“คดีของณัฏฐธิดากลายเป็นตัวอย่างสว่างจ้าของการเอาเปรียบและความอธรรมในระบบยุติธรรมไทยภายใต้การครองอำนาจของคณะทหาร”
เป็นประโยคสรุปของสุนัย ผาสุก
นักวิจัยอาวุโสประจำภาคพื้นเอเซียขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์
ต่อคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ไทย ที่ศาลทหารพิจารณาข้อกล่าวหาต่อ ‘แหวน’
หรือณัฏฐธิดา มีวังปลา พยาบาลอาสาสมัคร
เธอเป็นพยานปากสำคัญผู้เห็นเหตุการณ์ทหารฆ่าประชาชนในวัดปทุมวนาราม
ซึ่งเพื่อนอาสาสมัครของเธอ ๖ คนเสียชีวิตจากกระสุนสไน้เปอร์ของทหาร
ในการสลายชุมนุมราชประสงค์ เมื่อพฤษภาคม ๒๕๕๓
“ตราบใดที่ณัฏฐธิดายังถูกคุมขังอยู่
โอกาสที่เหยื่ออธรรมในการปราบปรามประชาชนอย่างเหี้ยมโหดที่สุดครั้งนี้จะได้รับความยุติธรรม
มีน้อยนิด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น” สุนัยปิดท้ายบทความ
“ทหารและพวกแม่ทัพนายกองจะเต็มไปด้วยความมั่นใจว่า
คราวหน้าถ้าพวกเขาทำเช่นนี้อีก ก็จะสามารถหลุดรอดข้อหาฆาตกรรมได้ไม่ยาก”
แน่นอน คณะทหารสร้างความมั่นใจว่า ‘แหวน’
จะไม่มีทางได้ให้การปรักปรำเจ้าหน้าที่ทหารในคดี ๖ ศพวัดปทุมฯ
ได้เลย เมื่อเธอโดนทั้งข้อหาปาระเบิดใส่ศาล (ซึ่งได้ประกันตัวออกมาสู้คดี
แต่ก็โดนจับกุมทันที แล้วจึงแจ้งข้อหา ม.๑๑๒) และความผิดฐานส่งต่อข้อความทางไลน์
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพรัชกาลที่ ๙
ในการนัดสืบพยานคู่ปากของโจทก์ เมื่อวันที่ ๒๐ ก.ค.
หลังจากที่แหวนถูกจำคุกมาแล้วสามปีกว่า เนื่องจากความล่าช้าในการทำคดีของศาลทหาร
ไม่ค่อยพิจารณาต่อเนื่องอย่างศาลพลเรือน อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
และพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่มักขอเลื่อนนัดบ่อยๆ
ทนายจำเลยเตรียมเงิน
๙ แสนบาทที่ได้มาจากการรณรงค์ขอบริจาคในหมู่ผู้รักความเป็นธรรมและยึดมั่นประชาธิปไตย
เพื่อยื่นประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็ถูกศาลทหารปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น”
ทำให้แหวนต้องถูกจำคุกต่อไปอีกอย่างน้อยๆ
จนกระทั่งการนัดสืบพยานโจทก์ครั้งหน้า วันที่ ๔ กันยายน
แม้นว่ากองทุนประกันตัวแหวนมีผู้บริจาคเป็นวงเงินรวมกว่า ๑ ล้าน ๕ หมื่นบาทแล้ว
วิญญัติ
ชาติมนตรี ทนายจำเลยให้รายละเอียดบางอย่างแก่สื่อ หลังศาลทหารเสร็จการพิจารณาลับเมื่อวันที่
๒๐ ว่าพยานทั้งสอง (พล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์)
ซึ่งเป็นผู้ร่วมซักถามจำเลยในอีกคดี “ได้ให้การขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเอง”
ต่อข้อหาที่ว่าแหวน
“เป็นคนที่อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์หรือเป็นกลุ่มต่อต้านสถาบัน”
ทนายนำหลักฐาน “หนังสือเชิญฉบับจริงจากมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช เมื่อปี ๒๕๕๖ เพื่อให้พยานได้เห็นว่าแหวนได้ร่วมจัดงานเป็นการแสดงความจงรักภักดี”
กลับถูกอัยการคัดค้านไม่ให้นำส่งเอกสาร
“อ้างว่าไม่เกี่ยวกับพยานปากนี้” ทำให้ทนายซักค้านว่า “ที่พยานกล่าวหาจำเลยเป็นผู้ไม่จงรักภักดีต่อต้านสถาบันนั้นเกิดจากอคติของพยานหรือไม่
ทั้งๆ ที่จำเลยปฏิเสธข้อหาและยืนยันความบริสุทธิ์มาตลอด”
ประการสำคัญในข้อสังเกตุเรื่องอคตินี้ปรากฏจากหลักฐานกล่าวโทษที่มี
“เพียงภาพถ่ายหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ระบุว่า มีข้อความการสนทนาบนแอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) ของแหวนเพียงแผ่นเดียวและเพียงข้อความเดียว”
ไม่มีหลักฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์อื่นประกอบ
ที่จะสามารถใช้เปรียบเทียบอ้างได้ว่า “มีข้อความที่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนกับข้อความในเอกสารหลักฐานแต่อย่างใด"
ยิ่งไปกว่านั้นหลักฐานภาพถ่ายหน้าจอสม้าร์ทโฟนดังกล่าวของพยาน
เป็นข้อความเมื่อวันที่ ๘ มีนา ๒๕๕๘ วันเดียวกับที่แหวนถูกควบคุมตัว
และเจ้าพนักงานได้นำเอารหัสผ่านเข้าบัญชีไลน์ของแหวนไปแล้ว
ทั้งที่หลักฐานพยานและคำให้การของฝ่ายโจทก์
‘อ่อน’
หรือ ‘flawed’ ถึงเพียงนี้ ศาลทหารก็ยังดึงดันลากคดีของแหวนต่อไป
ประดุจดังว่าเพียงต้องการคุมขังเธอต่อไปเรื่อยๆ
ที่ซึ่งทนายวิญญัติประเมินว่า ในการสืบพยานโจทก์ ๙ ปาก กับพยานจำเลย
๑๐ ปาก ด้วยมาตรฐานการทำงานอย่างเชื่องช้าของศาลทหาร คงจะต้องถูลู่ถูกังต่อไปอีกอย่างน้อย
๒ ปี
หากเวลานั้นยังไม่มีรัฐบาลพลเรือนแล้วละก็ โอกาสที่คดีของแหวนจะได้รับการพิจารณาโดย
‘speedy
trial’ ตามมาตรฐานแห่งสิทธิของการถูกดำเนินคดีในประเทศอารยะตะวันตก
จะยิ่งริบหรี่ลงไปอีก ไม่นับข้ออ้างอย่างชุ่ยๆ ต่อไปในการปฏิเสธประกันที่ว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง