วันจันทร์, กรกฎาคม 09, 2561

เผด็จการไม่ใช่วีรบุรุษ? รัฐบาลสเปนเสนอขุดและย้ายหลุมศพ ‘นายพล ฟรังโก’ ออกจากวิหารศักดิ์สิทธิ์




BRIEF: เผด็จการไม่ใช่วีรบุรุษ? รัฐบาลสเปนเสนอขุดและย้ายหลุมศพ ‘นายพล ฟรังโก’ ออกจากวิหารศักดิ์สิทธิ์
.
ชื่อของนายพล ฟรันซิสโก ฟรังโก เป็นสิ่งที่ชาวสเปนหลายคนยากจะลืมเลือน ในสมัยสงครามกลางเมือง นายพล ฟรังโก ได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏทำการโค่นล้มรัฐบาล ก่อนที่เขาจะขึ้นมาครองอำนาจ ปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการ
.
การปกครองของนายพล ฟรังโก ถูกวิจารณ์ว่าปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงและหนักหน่วง โดยเฉพาะกับแคว้นกาตาลุนญา จนกลายเป็นบาดแผลหนึ่งที่ถูกฝังไว้ในประวัติศาสตร์สเปนจนถึงวันนี้ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามหาวิธี ‘ชำระประวัติศาสตร์’ กันหลายทาง
.
หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอให้ขุดและย้ายหลุมศพของอดีตผู้นำเผด็จการ ออกจากวิหารศักดิ์สิทธิ์ ‘Valle de los Caídos’ (Valley of the Fallen) ที่ตั้งอยู่ กรุงมาดริด แม้จะเป็นแนวคิดที่ถูกผลักดันแล้วหลายครั้ง แต่รอบนี้นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเซส ก็ประกาศตัวว่าต้องสานต่อให้ได้
.
นายกฯ สเปน มองว่า การมีหลุมศพของฟรังโกอยู่ใน Valley of the Fallen เป็นเหมือนกับสิ่งค้ำยัน ถึงสัญลักษณ์การแบ่งแยกประเทศและไม่ได้เป็นผลดีต่อการสร้างความปรองดอง เพราะมีผู้คนมากมายต้องบาดเจ็บและล้มตายจากนโยบายการปกครองประเทศของเขา
.
เรื่องนี้มีความเห็นที่ค่อนข้างหลากหลายเหมือนกัน ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดก็บอกว่าดีแล้ว และถ้าย้ายหลุมศพนายพล ฟรังโก ให้เป็นอยู่เคียงข้างกับภรรยาในอีกสุสานหนึ่งก็น่าจะเหมาะสมกว่า
.
Nicolas Sanchez-Albornoz หนึ่งในอดีตนักโทษทางการเมืองที่เคยถูกบังคับให้สร้างวิหารนี้ บอกกับ AFP ว่า ระบบประชาธิปไตยของสเปนไม่ควรมองว่าผู้นำเผด็จการคือวีรบุรุษ และเชื่อว่า “ไม่มีประเทศในยุโรปประเทศไหนที่เผด็จการถูกสร้างการรับรู้เท่านี้เลย”
.
ด้าน Paul Preston นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มองว่า มันก็เป็นเรื่องน่าสนใจอยู่เหมือนกัน เพราะในเยอรมันหรือในอิตาลี ก็ไม่ได้มีหลุมศพหรืออนุสรณ์สถานที่เชิดชูผู้นำอำนาจนิยมอย่างฮิตเลอร์ และ มุสโสลินี ในระดับที่เข้มข้นเท่ากับที่สเปนมีให้กับนายพล ฟรังโก แต่ถึงอย่างนั้น Preston ก็คิดว่า บรรดาคนเดินทางมาเคารพหลุมศพที่นี่ พวกเขาก็คงเชื่อว่า ฟรังโก เป็นบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ
.
ในฝั่งที่คัดค้านแนวคิดนี้ เชื่อว่า การขุดย้ายหลุมฝังศพอาจเป็นสิ่งที่สุดโต่งเกินไป หนึ่งในนั้นเล่าให้กับ The New York Times ฟังว่า การมาเห็นหลุมศพของนายพล ฟรังโก ที่วิหารนี้ มันทำให้เขารู้สึกได้ภาวนาต่อผู้ที่จากไป รวมถึงความปรองดองสมานฉันท์ได้เหมือนกัน ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยกับฟรังโก ก็ไม่จำเป็นต้องมายังสถานที่แห่งนี้ก็ได้
.
ขณะที่ศาสนจักรในสเปนเองก็ส่งเสียงกังวลออกมา เพราะกลัวว่าแนวคิดนี้อาจสร้างความขัดแย้งที่มากยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้ การขุดหรือย้ายหลุมศพใดๆ ควรจะต้องได้รับคำยินยอมจากสมาชิกในครอบครัวเสียก่อน
.
แต่ละประเทศมักมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์ รวมถึงวิธีการต่างๆ ที่พยายามจัดการกับเรื่องเล่าเหล่านั้นในวิธีที่แตกต่างกันไป กรณีของหลุมศพของอดีตผู้นำเผด็จการ นับเป็นอีกตัวอย่างที่น่าติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร
.
.
อ้างอิงจาก

https://www.nytimes.com/…/07/07/wo…/europe/spain-franco.html

https://www.nytimes.com/…/carmen-polo-de-franco-widow-of-sp…

https://www.thelocal.es/…/spain-must-not-honour-dictatorshi…

http://catholicherald.co.uk/…/spanish-church-expresses-con…/

https://www.independent.co.uk/…/general-franco-grave-valley…

#brief #TheMATTER


The MATTER