วันศุกร์, มิถุนายน 01, 2561

รัฐประหารกลายเป็นระบอบที่ต้องยอมรับไปแล้ว ตามตรรกะอันวิบัติของศาลไทย


รัฐประหารกลายเป็นระบอบที่ต้องยอมรับไปแล้ว ตามตรรกะอันวิบัติของศาลไทย ในการตัดสินคดีประชาชนคนหนึ่งออกมาชูป้าย “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” ของทหารที่ยึดอำนาจการปกครองไปจากรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อ ๒๒ พ.ค. ๒๕๕๗

เมื่อ ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๑ สี่ปีหลังจากเริ่มมีการดำเนินคดีต่อ อภิชาติ พงศ์สวัสดิ์ นักกฎหมายที่ทำงานอยู่กับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ศาลอุทธรณ์แขวงปทุมวันพิพากษาให้ “การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗”

ซึ่งต่อมาประกาศฉบับนั้นกลายร่างเป็นคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ อันเลื่องลือในขณะนี้ว่า คสช.ใช้เป็นเครื่องมือกำหลาบใครก็ตามที่ไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. แล้วออกมาแสดงให้สาธารณชนรับรู้ เรียกร้องการเลือกตั้งตาม ระบอบ ประชาธิปไตยโดยไว

แม้นว่าคำสั่งฉบับที่มาแทนดังกล่าวจะกลับให้คุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาและดำเนินคดี เพราะ “จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป” จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดอาญามาตรา ๒๑๕ ที่ลงโทษจำคุก ๒ เดือน รอลงอาญา ๑ ปี เสีย เหลือแต่โทษปรับ ๖ พันบาท

แต่การใช้เหตุผลรายล้อมในคำพิพากษาคดี เต็มไปด้วยลักษณะผิดผีผิดไข้ บิดเบี้ยวครรลองแห่งนิติธรรมสากล จนทำให้คำตัดสินที่เป็นคุณแก่จำเลยไร้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งกระบวนการยุติธรรมไทย ในความรู้สึกของปุถุชนที่ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่ยอมรับ ระบอบ เผด็จการ

มาดูเนื้อหาคำพิพากษา ตามที่สำนักข่าวประชาไทรายงานไว้ ต่อกรณีจำเลยอุทธรณ์ว่าความผิดและโทษทัณฑ์ที่ได้รับจากการพิจารณาคดีใหม่ของศาลชั้นต้นเมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น

เพราะว่า “ประกาศ คสช. ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ ไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจาก คสช. ได้อำนาจการปกครองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

แต่ศาลฯ กลับพิพากษาโต้แย้งว่า “แม้การกระทำของ คสช. ในเบื้องต้นจะมีลักษณะเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น

แต่เมื่อ คสช. เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ไม่มีการต่อต้านขัดขืนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การใดๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้แต่คณะรัฐบาลรักษาการก็ ไม่อาจโต้แย้งขัดขวางการยึดอำนาจและบริหารราชการของ คสช. 

ถือเป็นการใช้กำลังยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ตามนัยของระบอบแห่งการรัฐประหารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว

นั่นหรือคือตรรกะแห่งกฎหมายในกระบวนยุติธรรมไทย การใช้กำลังอำนาจทางทหารบังคับ ไม่มีใครกล้าขัดขืน ถือเป็นความสำเร็จของ ระบอบ รัฐประหาร

แล้วถ้ามีการกระทำกลับกัน ฝ่ายประชาชนเกิดความกล้าขัดขืน ด้วยกำลังอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง เอาชนะต่อฝ่ายรัฐประหารจนสยบราบคาบหรือมลายหายไปบ้างล่ะ ศาลอุทธรณ์ปทุมวันจะถือว่า เป็นผลสำเร็จตาม ระบอบ พลเมืองต่อต้าน ‘People Resistance’ บ้างไหม

อีกประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ตนออกไปประท้วงการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร เพราะเป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๕๐) ซึ่งศาลก็ตีตกไปด้วยการสนับสนุนระบอบเผด็จการว่า

เมื่อคณะทหารยึดอำนาจสำเร็จ ล้มเลิก รธน.ฉบับนั้นไปแล้ว จำเลยเอามาอ้างไม่ได้ เท่ากับเป็นการแสดงจิตสำนึกไม่เป็นประชาธิปไตยของศาลไทย ที่ทั่วโลกเห็นว่าเป็นสรรพโทษต่อมวลมนุษยชาติ อาจมีสักแห่งสองแห่งที่ยอมรับได้ เช่นประเทศเกาหลีเหนือ

เท่านั้นไม่พอ ศาลอุทธรณ์ไทยประกาศตนเป็นเอกเทศ ไม่ยอมรับครรลองนิติธรรมสากล ดังที่จำเลยอ้างว่า “ใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

ศาลฯ กลับพิพากษาว่า “เสรีภาพในการชุมนุมตาม ICCPR นั้น ศาลเห็นว่าสถานการณ์ของประเทศไทยก่อน คสช. ทำรัฐประหารอยู่ในสภาพที่มีความไม่สงบเรียบร้อย จึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้น”


นี่ก็เป็นการใช้ตรรกะอย่างวิบัติยิ่ง ศาลอ้างว่าสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร “ไม่สงบเรียบร้อย” เมื่อมีคนออกมาใช้เสรีภาพตามกติกาสากลคัดค้านรัฐประหาร ถือเป็นความผิดเพราะไม่เข้าเงื่อนไขยกเว้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ได้สัมพันธ์ต่อเนื่องกันแต่อย่างใด

น่าจะบอกว่าศาลนี้อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร จึงต้องตัดสินให้จำเลยผิด โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายสากลที่ประเทศให้สัตยาบันไว้ และไม่แยแสหลักแห่งความยุติธรรมของกฎหมาย มากกว่าคำสั่งของผู้เป็นนายเหนือหัวเท่านั้นเอง