ทักษิณ : “เราต้องเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี-ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์”
Jul 26, 2018
Voice TV
69 ปีของทักษิณ ชินวัตร ย้อนไปฟังสิ่งที่เขาคิด ทำไมถึงคิดทำพรรคการเมือง และพรรคที่เขาเคยคิดฝันทำงานการเมืองแบบไหน
ราวปี 2536-2537 “ทักษิณ ชินวัตร” เรียกคนสี่ห้าคนมานั่งพูดคุยกัน ในวงสนทนานั้น สมาชิกคนหนึ่งคือ “อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย” ประเด็นที่สนทนากันคือ “การทำงานการเมือง” ภูมิธรรมเล่าถึงเหตุการณ์นั้นว่า “คุยกันต่อเนื่องหลายเดือน วันละ 3-6 ชั่วโมง” ทักษิณ ชูประเด็นว่า “เรื่องอย่างนี้ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ คิดแบบเดิมมันไปไม่รอด” เมื่อถึงจุดหนึ่ง ภูมิธรรมบอกกับทักษิณว่า “ผมก็บอกคุณทักษิณซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมว่า สิ่งที่คุณทักษิณอยากเปลี่ยนแปลงนั้นคงยาก เพราะโครงสร้างที่พรรคเขาวางไว้แข็งมาก เมื่อไปดูการเลือกหัวหน้าพรรค การโหวตในภูมิภาคต่างๆ ที่คุณจำลอง ศรีเมืองวางไว้นั้น แม้คุณทักษิณอยากจะเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคสักครึ่งหนึ่งก็ยังทำไม่ได้ เปลี่ยนยาก.. ควรทำพรรคใหม่” (คัดจาก The Momentum)
ถึงที่สุด ทักษิณ จึงเดินออกจากพรรคพลังธรรม หยุดพักยกทางการเมืองระยะหนึ่ง ก่อนปัดหมุด “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”
ย้อนอ่าน “ตาดูดาว เท้าติดดิน บทที่ 18”
14 กรกฎาคม 2541 ทักษิณ ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ขายจุดยืนในการแก้ปัญหาของประเทศ (Platform) สร้างการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ชูจุดเด่นที่การแข่งขันทางนโยบายในระดับที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม
“น่าเสียดายที่คนดีมีความรู้ความสามารถไม่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการรับใช้ชาติได้ เพราะโดนพิษการเมืองทำลาย และน่าเสียดายที่ต้องปล่อยให้ชะตากรรมของประเทศตกอยู่ในมือของนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวและหมกมุ่นแต่เปลือกนอก”
“การเมืองเชิงสร้างสรรค์คือการเมืองที่ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ถือเขาถือเราแล้วมุ่งทำร้ายอีกฝ่ายเพื่อเป็นผู้ชนะในสนามการเมือง แต่เป็นการเมืองที่มุ่งคิดว่า เราจะรวมพลังกันอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาของชาติได้”
“การเมืองเชิงสร้างสรรค์ คือ การเมืองที่นำจุดอ่อนของประเทศชาติมาวิเคราะห์เพื่อหา Platform หรือความคิดหาหนทางแก้ปัญหาให้สังคมไทยเข้มแข็ง ไม่ใช่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนแอเพื่อความสำเร็จทางการเมืองเหมือนดังนักการเมืองบางคนกำลังทำกันอยู่”
“อนาคตนี้อาจใช้เวลาประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า หรือสัก 4-5 การเลือกตั้งจึงจะก่อเค้าขึ้น... ผมก็ต้องยืนยันว่า ถ้าผมไม่เริ่มเสียแต่วันนี้ อนาคตดังกล่าวก็อาจเลื่อนออกไปไม่รู้จบเช่นกัน และแท้จริงก็คือ ผมตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการผลักดันให้การเมืองบ้านเราเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าการตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นสิ่งที่ช่วยย่นระยะเวลาดังกล่าวให้สั้นลง ผมก็อาสาจะทำ”
“ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เวทีการแข่งขันระดับโลกในทุกด้าน รอไทยอยู่ข้างหน้าแล้ว ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยของเราจะร่วมใจร่วมแรงกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ พัฒนาตัวเองในทุกด้านเพื่อไปยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างสง่างามได้หรือไม่เท่านั้น ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ประชาชนไทยจะกล้าเงยหน้าขึ้นมองดูดาว แม้เท้าเราจะติดดินก็ตาม” (คัดจาก ชีวประวัติ ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน,ตีพิมพ์ในปี 2542)
4 ชัยชนะในสนามเลือกตั้ง
ด้วยท่าทีของการเป็น “พรรคใหม่ ปฏิรูป ทันสมัย และโลกาภิวัตน์” (อ่านละเอียดที่ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ และ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ที่เขียนโดย ผาสุกและคริส) ด้วยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับฐานเสียงที่กว้างขวางที่สุดในประเทศ อย่างภาคชนบท ด้วยการเสนอนโยบายสำคัญสามเรื่อง ที่จะถูกถ่ายทอดในเวทีหาเสียงต่างๆ ได้แก่ “พักหนี้เกษตรกร-กองทุนหมู่บ้านละล้าน และโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค” ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งแรก ทักษิณและพรรคไทยรักไทยสามารถคว้าดาวได้สำเร็จ
คำขวัญ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนไทยทุกคน” ปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2544 คือพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 248 คน จากทั้งหมด 500 คน
คำขวัญ “พรรคไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน” และความสำเร็จจากการประกาศสงครามกับยาเสพติด และความยากจน ปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2548 คือ พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 แบบถล่มทลาย ได้ ส.ส. 377 คน จากทั้งหมด 500 คน
หลังการรัฐประหาร พรรคไทยรักไทย เกิดใหม่เป็นพรรคพลังประชาชน ด้วยคำขวัญ “เลือกสมัคร ได้ทักษิณ” ด้วยพลังของการ “ไม่เอารัฐประหาร” และความสำเร็จของนโยบายทางการเมืองระดับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ที่ทักษิณได้เริ่มไว้จนกลายเป็นภาพจำ ปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2550 คือพรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 233 คน จากทั้งหมด 480 คน
พรรคพลังประชาชนถูกยุบ เกิดใหม่เป็น พรรคเพื่อไทย ด้วยคำขวัญ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ผนวกกับชื่อแคนดิเดตเบอร์หนึ่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่เป็นเหมือนโคลนของทักษิณ ผสมผสานกับอารมณ์ของสังคมไทย ตั้งแต่ รัฐประหารในปี 2549 การสังหารกลางกรุงในปี 2553 ส่งผลให้ ปฏิบัติการ “49 วัน ปั้นนายกหญิง” ประสบความสำเร็จ ปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 คือ พรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. 265 คน จากทั้งหมด 500 คน
ทักษิณ : “เราต้องเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี-ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์”
ไม่เกินเลยจากประโยคที่ นายกทักษิณ ได้เคยพูดว่าในปี 2546 ว่าพรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่ว่าจะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อใด จะยังคงสามารถชนะในการเลือกตั้งทั่วไปได้ถึง 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554 ย้อนอ่านอีกครั้งกับสุนทรพจน์ที่ นายกทักษิณได้เคยกล่าวไว้ ในเวทีการสัมมนาพรรคไทยรักไทย ที่โรมแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2546
“ฉะนั้น เราต้องยืนเป็นพรรคหลักของประเทศ เราต้องเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี เนื่องจากประเทศนี้ต้องการความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา”
“ที่พูดอย่างนี้ เพราะต้องการบอกให้รู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คู่แข่งของพรรคไทยรักไทย คู่แข่งของพรรคไทยรักไทย คือ พรรคไทยรักไทยเอง ฉะนั้นต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ต้องทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ อย่าไปข้องแวะ วอแวกับพรรคประชาธิปัตย์เลย เพราะเขามีวัฒนธรรมแบบรั้นๆ 50 กว่าปี มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่ายๆ หรอก” “ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย ขอให้เราเดินทางโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์”
“ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคิดว่า แพ้ไทยรักไทย เพราะเงิน ก็จงคิดต่อไปอีก 3 สมัย ถึงจะเข้าใจว่า ไม่ได้แพ้เพราะเงิน ฉะนั้นที่บอกว่า ไทยรักไทยจะเป็น รัฐบาล 20 ปี ก็เป็นเรื่องจริง ฉะนั้นขอให้สมาชิกพรรคยึดหลักสัญญาประชาคมไว้”
“ที่พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าแพ้ไทยรักไทยเพราะเงิน ก็ขอให้คิดต่อไปอีก 3 สมัย คงจะเข้าใจ และอีก 2 สมัยจะรู้ว่าแพ้ เพราะอะไร...รวมแล้ว 5 สมัยถึงจะบอกว่าต้องหาวิธีสู้ ที่ผมบอกว่าจะอยู่อีก 20 ปี ผมพูดความจริง”
“เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยชนะถล่มทลาย แต่ครั้งหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เราจะชนะ ยิ่งกว่าถล่มทลาย”
ทักษิณ : “ขอเป็น นายก 2 สมัย หลังจากนั้น ขอเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยต่อ-จัดระบบให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง”
สำหรับการวางแผนชีวิตทางการเมืองของ นายกทักษิณ ในเวลานั้นเขาย้ำชัดว่า “คราวที่แล้วบอกคิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน คราวนี้เราจะคิดอีกทำอีกเพื่อความสุขของคนไทยทั้งแผ่นดิน ฉะนั้นผมต้องทำอีก เพราะผมยังเฟรช(fresh)อยู่ และผมตั้งใจจะอยู่ครบ 8 ปี เพราะหลัง 8 ปี เมื่ออายุ 60 ผมจะยังเฟรชอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าผมไม่ฟิต ผมไม่นั่งขวางโอกาส ผมต้องการคนที่ฟิตกว่ามาทำงานแทน”
“หลังจากสมัยหน้า (เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง 48-2552) จะลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อไปอีก 4 ปี เพื่อจัดระบบให้พรรคไทยรักไทยเป็นสถาบันที่ยั่งยืนต่อไป”
“หลังจากผมทำหน้าที่เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ก็จะขอมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคอีก 4 ปี เพื่อทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นสถาบัน จากนั้น ผมก็คงต้องลาแล้ว เพราะถึงเวลาดังกล่าวรับรองว่าดัชนีตัวเลขต่างๆ ของประเทศ ก็ไม่รู้ว่าวิ่งไปถึงไหนแล้ว เงินทุนสำรอง ค่าเงินบาท หนี้สินคงจะลดไป”
(คัดจาก หนังสือพิมพ์มติชน/28 ธันวาคม 2546-หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ/28 ธันวาคม 2546-หนังสือพิมพ์ข่าวสด/28 ธันวาคม 2546)
ถ้านับเอา “เงื่อนเวลา” ที่ นายกทักษิณ ว่าไว้ ว่าพรรคไทยรักไทยจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลไปอีก 20 ปี ถ้าเริ่มเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2544 พลังทางการเมืองชุดนี้ก็มีแนวโน้มจะมาสิ้นสุดเอาในปี 2564 น่าขบคิดเหมือนกันว่า แรงศรัทธาจากนโยบาย และแรงกระทำจากระบอบเผด็จการ จะปรากฎเป็นผลคะแนนเลือกตั้งด้วยคณิตศาสตร์การเมืองเท่าใด?
จุดอ่อน “ทักษิณ”
ในความสำเร็จทางการเมือง ที่สามารถวัดด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปได้ถึง 4 ครั้ง แต่ไม่อาจปกครองได้ราบรื่น เพราะมีขบวนประชาชนอีกฝั่งที่ “เสียงดังเป็นพิเศษ” ไปจนถึงกองทัพ พยายามที่จะล้ม เครือข่ายของทักษิณอยู่โดยตลอด ในโอกาส 69 ปี ของทักษิณที่มาถึงในวันนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้ได้ทบทวนถึงจุดอ่อนของทักษิณ
“หมอเลี๊ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อยู่กับ นายกทักษิณ มาตั้งแต่ก่อนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อยู่เคียงทักษิณในสถานการณ์ที่สำเร็จสูงสุด และยากลำบากที่สุด มีทั้งเห็นตรงและเห็นต่าง ในหลายช่วงใกล้ชิด ในบางช่วงห่างกันไป หมอเลี๊ยบ พูดถึง “ตัวจริงของนายกทักษิณ” ไว้น่าสนใจ เขาตอบคำถามนี้ โดยหวนคิดถึง “วันที่สร้างพรรคกับทักษิณ”
“ช่วงปี 2543-44 ที่ผมมีโอกาสได้ร่วมงานสร้างพรรคด้วยกัน เป็นช่วงที่ผมเห็นตัวตนเชิงบวกของคุณทักษิณมากที่สุด โดยพื้นฐานคุณทักษิณเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น ถ้าเชื่อว่าอะไรถูกต้องก็จะทุ่มเทเพื่อทำให้สำเร็จ ช่วงนั้นคุณทักษิณมีลักษณะที่รับฟังคนค่อนข้างมาก ถ้าคิดต่างแต่มีข้อมูลที่ครบถ้วน เขาพร้อมจะรับฟัง แต่ถ้าไม่มีข้อมูลรองรับ อาจจะไม่ได้รับการรับฟัง”
“มันมีคำพูดหนึ่งกล่าวไว้ว่า ถ้าอยากรู้จักว่าคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ลองให้อำนาจดู --แน่นอนว่า พอมีอำนาจมากขึ้นก็จะมีคนเข้าหามากขึ้น มีคนอยู่สองกลุ่มชัดเจน คือ กลุ่มแรกที่ไม่ค่อยได้ทำงาน แต่มีทักษะในการให้ข้อมูลที่ไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงเท่าไหร่ กลุ่มนี้มักชอบเข้าหา ส่วนอีกกลุ่มคือพวกที่อยากพิสูจน์ด้วยผลงาน กลุ่มนี้มักไม่มีโอกาสได้เข้าหาเท่ากลุ่มแรก” (คัดจาก 101)
ไม่ใช่ทักษิณ ไม่เคยสรุปข้อบกพร่องของตัวเอง หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งและเดินออกจากพรรคพลังธรรม เขาสรุปบทเรียนให้กับตัวเองว่า “แล้วผมก็สรุปได้ว่า ต้นตอแห่งความผิดพลาดทางการเมืองของผมที่ผ่านมาทั้งหมด มาจากการยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง การที่ผมประสบความสำเร็จในชีวิตมาในระดับหนึ่ง ทำให้หลงคิดไปว่า วิธีคิด วิธีทำงานของตนเองเป็นวิธีเหมาะสมที่สุด ใครที่ไม่ทำตามเรา เราก็ไม่เข้าใจเขา แต่ไปพยายามทำให้เขาเข้าใจเรา ซึ่งไม่ถูกต้อง”
“การเมืองเป็นเรื่องที่สั่งไม่ได้เหมือนธุรกิจ แต่การเมืองเป็นเรื่องของการร่วมมือร่วมใจ การเข้าใจ และการประนีประนอม” (คัดจาก ชีวประวัติ ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน,ตีพิมพ์ในปี 2542)
“ธนาธร ต้องทำสงครามที่นายกทักษิณทำไม่สำเร็จ”
ในวงสนทนา กับ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยรายหนึ่ง เมื่อถามว่า “อะไรที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องทำให้ต่างจากทักษิณ ?” คู่สนทนาของผม คิดกับคำถามนี้อยู่นาน จนตอบว่า
“ผมคิดว่า คุณธนาธร ต้องทำสงครามที่ นายกทักษิณ ทำไม่สำเร็จ.... พรรคไทยรักไทย ประกาศสงครามกับสามเรื่อง เราประกาศสงครามกับยาเสพติด เราประกาศสงครามกับความยากจน และเราประกาศสงครามกับการทุจริต คอรัปชั่น... ผมคิดว่า ที่นายกทักษิณ ทำสำเร็จแล้ว คือสงครามกับ ยาเสพติดและความยากจน...ผมคิดว่า คุณธนาธร ต้องทำสงครามที่นายกทักษิณ ทำไม่สำเร็จ คือ สงครามกับการทุจริตคอรัปชั่น”
นั่นคือโจทย์ทางการเมือง ที่ทักษิณ ผู้ที่เคยประกาศสร้าง “การเมืองใหม่” ในปี 2541 ได้ทิ้งไว้โดยไม่รู้ตัวให้กับ ธนาธร ผู้ที่ประกาศสร้าง “การเมืองใหม่” ในปี 2561
แต่โจทย์สำหรับสำหรับสังคมไทย คือ ตลอดเกือบสองทศวรรษมานี้ เราใช้ทรัพยากรของประเทศมากไปหรือไม่ ไปกับความพยายามในการกำจัดคนคนเดียวออกจาก อาณาบริเวณทางการเมืองไทย ? แต่ไม่ว่าจะใช้ทรัพยากรมากเพียงใด เมื่อคราววันเกิดนายกหญิงผู้เป็นน้องสาว นายกทักษิณได้ประกาศแล้วว่า “ผมก็ 69 เดือนหน้า ก็ยังคิดว่าแข็งแรงอยู่ จะพยายามให้แข็งแรงเหมือนมหาเธร์ 92"!!
ooo
‘แม้ว’ ประกาศลั่น! พร้อมคัมแบ็กสู่สนามการเมือง ซัดประยุทธ์ ‘อยู่ต่อจนมัน’ (คลิป)
https://www.khaosod.co.th/politics/news_1253483