วันศุกร์, กรกฎาคม 27, 2561

สร้างเขื่อนของลาว ใครได้-ใครเสีย’ (เกี่ยวอะไรกับไทย และเกาหลีใต้)



พลิกปูม ‘ใครได้-ใครเสีย’ แผนสร้างเขื่อนของลาว




Jul 26, 2018
Last update Jul 26, 2018


เหตุเขื่อนแตกจุดชนวนคำถามว่า ทำไมลาวจึงมีแผนสร้างเขื่อน 100 แห่ง ไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวตั้งเป้าผลิตให้ได้ถึง 28,000 เมกกะวัตต์ภายใน 2 ปี เป็นประโยชน์กับใคร และใครคือผู้แบกรับผลกระทบ


สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สปป.ลาวมีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 100 เขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 28,000 เมกกะวัตต์ โดยตั้งเป้าที่จะจ่ายกระแสไฟเข้าระบบภายในปี 2020

พลังงานที่ผลิตได้ราวร้อยละ 85 จะขายให้แก่ประเทศไทย โดยสองในสามของกระแสไฟฟ้าส่วนนี้จะป้อนมายังกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล

ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย รวมถึงเวียดนาม กัมพูชา และจีน บวกกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ คือแรงผลักดันเบื้องหลังที่ลาวตัดสินใจรับบทเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย”

สปป.ลาว มีประชากรแค่ 6 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง แต่ลาวอุดมด้วยทรัพยากรน้ำ ดังนั้น ลาวจึงเลือกการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นอุตสาหกรรมสร้างรายได้

เวลานี้ ลาวมีเขื่อนพลังน้ำที่เปิดใช้งานแล้ว 46 เขื่อน มีกำลังการผลิต 6,400 เมกกะวัตต์ มีแผนจะสร้างอีก 54 เขื่อน ถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ในเวลาอีก 2 ปี ลาวจะผลิตไฟฟ้าได้เกือบเท่าปริมาณที่ประเทศไทยใช้ใน 1 ปี

ลาวหวังว่า ภายในปี 2020 ประเทศจะยกระดับพ้นสถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างตามคำนิยามของธนาคารโลก ประชากรจะมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ปีละ 82,000 บาท

แม้ว่าลาวกำลังจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก เกือบเท่าปริมาณการใช้ต่อปีของไทย แต่พื้นที่ชนบทของลาวยังมีไฟฟ้าใช้แบบติดๆดับๆ หมู่บ้านห่างไกลยังไม่มีไฟฟ้าไปถึง

โครงการเขื่อนพลังน้ำส่วนใหญ่ สร้างและดำเนินงานโดยบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทของไทยกับจีน ก่อนที่จะมอบโอนให้แก่รัฐบาลลาวภายในระยะเวลา 20-30 ปี

คีธ บาร์นีย์ นักวิชาการของคณะเอเชีย-แปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย บอกว่า ในช่วงปัจจุบัน เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วส่วนใหญ่ ยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะสร้างรายได้แก่ประเทศลาว และผลประโยชน์ยังไม่ตกถึงมือชาวบ้าน และลาวไม่มีระบบจ่ายเงินรายรับจากการขายไฟฟ้าคืนให้แก่ชุมชนเหมือนในบางประเทศ

ตรงกันข้าม ชาวบ้านเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ เช่น ต้องโยกย้ายถิ่นที่อยู่ สูญเสียที่ทำกิน หาปลาได้น้อยลงเพราะเขื่อนปิดกั้นการอพยพวางไข่ของปลา แต่คนเหล่านี้กลับได้รับค่าชดเชยที่ไม่คุ้มค่า

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของรัฐบาลลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม คาดการณ์ว่า การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงจะส่งผลกระทบต่อปลาชนิดต่างๆถึงร้อยละ 40 ของสายพันธุ์ทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนลาวและทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง




https://www.voicetv.co.th/read/Syjps1L47