วันพฤหัสบดี, กันยายน 15, 2559
ความเก่า เล่าใหม่... การแต่งตั้งนายพลแบบไทยๆ ขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร? เชิญอ่านทัศนะ พล.อ.อดุล อุบล
ที่มา มติชนออนไลน์
26 มีนาคม พ.ศ. 2557
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 21-27 มีนาคม 2557
ฝากไว้ให้ตราตรึง
พลเอกอดุล อุบล
การแต่งตั้งนายพล
(เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2554)
ขณะนี้เป็นวันที่ 19 ของเดือนกันยายนของปี ซึ่งควรจะเป็นเวลาที่ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลประจำครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555 ออกมาแล้ว
แต่ก็ยังครับ ผมไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด ได้แต่ติดตามข่าวจากทางสื่อ TV และหน้าหนังสือพิมพ์ที่เขาวิจารณ์กันให้แซดไปหมด ถึงความไม่ชอบธรรมในการจะพิจารณาแต่งตั้ง Key man ของแต่ละเหล่าทัพ บก.กองทัพไทย และปลัดกระทรวงกลาโหม อันเนื่องมาจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 บังคับเอาไว้
ก่อนที่จะว่ากันในรายละเอียด ผมขอถามท่านผู้อ่านทุกท่านสักคำถามหนึ่งว่า "ท่านคิดว่าท่านต้องการให้ประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่?"
ถ้าคำตอบของท่านว่าไม่ใช่ก็อย่าเสียเวลาอ่านเรื่องนี้ต่อไปเลย
ถ้าคำตอบเป็นว่า ใช่แล้ว ก็มาช่วยกันแสดงความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้หวังดีต่อประเทศชาติที่เขาจะช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป
ผมขออนุญาตชี้ประเด็นสำคัญๆ ที่ควรแก้ไขไปทีละเรื่องก็แล้วกันนะครับ
ประเด็นแรก เรื่อง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
พ.ร.บ. นี้ควรจะยกเลิกเนื่องจากกูรูทางด้านกฎหมาย และหลายส่วนออกมาให้ข้อมูลที่เป็นความจริงต่อสังคมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คมช. ที่ไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ในการประชุมเพื่อผ่านกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เข้าประชุมมีจำนวนแค่ 85 คน ซึ่งไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นโมฆะตามหลักการของการผ่านกฎหมายออกมาใช้บังคับประชาชนในชาติของรัฐสภา
ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลที่แท้จริงไม่เป็นไปตามปรัชญาของการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลในขณะนั้นมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ได้มีความโยงยึดกับอำนาจของประชาชน และยังต้องการแยกกองทัพออกจากการควบคุมของประชาชนผ่านรัฐบาลโดยเด็ดขาด
เนื่องจากมีความคิดว่านักการเมืองที่เลือกตั้งมาจากประชาชนไม่มีความรู้ความสามารถและไม่มีความดีพอที่จะควบคุมกองทัพ
ดังนั้นจะต้องให้ฝ่ายกองทัพว่ากันเองในทุกเรื่องแม้แต่นโยบายทางทหารรวมไปถึงการแต่งตั้งผู้นำกองทัพกันเองโดยทหารระดับสูงไม่กี่คนเท่านั้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดหลักการของประเทศประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ
อย่าลืมว่าประเทศชาติก็เหมือนร่างกายประเทศชาติจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ด้วยทุกองคาพยพที่ประกอบกันเป็นประเทศนี้ต้องเป็นประชาธิปไตยตามแบบของมันทุกส่วน
ถ้าร่างกายของเราสมบูรณ์หมดทุกส่วน แต่มีเฉพาะขาซ้ายหรือแขนขวาที่กำลังเน่าเฟะอยู่ เราจะสรุปเอาได้ว่าร่างกายของเรากำลังสมบูรณ์แข็งแรงและกำลังเจริญเติบโตจะได้ไหม
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลซึ่งก็รวมถึง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กำลังแต่งตั้งไม่ได้อยู่ทุกวันนี้ อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ของบุคคลและกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำทหารเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักแต่ประการใด
ทำไมผมถึงกล้าพูดออกมาอย่างนี้
ก็ท่านลองสดับตรับฟังข่าวสารดูสิครับว่า มันมีเหตุผลอะไร ความจำเป็นอะไรที่บรรดาผู้นำเหล่าทัพและ ผบ.ทหารสูงสุด จะต้องไปเสนอชื่อคนเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มันเป็นหน่วยงานของตัวเองหรือก็เปล่า แล้วยังไม่มีมารยาทกันอีกด้วย แบบนี้มันก้าวก่ายงานของคนอื่นเขาหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ผลประโยชน์ของตนและกลุ่มพวกของตนที่ต้องมองกันไปถึงอีก 1-2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย พวกเขาจะทำกันแบบนี้หรือ
การตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัวบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายทหารชั้นนายพลทุกระดับโดยใช้ปลัดกระทรวงกลาโหม,ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ เป็นหลัก ซึ่งเป็นทหารประจำการ (ข้าราชการประจำ) ทั้งสิ้น มีเพียงฝ่ายการเมืองแค่ 2 คน คือ รมว.กห. และ รมช.กห. เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงการรวมหัวกันโหวตลงคะแนนหรอกครับ เอาแค่หลักความเป็นธรรมก็ไม่ได้แล้ว
ผบ.เหล่าทัพพวกนี้ รวมถึง ผบ.ทหารสูงสุด และ ปลัด กห. ไม่ควรจะมีสิทธิ์พิจารณาตำแหน่งในระดับของตนเอง ควรจะเป็นหน้าที่และสิทธิความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาเหนือตนเท่านั้นที่จะพิจารณาตำแหน่งระดับนี้
นั่นคือฝ่ายการเมืองครับ
ที่ผมพูดอย่างนี้ ผมใช้หลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ทุกอำนาจจะต้องมาจากประชาชน หรือโยงยึดกับอำนาจของประชาชน คณะรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีนั้นมาจากฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ จึงมีอำนาจอันชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะดำเนินการปกครองประเทศให้เป็นไปตามที่ได้สัญญาประชาคมเอาไว้ รวมทั้งการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทุกหมู่เหล่าที่เป็นผู้รับนโยบายโดยตรงจากรัฐบาลมาปฏิบัติให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม
ในทางทหารนั้นประเทศที่เจริญแล้วและเป็นประชาธิปไตยเขาจะแบ่งการแต่งตั้งทหารออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่กองทัพว่ากันเอง และอีกระดับหนึ่งเป็นระดับที่ฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้แต่งตั้งเท่านั้น
เช่น ในประเทศมหาอำนาจที่สำคัญของโลกที่กองทัพของเขาสามารถอาละวาดไปได้ทั่วโลก การแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นยศพลโทขึ้นไปทุกเหล่าทัพ (ผมหมายถึงทั้งประเทศ) จะถูกเลือกและแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองเท่านั้น
ระดับพลตรีลงไป จะเป็นเรื่องของแต่ละเหล่าทัพจะพิจารณากันเอง
ที่เป็นดังนี้ เพราะนายทหารระดับพลโทขึ้นไปนั้น จะทำงานในระดับยุทธศาสตร์ หรือถ้าจะเป็นระดับยุทธการก็จะเป็น Strategic man ในระดับยุทธการ
ดังนั้น พวกนี้จะรับ directive จากฝ่ายการเมืองโดยตรงมาปฏิบัติงาน
และขณะเดียวกัน ก็จะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายการเมืองในเรื่องปัญหาด้านการทหารและความมั่นคงต่างๆ
ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความจำเป็นต้องทำงานเข้าขากันความเป็นทีมเดียวกันจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อพรรคฝ่ายตรงข้ามขึ้นมาปกครองประเทศก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำกองทัพกันขนานใหญ่ ถ้าฝ่ายที่ขึ้นมาใหม่เห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่ต้องมีความผิดหรือข้อหาการปราบปรามประชาชนเหมือนของเราหรอกครับ
และทหารของประเทศเหล่านั้น เขาก็ไม่ว่ากัน เพราะทุกคนเข้าใจว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นใหญ่ที่สุดในชาติ
ตามที่กล่าวมาแล้ว การที่มีผู้ออกมาวิจารณ์ว่า "รมว.กลาโหมขณะนี้ไม่มีน้ำยา แม้แต่จะโยกย้ายจ่าสักคนหนึ่งก็คงจะทำไม่ได้" ผมว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วละครับ และถ้าถึงแม้ว่าจะมีน้ำอิ๊วสามารถย้ายจ่าได้ก็ไม่สมควรทำหรอกครับ เพราะมันเป็นหน้าที่ของระดับอื่นๆ เขาทำ
ระดับ รมว.กลาโหม มันต้องย้าย ผบ.เหล่าทัพ และระดับพลโทขึ้นไปนั่นแหละครับ มันจึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะขอกล่าวถึงก็คือ นายกรัฐมนตรีจะต้องอยู่ในสายการบังคับบัญชาของกองทัพ เนื่องจากเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้รับผิดชอบต่อความเจริญก้าวหน้า ความล้มเหลวและความมั่นคงของประเทศนี้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพ จะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ สิทธิ และความรับผิดชอบโดยตรงในการแต่งตั้งนายทหารโดยเฉพาะนายทหารชั้นนายพลตามที่ผมกล่าวไว้แล้ว
ไม่ใช่แค่รมว.กลาโหมหรือบรรดา ผบ.เหล่าทัพว่ากันเองอย่างที่เป็นอยู่ตาม พ.ร.บ. ของ คมช.
ผมอยากจะถามว่า ถ้ากองทัพของประเทศนี้รบแพ้ในสงครามที่ประกาศโดยประเทศไทย ฝ่ายใดจะต้องรับผิดชอบกันบ้าง
ผมว่าไม่พ้นหัวหน้ารัฐบาลที่จะต้องขึ้นศาลทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นคนแรก
แล้วแบบนี้จะให้กลุ่มทหารเขาแต่งตั้งคนกันเองเพื่อผลประโยชน์ของพวกกันเองอยู่อีกหรือ
ทำไมไม่เป็นอำนาจของฝ่ายการเมืองซึ่งต้องตัดสินเลือกและแต่งตั้งบุคคลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติที่พวกท่านรับผิดชอบอยู่เป็นหลักล่ะครับ
ประเทศประชาธิปไตยนั้นการควบคุมและการใช้กำลังทหาร ซึ่งเป็นลูกหลานของประชาชนในชาตินั้น เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน หัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารประเทศจะต้องเป็น ผบ.สูงสุดของกองทัพ คำสั่งและนโยบายทางทหารของผู้นำรัฐบาลเป็นคำสั่งอันชอบธรรมที่ทหารจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดดั่งบัญชาจากสวรรค์เพราะมันเป็นคำสั่งและนโยบายที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการตามนั้นผ่านรัฐบาลที่โยงยึดอำนาจอยู่กับประชาชน
นี่คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ที่เรียกว่าAbsoluteCivilian Control
ดังนั้น ไอ้ที่คิดการใหญ่อะไรกันอยู่น่ะ เลิกเสียเถิดครับ เพื่อเห็นแก่ความสงบของประเทศนี้ หันไปดูภายนอกกองทัพเสียบ้างว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าจะดึงดันกับประชาชนเขาพูดกันถึง Libya Model ให้ทั่วไป ไม่เข้าใจสัญญาณกันบ้างหรือครับว่าประชาชนเจ้าของประเทศเขาต้องการอะไร
รัฐบาลก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากท่านไม่สามารถควบคุมและใช้กำลังทหารตามแบบชาติประชาธิปไตยได้ก็ไม่ควรยืดอกเป็นรัฐบาลอยู่ให้เป็นที่ผิดหวังของประชาชนที่เลือกพวกท่านเข้ามาอย่างท่วมท้นเพราะท่านไม่มีขีดความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาเล็กๆเช่นนี้ได้ แล้วท่านจะไปจัดการกับปัญหาใหญ่ๆ ระหว่างประเทศในเรื่องความมั่นคงได้อย่างไร
กฎหมายเขียนโดยคนก็ต้องแก้ได้ด้วยคนเช่นเดียวกันครับ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็คงต้องถูกแก้ไขให้ถูกต้องครับ ถ้าพวกท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง และนำความเป็นธรรมมาสู่ประชาชนและประเทศชาติ
ผมก็คิดว่าประชาชนเขาก็คงพร้อมที่จะป้องกันรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามาเช่นเดียวกันครับ