ร่วมคล้องแขนเป็นเพื่อนชุมชนป้อมมหากาฬ
ไม่ใช่คนกรุงเทพมหานครทุกคนจะเห็นด้วยกับกทม.
ในการไล่รื้อประวัติศาสตร์
มีคนกรุงเทพมหานครอีกมากมายที่สนับสนุนให้ชุมชน สวนสาธารณะ โบราณสถาน สามารถอยู่ร่วมกันได้ในหนทางพัฒนาเมืองอย่างสร้างรรค์
มีคนอีกมากมายที่ไม่ใช่คนกรุงเทพมหานคร ร่วมกันเรี
ยกร้องให้หยุดการรื้อถอนชุมชน เดินหน้าพหุภาคีเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ชุมชนป้อมมหากาฬไม่โดดเดี่ยว
เสาร์ 10 กันยานี้ บ่ายสามถึงหกโมงเย็น พบกันที่ชุมชนป้อมมหากาฬ
ถึงเวลาก้าวออกมา
.....
ประชาชนร่วมคล้องแขนปกป้อง 'ชุมชนป้อมมหากาฬ'
Sat, 2016-09-10 21:08
ที่มา ประชาไท
เครือข่ายชุมชน กลุ่มนักศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียงร่วมกิจกรรม 'ป้อมมหากาฬไม่โดดเดี่ยว' มีการคล้องแขนเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือปกป้องชุมชน ชาวบ้านลั่นถอยไม่ได้อีกแล้ว
ที่มาของภาพ: เพจชุมชนป้อมมหากาฬ
ที่มาภาพ Banrasdr Photo
10 ก.ย. 2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่าเวลา 15.00 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “มหากาฬไม่โดดเดี่ยว” โดยมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งเครือข่ายชุมชน กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ ม.รังสิต ผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ วันซ์อเกน โฮสเท็ล และประชาชนทั่วไป รวมถึงนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว. และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เวลา 15.00 น. มีการแสดงดนตรีโดยวงโฮปแฟมิลี่ จากนั้นนายศานนท์ หวังสร้างบุญ จากกลุ่มมหากาฬโมเดลลุกขึ้นกล่าวบริเวณลานชุมชนว่า สิ่งที่คนทั่วไปส่วนหนึ่งเข้าใจผิดคือ ชาวบ้านหวังว่าจะอยู่ที่ป้อมมหากาฬในฐานะเดิม แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะมีข้อเสนอถึง 5 ข้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขอเป็นอาสาสมัครดูแลสวนสาธารณะ พัฒนาชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากนี้ กทม.ยังจะมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าที่อีกด้วย
ต่อมาเป็นการแสดงของ ‘กลุ่มบ้านนี้ดีจัง’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเยาวชนในชุมชนฝั่งธนบุรี อาทิ ชุมชนวัดหงส์รัตนาราม ชุมชนวัดสังกัจจายน์, ชุมชนวัดดงมูลเหล็ก, ชุมชนปรกอรุณ และชุมชนวัดโพธิ์เรียง
นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ตัวแทนกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง กล่าวว่า อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะประวัติศาสตร์ควรอยู่คู่กับชุมชน คนควรอยู่กับประวัติศาสตร์ ชุมชนจะมีชีวิตได้ต้องมีผู้คน จะพรากพื้นที่ประวัติศาสตร์ไปจากคนได้อย่างไร
“หากวันนี้ชุมชนป้อมซึ่งมีประวัติศาสตร์ยังอยู่ไม่ได้ แล้วพื้นที่อื่นๆ จะอยู่ได้หรือ อยากให้ชุมชนยืนหยัดต่อไป สัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งป้อมมหากาฬ” นายสุรนาถกล่าว
น.ส.ศิริพร พรหมวงศ์ ซึ่งทำกิจกรรมในชุมชนคลองเตย กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยเป็นสลัมขนาดใหญ่ที่สุดใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ตอนนี้มีปัญหาไม่ต่างกัน คือมีการต่อรองไล่รื้อมาหลายสิบปี ถามว่าจะทำอย่างไรให้รัฐเห็นความสำคัญของคนจน จะพูดเรื่องผิดหรือถูกกฎหมายไม่ได้ ต้องพูดถึงความเป็นธรรมของคนด้วย
เวลาประมาณ 16.00 น. มีการอ่านจดหมายเปิดผนึกของคณะผู้บริหาร คณาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่องสนับสนุนให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต คนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้
นางสุนี ไชยรส ในฐานะ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า คณะผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ติดตามเรื่องราวของปัญหาและความขัดแย้ง ในฐานะนักวิชาการที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และยึดถือการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน จึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอทางออกของการแก้ปัญหา คือ ขอเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทการพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ให้มีการยอมรับหลักการที่คนและชุมชนอยู่ร่วมโบราณสถานได้ โดยทางออกที่เหมาะสมและเป็นไปได้คือ การยุติการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ขอสนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการแจกเอกสารจดหมายเปิดผนึกซึ่งมีรายนามคณาจารย์จำนวน 41 ราย ประกอบด้วยรองอธิการบดี คณบดี และอาจารย์จากคณะวิชาต่างๆ
ต่อมา มีการร้องเพลงที่แต่งขึ้นเองโดยชาวป้อมมหากาฬ ซึ่งมีชาวบ้านหลายรายร้องไห้ออกมาขณะขับร้อง เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้โดยชุมชนที่ไม่สามารถถอยได้อีกแล้ว จากนั้นมีการอ่านบทกวีโดยนายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต และการแสดงดนตรีโดยวงคีตาญชลี
เวลา 17.00 น. มีการทำกิจกรรมนำ ‘พวงมโหตร’ ซึ่งทำจากกระดาษว่าวหลากสี ซึ่งชาวบ้านและผู้ร่วมงานช่วยกันประดิษฐ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความเป็นไทยไปแขวนยังรั้วชุมชนป้อมมหากาฬฝั่งสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นรั้วสังกะสีที่เคยถูกทำลายเป็นจุดแรกในการรื้อถอนโดย กทม. เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา
บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬ ชาวบ้านจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป้อมมหากาฬ รวมถึงชาวต่างชาติร่วมนำพวงมโหตรไปแขวนในจุดที่จัดเตรียมไว้ โดยเป็นราวไม้ที่ทอดยาวตั้งแต่ริมกำแพงป้อมมหากาฬ ไปจนถึงริมคลองโอ่งอ่าง
นางสุนี ไชยรส กล่าวว่า แม้พวงมโหตรจะเป็นเพียงกระดาษบางๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ของกำแพงแห่งกำลังใจที่จะร่วมปกป้องชุมชนป้อมมหากาฬ
ต่อมาเมื่อเวลา 18.00 น. ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ เครือข่ายชุมชนและผู้สนับสนุนได้ตั้งแถวยืนเรียงกันบริเวณกำแพงป้อมมหากาฬ แล้วร่วมร้องเพลงชาติ จากนั้นมีการคล้องแขนเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ มีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความว่า “มหากาฬไม่โดดเดี่ยว” “หยุดรื้อถอนชุมชน เดินหน้าพหุภาคี” “คนกับเมืองอยู่ร่วมกัน” ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬกล่าวว่า ขอให้ภาครัฐเดินหน้าสนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี เพื่อหาทางออก จากนั้นวงคีตาญชลีซึ่งขึ้นไปตั้งวงบนกำแพงป้อมได้นำร้องเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ระหว่างนี้ชาวบ้านบางรายได้ร้องไห้ออกมา
นายธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนกล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและช่วยเหลือจนสามารถเกิดงานในวันนี้ได้ และยืนยันว่าจะขอปกป้องผืนแผ่นดินแห่งนี้ต่อไป
ooo
ถาพจาก Vorapoj Osathapiratana
เรื่องเกี่ยวข้อง...
ooo
ข้างหลังภาพ... มหากาฬไม่โดดเดี่ยว
อาสาสมัครจากหลายชุมชนหลายกลุ่มมาช่วยกัน
ขอบคุณภาพจาก
Vorapoj Osathapiratana