“สติธร” : สูตร “พลังดูดเลือกตั้ง” ประชารัฐ+ประชาธิปัตย์ = รัฐบาล “บิ๊กตู่”
12 July 2018
ประชาชาติธุรกิจ
สัมภาษณ์พิเศษ
ทุกจังหวะการเมืองขณะนี้โฟกัสไปที่ปฏิบัติการของ “กลุ่มสามมิตร” ที่ทำการ “ดูด” อดีตนักการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย (พท.) โดยเฉพาะเหนือ-อีสาน
จน พท.อยู่ในภาวะโคม่า หลังจากถูก “เจาะหลังบ้าน” จนเลือดไหลไปซบพลังประชารัฐ (พปชร.) นับสิบราย
ฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มเคยกินข้าวหม้อเดียวกัน อย่าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ดึง ส.ส.ภาคใต้ให้เข้ากลุ่ม
ส่วนพรรคการเมืองขั้วกลาง-ตัวแปร ยังคง “แทงกั๊ก” ยังคงดูสถานการณ์-รอดูมติของประชาชนหลังเลือกตั้ง
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ที่ลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน หัวคะแนน จนถึงนักการเมืองท้องถิ่น-ระดับชาติ ทำวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลากหลายหัวข้อ
ให้อธิบายถึงปรากฏการณ์ “การดูด” ส.ส.ในปัจจุบัน จะส่งผลอะไรต่อการเลือกตั้ง และการตัดสินใจทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในเวลาอันใกล้นี้
อ่านปรากฏการณ์พลังดูด
“สติธร” อธิบายว่า ปรากฏการณ์ขณะนี้ คสช.พยายามทุกวิถีทางที่จะกลับมาให้ได้หลังเลือกตั้ง โฟกัสไปที่กลุ่มสามมิตร คสช.รู้ว่าถ้าเลือกตั้งต้องการที่นั่งมากขนาดไหนที่มาเป็นรัฐบาลและไม่น่าเกลียด ขณะนี้มีตุนอยู่แล้วจาก ส.ว. 250 มือ ยังต้องการเพียง 126 มือจาก ส.ส. แต่จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้นต้องการ ส.ส.อย่างน้อย 251 เสียงขึ้นไป เพื่อบริหารประเทศได้”
“แต่การได้ 251 เสียงนั้นยาก เพราะดูการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่นั่ง 80 เปอร์เซ็นต์อยู่กับ พท. และ ปชป. จะไปแย่ง 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ได้ 251เสียง จึงไม่ง่าย จึงต้องตั้งแกนขึ้นใหม่ให้เห็นชัด ๆ ว่า มีทหารอยู่เบื้องหลังแล้วไปเจาะ”
“แรก ๆ จะเห็นภาพว่าพยายามเจรจากับชาติไทย ภูมิใจไทย กับบางกลุ่ม เช่น กลุ่มวังน้ำยมของคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่พอคำนวณเสียงแล้วไม่พอ จึงไปเจาะหลังบ้าน พท. โดยเจาะผ่านคอนเน็กชั่น ใครที่กลุ่มคุณสมศักดิ์คุยรู้เรื่อง เคยเป็นพรรคพวกเดียวกันมาก่อนก็ไปดึงมา พอคนเริ่มไหลเข้ามาอยู่ในกลุ่มทหาร ก้อนตรงนี้จะเริ่มใหญ่ขึ้น คนที่เหลืออยู่ก็ย่อมหวั่นไหวเป็นธรรมดา จังหวัดที่เจาะยากก็เริ่มเปิดช่องมากขึ้น”
ยอมเสี่ยงเพราะทหารอยู่ยาว
หลังปฏิบัติการดูด ส.ส.ของกลุ่ม “สามมิตร” ปรากฏว่า พท.-ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่พรรค เตรียมเดินเกมย้อนศร “ดูดกลับ” ซึ่ง “สติธร” เชื่อว่า เป็นสิ่งที่ “ทักษิณ” ให้ ส.ส.ได้ แต่ปัจจัย แรงจูงใจที่ ส.ส.พท.ตีจากมีมากกว่านั้น
“แรงจูงใจแรกเริ่มรู้สึกว่าการอยู่กับ พท. แม้ชนะเลือกตั้งแต่อาจไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นสิ่งที่ ส.ส.คิดได้ง่ายที่สุด เพราะสิ่งที่ คสช.อยู่ได้มาถึง 4 ปีกว่า สะท้อนว่า คสช.มีพลังอะไรบางอย่างที่เข้มแข็งเกินกว่า พท.”
“อาจประเมินว่า พท.ชนะเลือกตั้ง อาจอยู่ได้แค่ปีเดียวเหมือนรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรือเปล่า แต่ถ้าเข้ากับกลุ่มทหาร อาจอยู่ยาวครบเทอม เพราะพลังบางอย่างที่แข็งกว่า พท. ก็คือ พลังของตัวกองทัพ พลังของมือที่มองไม่เห็น แม้ ส.ส.อาจประเมินแล้วว่าเสี่ยง เพียงแต่เสี่ยงแล้วยาว เทียบกับ พท.งานง่าย แต่อาจเป็นฝ่ายค้าน”
เมื่อนักการเมืองที่ยอมถูกดูดมาอยู่ พปชร. ยอมเสี่ยงสอบตก ดังนั้น วาทกรรม “รับเงินหมา กาเพื่อไทย” จึงมีความเป็นไปได้ “สติธร” ยอมรับว่า “จากการวิจัยพบว่าปัจจัยเรื่องพรรคสำคัญที่สุด โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ บ่งชี้ว่าโอกาสที่จะทำให้ผู้สมัครชนะคือสังกัดพรรคที่ใช่ในภาคที่ถูกต้อง สะท้อนออกมาชัดในการเลือกตั้งปี 2554 ในภาคอีสาน ซึ่งภูมิใจไทย แยกจากพรรคพลังประชาชน ดึง ส.ส.พรรคพลังประชาชนไปอยู่ แล้วพอแข่งกันปี 2554 แพ้เกือบหมด”
“ในขณะที่ พท. ส่งอดีต ส.ส.สอบตกในสมัยพรรคไทยรักไทย หรือบางคนใน จ.เลย มาจาก ส.จ.ธรรมดา แข่งกับอดีต ส.ส.เบอร์แข็งถูกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ดึงไป กลับสอบตก พท.จึงค่อนข้างมั่นใจว่า กระแสเหนือ อีสานดีพอ”
ดูดไปแต่ตัว คะแนนไม่ไป
“สติธร” กล่าวว่า อดีต ส.ส.ที่อยู่กับพื้นที่มานาน มีโครงข่ายหัวคะแนนชัดเจน ไปดูคะแนนเลือกตั้งปี 2554 คะแนนส่วนบุคคลมีไม่เกินครึ่ง เช่น บางคนได้ 6 หมื่นคะแนน แต่คะแนนส่วนบุคคลมีแค่ 2-3 หมื่นคะแนนเท่านั้น ที่เหลือคือคะแนนพรรค ดังนั้น ที่ดูดไปต้องคิดว่าเอาคะแนนไปได้แค่ครึ่งเดียว ไม่ใช่เอาคะแนนไปทั้งหมด
“สมมติเป็น พปชร. สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องบิลด์กระแสพรรคให้ได้ จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะเติมเต็มคะแนนส่วนบุคคลที่มีอยู่แล้ว 2-3 หมื่นคะแนนได้ไหม แต่ถ้าเป็น พท. มีกระแสพรรคตุนอยู่ครึ่งหนึ่ง คือ 3 หมื่นคะแนน เขาเอาผู้สมัคร ส.จ. มีคะแนน 1 หมื่นคะแนน รวมกับกระแสพรรค ก็เป็น 4 หมื่นคะแนนแล้ว แต่ขณะที่ พปชร.ดูดไปแต่ได้คะแนนแค่ครึ่งเดียว อาจจะแพ้ที่เขตเหมือนเดิม พท.อาจจะรักษา ส.ส.เขตได้เหมือนเดิม”
ทางสู้ พท.จับมือ อนค.
ส่วนทางรอดสู้พลังดูดของ พท. “สติธร” แนะว่า ถ้า พท.ฉลาดก็จะแบ่งคะแนนไปให้อนาคตใหม่ (อนค.) ถ้าแบ่งกันดี ๆ อนค.อาจได้ 60-70 ที่นั่ง แล้ว พท.ขอแค่ 200 เสียงก็พอ เมื่อรวมกันจะกลายเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ดังนั้น ปรากฏการณ์ดูด ส.ส.ที่แรง ก็คงเห็น scenario เหมือนกัน เพราะระบบคะแนนจัดสรรปันส่วนผสม 7 หมื่น คะแนนเท่ากับได้ ส.ส.1 คน ถ้า พท.แบ่งให้ อนค.เขตละ 10,000 คะแนน ใน 350 เขตเลือกตั้ง จะได้ 3.5 ล้านคะแนน เมื่อเอามาหารกับ 7 หมื่นคะแนน ก็จะได้ ส.ส. 50 ที่นั่ง
ยังไม่นับคะแนนบุคคลที่คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค) ไปดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่มาอีก 1 ล้านคะแนนก็จะเป็น 4.5 ล้านคะแนน เมื่อเอา 7 หมื่นหาร ก็จะได้ 60 กว่าเสียง หากเพื่อไทยรักษาจำนวน ส.ส.เดิมเอาไว้ได้ 200 เสียง ก็จะได้เสียงข้างมาก 260 กว่าเสียง แล้วกล้าโหวตให้คนอื่นมาเป็นนายกฯหรือไม่ ถ้าสองพรรคนี้รวมกันได้ 260 เสียง สมการเปลี่ยนทันที ภท. อาจเห็นว่า ประชาชนตัดสินแล้ว เราย้ายข้างดีกว่า ก็เป็นไปได้หมด
ประเมินผลพลังดูด
“สติธร” ประเมินผลพลังดูดว่า ได้ผลระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าคิดจากระบบเลือกตั้งบัตรเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ถ้าดูด ส.ส. แล้วได้คะแนน 2-3 หมื่น ได้คะแนนตกน้ำ แม้แพ้ในเขตไม่เป็นอะไร แต่ก็ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แต่ต่อให้คะแนนตกน้ำให้ตายก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 150 เสียง
“แต่เป้าหมายของ พปชร. คืออยากได้คะแนนเสียง 250 เสียง เพื่อตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องการ ส.ส.เขตอีก 100 เสียง ซึ่งระบบเลือกตั้งแบบนี้แปรผกผันกัน ถ้าได้ ส.ส.เขตเยอะ จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย กรณีใช้พรรคเดียวจึงลำบากมากในการได้ 250 เสียง ไม่ว่าจะดูดขนาดไหน ดังนั้นจะต้องดูดเพิ่ม หมายความว่าไม่ได้ดูดเฉพาะที่ 1 แต่ดูดที่ 2 ที่ 3 มาด้วย มาตุนเอาไว้ถึงจะพอ ก็จะได้คะแนนบุคคลเพิ่มขึ้น แต่คนที่ได้ 2-3 ไม่มีตำแหน่งอยู่แน่ จะเอาอะไรให้เขา จะยากขึ้น”
เชียร์ “บิ๊กตู่” นายกฯในบัญชี
อย่างไรก็ตาม หลัง พล.อ.ประยุทธ์ บินไปโรดโชว์ประเทศที่อังกฤษ-ฝรั่งเศส ได้ลั่นวาจาไว้ว่า จะเผยอนาคตตัวเองในเดือน ก.ย.นี้ ทำให้คนการเมืองต่างคะเนกันไปว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเปิดตัวเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรค พปชร. หรือจะเป็นนายกฯคนนอก
ในมุม “สติธร” เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรประกาศตัวเป็นนายกฯ ในบัญชี พปชร. ให้ชัด ๆ ไปเลย “โอกาสที่ พปชร. เอา พล.อ.ประยุทธ์วางไว้บนหิ้งแล้วโหวตนายกฯ รอบสอง ยากมากที่จะหา 500 เสียง จาก ส.ส. 250 เสียง เพื่อรวมกับ ส.ว. 250 เสียง แล้วมาขอปลดล็อกให้เลือกนายกฯคนนอก แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้ารวม ส.ส.ได้ 250 เสียง แล้วจะไปหาแนวร่วมอีก 125 เสียง แต่ไม่ยอมเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคใดเลย”
“ทางที่ง่ายที่สุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ มาอยู่ในบัญชีพรรคการเมืองรอบแรกไปเลย แล้วค่อยไปจูงใจพรรคที่ยังแทงกั๊กว่า ฉันเป็นนายกฯแล้วนะ มาอยู่กับฉันไหม ในขณะที่การเป็นนายกฯคนนอก ต้องขออนุญาตจาก 2 สภา อำนาจต่อรองก็จะไปอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ถ้าจะต้องเอาพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะต้องแบ่งกระทรวงเกรดเอให้ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯไปแล้วในบัญชี การต่อรองจะง่ายกว่าหรือไม่”
บิ๊กตู่ มีแต้มต่อ 4 ล้านเสียง
เขาประเมินคะแนนส่วนตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ว่า มีความนิยมถึง 4 ล้านเสียง “บวกลบจากคะแนนประชามติ โดยเอาคะแนนเลือกตั้ง 54 กับประชามติ 59 มาเทียบกัน จังหวัดที่ พท.ชนะเลือกตั้ง70-80 เปอร์เซ็นต์ ผลประชามติจะลงอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ปลาย ๆ ถ้าเคยชนะเลือกตั้ง 60-70 เปอร์เซ็นต์ ประชามติจะลดลงอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าชนะ 50 ปลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ ชนะตอนประชามติจะลดลงเหลือไม่ถึงครึ่ง”
“แปลว่ากระแส พท.ตอนประชามติ จะหายไปราว ๆ 20-30 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นกระแสนิยมส่วนตัวของคน ถ้าคะแนนส่วนบุคคลที่หายไปแล้วย้ายไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนส่วนตัวประมาณ 4 ล้านคะแนน สมมติว่า พปชร.ได้คะแนน 8 ล้านคะแนน อาจเป็นคะแนนส่วนตัวประมาณ 4 ล้านคะแนน แต่ขึ้นอยู่กับจะกล้าเสี่ยงหรือไม่”
ปชป.เป็นพรรคอันดับ 3
แต่ พปชร.ต้องทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าจะได้ 100-120 ที่นั่ง แล้วประเมินพรรค พท.ไม่เกิน 150 เสียง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าให้ รปช.ของคุณสุเทพไปดึงมา 50-60 เสียง อาจจะได้เสียงต่ำกว่า 100 เสียงก็ได้ เผลอ ๆ พปชร.มาที่ 2
“หากกระแสเลือกตั้งคือการโหวตระหว่างเอา กับไม่เอาทหาร โดยที่มีแกน พปชร. ภท. พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ชาติพัฒนา (ชพน.) และพรรคขนาดกลางอื่น ๆ สู้กับ พท. กับ อนค. อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมเป็นนายกฯในบัญชี แล้วดร็อป ปชป.ไปอันดับ 3 ก็จะเหลือ พท. กับ พปชร.สู้กัน”
หรือถ้า พล.อ.ประยุทธ์รอโหวตนายกฯคนนอก อาจจะต้องสร้างพรรคพันธมิตรกัน คล้ายพรรค BN ในมาเลเซีย เป็นแนวร่วมแห่งชาติ วางยุทธศาสตร์ส่งผู้สมัครลงร่วมกัน สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ รวมก้อนใหญ่สุดอาจจะได้ 180 เสียง ก็จะเอาตัวเลขนี้ไปเทียบกับ พท. ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ นี่ไงพรรคแนวร่วมมี 180 พท.อาจจะ 200 สูสีกัน ถ้าโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็จะไม่น่าเกลียด”
“แต่ตอนสู้ศึกเลือกตั้ง ปชป.ต้องไปโดดของเขาคนเดียว แต่พอเปิดสภาปุ๊บเพื่อเปิดช่องเลือกนายกฯคนนอก ปชป.ก็จะต้องมาช่วยเพื่อเปิดให้ พล.อ.ประยุทธ์มา แต่ถ้าไม่มีแพ็กขนาดแนวร่วมแห่งชาติ พรรค ปชป.อาจจะไม่มา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากเปลืองตัวในตอนแรกก็ต้องใช้วิธีนี้”
ooo
'ณัฐวุฒิ' ไม่หวั่นพลังดูด ขอนั่งดูสบายๆ กลุ่มสามมิตรคัดกรองตัวจริงให้https://t.co/rCNDKKZnZq— Thairath_Politic (@Thairath_Pol) July 18, 2018