ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฯ ปี
60 จะต้องเกิดขึ้น เพราะหากไม่มีการเลือกตั้งหรือยืดขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนหลังจาก พรบ.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้
ย่อมทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะที่พังพินาศอย่างแน่นอน
ซึ่งผู้มีอำนาจรู้ดี ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนี้และจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อีก
จากการประเมินทางวิชาการและผลสำรวจโพลต่างๆทั้งทางลับและทางแจ้งต่างก็ไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าใครจะเป็นฝ่ายกำชัยโดยเด็ดขาด
แม้จะดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้เสียงที่มากโขอยู่ แต่เมื่อพิจารณาถึงระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน
(ที่มีใช้ในประเทศเดียวในโลก) ก็ไม่แน่นักว่าจะเป็นเช่นนั้น อีกทั้งหัวแถวของพรรคก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร
มิหนำซ้ำยังเกิดคู่แข่งขันทางการเมืองที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้นมา คือพรรคอนาคตใหม่ซึ่งดูเหมือนว่าจะดีวันดีคืน
ซึ่งก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่าเสียงดีแล้วคะแนนจะเป็นไปตามนั้นด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจจะน้อยสุดๆ หรือมากสุดๆ ไปเลยก็เป็นได้ทั้งนั้น
ส่วนฝั่งฟากของพรรคที่ประกาศตัวหนุนรัฐบาลคสช.ต่างระดมกันใช้สรรพกำลังจูงใจให้อดีตส.ส.ย้ายค่ายมาสังกัดพรรคตน
แต่ก็อีกนั่นแหละจากอดีตที่ผ่านมาย้ายมาก็ไม่แน่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งเสมอไป
อาจเกิดอาการตายยกรังเหมือนคราวที่แล้วก็เป็นได้
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นก็ออกอาการกั๊กๆ
เพราะก็ไม่รู้ว่าหากมีการเปิดประชุมพรรคได้ หัวหน้าพรรคจะยังเป็นคนเดิมอยู่หรือเปล่า
เพราะหัวหน้าปัจจุบันบอกว่าไม่เอาคสช.แต่หากลูกพรรคจะเอาคสช.ก็คงต้องเปลี่ยนหัวหน้าเป็นคนอื่น
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
คะแนนของพรรคต่างๆ ที่ได้หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากเกิน
250 เสียงอย่างแน่นอน และพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดก็อาจไม่ได้เป็นนายกฯ หรือจัดตั้งรัฐบาลเพราะตามมาตรา
272 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 ต้องใช้เสียงรวมกันถึง 375+1 เสียงจึงจะมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกัน
(สส.500+สว.250) จึงจะตั้งนายกฯ ได้ ซึ่งผมจะแยกเป็นกรณีๆ ดังนี้
1.กรณีที่ใช้รายชื่อนายกฯ จากสามรายชื่อของพรรคการเมือง
(ก็อกแรก) ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคุณประยุทธ์จะตัดสินใจลงรายชื่อพรรคไหน
หรืออาจจะถอดใจโบกมือบ๊ายบายไปเลยซึ่งเดือนกันยายนนี้รู้กัน ผมเชื่อว่าจากเสียง สว.
250 แล้วหาเสียงจาก สส.อีก 125+1 คงไม่ยากนักในการที่จะได้นายกฯ มาตั้งรัฐบาล
แต่จะเป็นรัฐบาลที่อายุสั้นที่สุด เพราะเมื่อมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือเสนอร่างกฎหมายสำคัญๆ
เช่น พรบ.งบประมาณ ฯลฯ ก็จะถูกคว่ำกลางสภาผู้แทนราษฎรโดยที่ สว.ไม่สามารถยื่นมือมาช่วยได้เลย
2.กรณีที่จะไม่ใช้รายชื่อจากพรรคการเมืองแต่จะไปเอานายกฯ
คนนอก (ก็อกสอง) ซึ่งตามมาตรา 272 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 60 จะต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า
2 ใน 3 จากทั้งสองสภาซึ่งก็คือ 500 นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องเอาเสียง สว. 250
ไปรวมกับเสียง สส.อีก 250 จึงจะได้คะแนนที่ว่า ซึ่งหากเกิดกรณี สส.ต่างก็พากันนั่งเฉยๆ
หรือ “กอดอก” ไม่ยอมยกมือให้ กรณีที่ 2 นี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้
จึงจะเกิดภาวะที่เรียกว่าเดดล็อก
ก็เป็นหน้าที่ที่นายกฯ ในขณะนั้นจะต้องยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ รัฐบาล คสช.ก็จะยืดอายุออกไปอีก
เพราะคสช.จะสิ้นสภาพไปก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฯ ปี
60 เท่านั้น และหากยุบสภาฯ แล้วก็ยังตั้งรัฐบาลอีกไม่ได้ก็จะวนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป
3.กรณีเกิดฟลุ๊กพรรคที่ได้เสียงข้างมากสามารถรวมกันได้
375+1 ตั้งนายกฯ และฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาได้โดยไม่ต้องง้อ สว. (ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
ถึงยากที่สุด แต่ก็เป็นไปได้หากเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินถล่มหรือที่เรียกว่าแลนด์สไลด์แบบมาเลเซียโน่นแหละครับ)
สิ่งตามมาก็คือการทำประชามติสอบถามประชาชนว่าเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 หรือไม่
จะแก้บางประเด็นก่อนหรือทั้งฉบับไปเลย ฯลฯ
เมื่อได้คำตอบแล้วก็เข้าสู่กระบวนการแก้ไขตามรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป ซึ่งหากถึงตอนนั้น
สว.ที่จะต้องใช้ 1 ใน 3 ก็คงยากที่จะฝืนแล้ว ในที่นี้ก็หมายความรวมถึงกฎหมายยุทธศาสตร์
20 ปีที่จะต้องถูกแก้หรือถูกยกเลิกอย่างแน่นอน
แล้วเราควรจะทำอย่างไร
ไหนๆ เราก็ไม่ได้เลือกตั้งกันมาตั้งแต่ปี
54 ถ้านับถึงปีหน้าก็จะเป็น 8 ปีพอดี
และเป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารที่คนในประเทศมีทั้งชอบและไม่ชอบ
พรรคการเมืองต่างๆ ก็ควรที่จะประกาศกันออกมาให้ชัดเจนไปเลยว่าจะอยู่ฝ่ายเอาหรือไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ
คสช. แล้วรณรงค์กันอย่างเต็มที่
คสช.เองก็จะได้รู้ตัวเองว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วคนชอบหรือไม่ชอบตนเองมากกว่ากันแน่
หากมัวแต่ทำกึกๆกั๊กๆ ล็อกก็ไม่ยอมปลด ใครขยับอะไรนิดอะไรหน่อยก็แจ้งข้อหา
หรือไม่ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปรามขั้วตรงข้ามกับตนหรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัย
หากจะได้ชัยชนะมาก็คงไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอะไร แรงต้านก็จะยิ่งหนักกว่าเดิมทั้งจากในและนอกประเทศแบบเดียวกับการเลือกตั้งของเขมร
และในทางกลับกันหากแม้ว่าทำทุกอย่างหรือทำทุกวิถีทางแล้วยังแพ้อีก
ก็ถอยกลับเข้าไปกรมกองตลอดกาลไปเลยเพราะแสดงว่าการรัฐประหารไม่ได้รับการยอมรับนั่นเอง
หากปล่อยอิสระเสรีในการรณรงค์หาเสียงกันอย่างเต็มที่แล้ว
มีการเลือกตั้งอย่างสุจริตยุติธรรม ไม่มีการโกงกันทั้งทางตรงและทางอ้อม
ผลการเลือกตั้งออกมาแล้วฝ่ายที่หนุนคสช.ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด
ก็ให้เป็นอันยอมรับกันว่าประชาชนเขาจะเอาอย่างนี้
คราวหน้าก็แก้ตัวใหม่รณรงค์กันใหม่ก็เท่านั้นเอง
ประชาธิปไตยที่แท้จริงมันสวยงามอย่างนี้
จริงอยู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีข้อบกพร่อง
แต่มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ การแก้ไขข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยก็คือการทำให้เป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นไปอีกนั่นเอง
อยากให้วันเลือกตั้งมาถึงเร็วๆ
จังเลยครับ
----------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่
25 กรกฎาคม 2561