.50 เมตร” Kry Solany กล่าวและให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในวันพฤหัสบดีนี้มวลน้ำจะเคลื่อนเข้ามาถึงจังหวัดสตรึงเตรง (Stung Treng) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญซึ่งห่างจากพรมแดนประเทศลาวมาทางทิศใต้ราว 100 กม.

“ประชาชนชาวสตรึงเตร็งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นหากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นพวกเขาจะต้องได้รับผลประทบ” Kry กล่าว

Chan Yutha โฆษกกระทรวงทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 11.5 เมตรและที่ได้มีการส่งกำลังทหารประมาณ 200 คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ช่วยเหลือในการอพยพ “เรามีความกังวลเกี่ยวกับระดับน้ำที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้”

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่ทำงานร่วมกันระหว่างลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทย ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขง คาดการณ์ว่าเมืองสตรึงเตร็ง และเมืองกระตี( Kratie) ซึ่งอยู่ท้ายน้ำ อาจเกิดภาวะน้ำท่วมขึ้นภายใน 2-3 วันข้างหน้า จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ในมิติด้านการค้าที่แลกมาด้วยความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลุ่มน้ำโขงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก เนื่องจากชุมชนยากจนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามสายน้ำต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ปริมาณปลาตามธรรมชาติที่คาดว่าจะลดลงมากถึงร้อยละ 40

นักสิ่งแวดล้อมได้วิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำนั้นขาดความโปร่งใสและไม่ได้ใส่ใจความต้องการของชุมชนในการวางแผนการพัฒนาในภูมิภาค ขณะที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทำงานด้านการกำกับดูแลเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่หลายสิบโครงการบนแม่น้ำโขงสายหลัก แต่ไม่ได้ให้ความสนใจกับเขื่อนนับร้อยในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงเลย