จะ ‘เปรมโมเดล’* หรือไม่ วิธีสง่างามของประยุทธ์ไม่ใช่เลือกตั้งผ่านพรรคการเมืองแน่ๆ
เขาบอกว่า “ไม่เข้าใจ ทำไมนักการเมืองถึงต้องใช้เงินมากมายเพื่อเข้าสู่การเมือง ขณะที่ตัวเขาเองไม่เห็นจะต้องใช้เงินสักนิดซื้อความพอใจจากประชาชน”
(แปลเนื้อความจากข่าวภาษาอังกฤษของ ‘ไทยพีบีเอส’http://englishnews.thaipbs.or.th/pm-says-must-political-re…/)
ด้วยนัยนี้หลายคนคงตีความว่า อ๋อ แน่สิ ทั่นเข้าสู่การเมืองด้วยวิธีรัฐประหารและใช้อำนาจมาตรา ๔๔ เบ็ดเสร็จ เสียจน ‘โพลส์’ ไทยๆ ให้ความพอใจ ๗๐-๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่แล้ว (ส.ค.) นี่เอง
มิพักจะมีข้อกังขาว่าโพลส์เหล่านั้นสะท้อนความรู้สึกแท้จริงของประชาชนทั้งมวลได้ไหม ตัวอย่างที่ใช้สุ่มซ้ำซากจากกลุ่มเดิมๆ หรือเปล่า การตั้งคำถามให้รายละเอียดสำหรับพิจารณาครบถ้วนแค่ไหน เป็นต้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่จะมาคุยซ้ำอีกวันนี้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความซ้ำซากของสิ่งที่ประยุทธ์พูด หลักใหญ่ใจความในถ้อยคำจ้อรายวันของเขาครั้งนี้อยู่ที่ “จะต้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นเสียก่อนจะมีการเลือกตั้ง”
อ้าว ไหนนี่ทั่นกำลังพาคนไทยเดินอยู่บนโร้ดแม็พไปสู่การเลือกตั้ง ที่ประชาชนบางส่วนซึ่งโหวตเยสให้ร่างรัฐธรรมนูญ ตีอกชกลมกันว่าใกล้มามาอีกนิด เหลือแค่ปีกว่าๆ ก็จะมาถึงแล้วมิใช่หรือ
ประยุทธ์ “เน้นว่าจำเป็นต้องมีกลไกที่ได้ผลในการคัดกรองเพื่อป้องกันหรือ ‘กำจัดวัชพืช’ เขี่ยคนไม่ดีออกไปจากการเมือง ในขณะที่ชักนำให้คนดี หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ เข้ามาสู่การเมืองกัน”
เขาอ้างว่ามีคนเก่งๆ รุ่นใหม่ที่ว่านั้นให้ความช่วยเหลือเขาอยู่ไม่น้อย แต่คนเหล่านั้นไม่ต้องการเข้ามาร่วมงานรัฐบาล เนื่องจาก ‘กลัว’ ว่าถ้าเข้ามาสู่การเมืองแล้วจะสูญเสียความเป็นส่วนตัว และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางสาธารณะเป็นอย่างมาก
นี่เองเป็นปัญหาหลักของรัฐเผด็จการที่เผชิญกับการจมปลัก หมดปัญญาหาทางแก้ความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ด้วยจิตสำนึก ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’
คนเก่งรุ่นใหม่ที่ประยุทธ์อ้าง จะมีจริงหรือเพียงคำพูดตามเพลง ไม่มีทางช่วยฟื้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ตราบเท่าที่ยังไม่ชอบการวิจารณ์ หรือไม่ยอมรับคำติ
*อย่างไรก็ดี กรณีศึกษาสำหรับ ‘เปรมโมเดล’ Thanapol Eawsakul เขียนถึงความเข้าใจผิดของคนทั่วไปไว้น่ารับฟัง ว่า
“ในความเป็นจริง.รัฐบาลพล.อ.เปรม มิได้เป็นรัฐบาลที่ประหยัด ตรงกันข้ามรัฐบาลพล.อ.เปรม ขึ้นชื่อเรื่องการใช้จายเงินซื้ออาวุธ (เพื่อซื้อใจกองทัพ้ให้มาสนับสนุน หรือติดสินบนกองทัพไม่ให้รัฐประหารนั่นเอง)”
กับ “เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งที่ว่า พลังเทคโนแครตที่สนับสนุนเปรม เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในยุคนี้เทคโนแครตมิได้มีความสามารถในการวางรากฐานเศรษฐกิจเพียงฝ่ายเดียว การเติบโตของภาคเอกชนได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ ๑๙๘๐”
ประการสำคัญ “วลี ‘ผมพอแล้ว’ ของพล.อ.เปรม ถูกนำมาผลิตซ้ำถึงการไม่ยึดติดกับอำนาจ (ไม่ยึดติดอำนาจอะไรอยู่มานานถึง ๘ ปี ๕ เดือน )
แต่การลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเปรมนั้น เพราะระบอบ ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’ มันหมดน้ำยา”
(ดูละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1227565750643595&set=a.188049254595255.50981.100001705461683&type=3&theater)
ทั้งๆ ที่ปากบอกว่า ‘ไม่’ แต่สิ่งที่ประยุทธ์พูดซ้ำซากเรื่อยมา มันบ่งว่าเขากำลังเอาอย่างเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ระบบประชาธิปไตย ๒ ใน ๓ ใบ
(คำถามพ่วงที่ คสช. สั่งให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการประชามติ บ่งชัดว่า ทหารตั้งวุฒิสภา ๒๕๐ คนเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทน ให้ร่วมออกเสียงในมติกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ ด้วยคะแนนรวมกันสองสภาจำนวน ๒ ใน ๓)
วลี “ผมไม่ต้องการอยู่ต่อ” หรือ ไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องเข้ามาแย่งอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งเพราะต้องระงับความแตกแยกที่ลิ่วล้อทหารนั่นเองเป็นผู้ก่อ ได้แล้วก็ยังใช้อำนาจกดขี่ ทำร้ายฝ่ายเห็นต่าง
และสิ่งที่ประยุทธ์พูดถึงคนรุ่นใหม่เก่งๆ ดังกล่าวข้างต้น ก็ตรงเผงกับแนวทางใช้เทคโนแครทเพื่อหนุนรัฐบาลทหาร แบบยุครัฐบาลเปรม
ยิ่งเรื่องรัฐบาลเปรม ‘ไม่ประหยัด’ ดังที่ธนาพลบอก ยิ่งกลายเป็นประยุทธ์โมเดลไปเสียเอง สองปีที่ผ่านมาประยุทธ์ใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก กับซื้อสิ่งของอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างภาพพจน์หรูหราของรัฐบาลทหาร
รถถังชุดใหม่ซื้อไปแล้ว ส่วนเรือดำน้ำไว้งมหอยก้นอ่าวไทยเพื่อให้ทัดหน้าเทียมตาเพื่อนบ้าน อีกไม่นานมาถึงเพราะลุงตู่จะอยู่ยาวแน่ เครื่องบินขับไล่นั่นอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่เครื่องบินโดยสารซูคอยของรัสเซียลำใหญ่บินเร็วมาถึงแล้ว
อีกหน่อยจะรับซื้อแอร์บัส ๓๕๐ เกินสต็อคของการบินไทยมาไว้รับส่งพวกอัตราจอมพลใหม่ของบิ๊กป้อมอีกชุด
(ไทยรัฐรายงานว่า “การเปิดอัตราครั้งนี้เป็นไปเพื่อเป็นการรองรับนายทหารระดับพลเอกที่อาจผิดหวังจากตำแหน่งหลักในกองทัพบกจากการโยกย้าย...
และจะทำให้นายทหารในตำแหน่งที่ปรึกษากองทัพบกบางนายอาจส้มหล่นเข้ามารับตำแหน่งหลักแทน http://www.thairath.co.th/content/707590)
ล้วนแต่เรื่อง ‘ได้ดี’ สำหรับผู้มีอำนาจในเครือข่ายทหาร คสช. ทั้งนั้น แต่กับสิ่งที่จะ ดูดี สำหรับหน้าตาของประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน นิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่นที่องค์กรนานาชาติเรียกหา กลับไม่มีปรากฏ
นับวันแต่จะมีเหตุย่ำแย่กว่าเดิมมาให้เห็น ดังเช่นการเสียชีวิตของผู้ต้องหาคอรัปชั่นที่ดินในห้องคุมขังของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเขา ‘นั่ง’ ทำอัตตวินิบาตกรรมด้วยถุงเท้า แล้วไปตายโรงพยาบาล
แต่ผลการชันสูตรพริกศพพบว่าสาเหตุของการตายเกิดจาก ‘ตับแตก’ เพราะถูกตีด้วยของแข็งอย่างแรง มีเลือดออกมากในช่องท้อง และขาดอากาศหายใจ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ดีเอสอออกมาแก้ตัวว่า ‘สงสัย’ อาการตับแตกและขาดอากาศหายใจ อาจเกิดจากเจ้าหน้าที่เรือนจำพยายามปั๊มหน้าอกเพื่อช่วยชีวิตไว้เมื่อไปพบ แรงไปหน่อยจนทำให้ตับแตกก็ได้
ร้ายกว่านั้น มีการจัดชาปนกิจศพผู้ตายโดยสวดวันเดียวแล้วเผาเลย แบบเดียวกับผู้เสียชีวิตในห้องขังคดีราชภักดิ์ น่าทึ่งยิ่งนัก
(ข่าวจาก http://www.komchadluek.net/news/crime/240328 และhttp://www.thairath.co.th/content/708375)
เหตุการณ์ผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างคุมขังเช่นนี้ ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยในกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่เจริญแล้ว แม้แต่การฆ่าตัวตายของนักโทษ ราชทัณฑ์ก็มีพันธะทั้งตามกฎหมายและทางสิทธิมนุษยชนจะต้องป้องกัยอย่างมีประสิทธิภาพ
การที่จะต้องมาให้เหตุผลชี้แจงภายหลัง มิพักว่าเหตุผลเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร คือความล้มเหลวของระบบนิติธรรม
ความน่าทึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในเมื่อข้อหาความผิดของผู้ตาย เป็นการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินวนอุทยานให้กับผู้มีอิทธิพลหลายแห่ง เป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมกันถึง ๑ พัน ๕๐๐ ล้านบาท
เลยกลายเป็นข้อน่าสงสัยว่าใครหนอคือพวกผู้ทรงอิทธิพลที่ได้ประโยชน์เหล่านั้น